“มานิจ” เผยข้อดี รธน. ใหม่ ตั้ง 11 องค์กรเพิ่มสิทธิพลเมือง ตรวจสอบ จนท. รัฐ นักการเมือง ครอบคลุมทั้งด้านประสิทธิภาพ จริยธรรม การใช้งบ ตลอดจนสิทธิเสนอชื่อปลัดกระทรวง ชงสภาถอดถอนผู้บริหารระดับสูง
วันนี้ (28 มี.ค.) นายมานิจ สุขสมจิตร์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ. สื่อสารกับสังคม กล่าวถึงกรอบแนวคิดในร่างรัฐธรรมนูญ ที่เน้นย้ำถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ว่า จะมีองค์กรที่เกิดขึ้นในใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่เพิ่มสิทธิพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหารบ้านเมือง ทั้งสิ้น 11 องค์กร ได้แก่
1. องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุไว้ในมาตรา 60 เพื่อให้มีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานราชการ, ตรวจสอบ, กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
2. สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จำนวน 77 จังหวัด อยู่ในมาตรา 71 มาจากตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัด
3. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในมาตรา 74 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับจริยธรรม คุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น หากพบการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงจะส่งเรื่องให้รัฐสภาและประชาชนลงคะแนนถอดถอน
4. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ระบุไว้ในมาตรา 77 ทำหน้าที่ประเมินผลการวางตน การปฏิบัติงานของพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองแล้วแจ้งต่อสาธารณะเพื่อให้ช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน
5. คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม ระบุไว้ในมาตรา 207 มีหน้าที่พิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าปลัดกระทรวง หรือย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่งก่อนนำเสนอชื่อให้นายกฯเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงแต่งตั้ง
6. สมัชชาพลเมือง ระบุในมาตรา 215 เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองมีการรวมตัวเป็นสมัชชา เพื่อทำหน้าที่ร่วมตัดสินใจและดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่นและให้ความเห็นต่อการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น
7. ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ระบุในมาตรา 244 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่ใช้จ่ายเงินแผ่นดินจนก่อความเสียหายแก่รัฐ
8. คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ระบุไว้ในมาตรา 268 มีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส., สภาท้องถิ่น, ผู้บริหารท้องถิ่น และออกเสียงประชามติ ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์
9. ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ระบุไว้ในมาตรา 275 มีหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน
10. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ระบุในมาตรา 279 โดยมีสมาชิกไม่เกิน 120 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป
และ 11. คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ระบุไว้ในมาตรา 297 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในส่วนต่างๆ