xs
xsm
sm
md
lg

‘3 บัตร 4 เลือก’ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ 4 วินาที

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

รัฐธรรมนูญไม่ใช่ทั้งทุกคำตอบและคำตอบทั้งหมดของอนาคตสังคมไทย เพราะคำตอบข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่รัฏฐาธิปัตย์และสถานการณ์โดยรวมของประเทศ แต่ในฐานะที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็น 1 ใน 36 คนผู้มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็พยายามเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถที่จะทำให้การส่งมอบประเทศไทยจากคนรุ่นเราไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือเป็นประเทศไทยที่ปฏิรูปแล้วและอยู่ภายใต้การเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่ “ประชาธิปไตย 4 วินาที!”

และไม่ใช่แค่ “ประชาธิปไตย 2 วินาทีสถาปนาเผด็จการ 4 ปี!!”


ประโยคเปรียบเปรยคมกริบทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงเวลาเริ่มต้นวิกฤตของบ้านเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือปี 2548 ประโยคแรกเป็นของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ประโยคหลังเป็นของท่านอาจารย์อัมมาร สยามวาลา

นั่นคือหนึ่งในสมุฏฐานของวิกฤตที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย

หนึ่งในภารกิจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือพยายามรักษาเยียวยาหนึ่งในสมุฏฐานของวิกฤตนี้ คือพยายามทำให้ประชาชนได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงอำนาจหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนไปใช้อำนาจอื่นแทนทุกประการแล้ว ซึ่งแทนที่จะเป็นการใช้อำนาจทุกประการไปตามเจตนารมณ์และผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยรวมกลับเป็นการใช้อำนาจหลายประการตามเจตนารมณ์และผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนที่ลงทุนทำธุรกิจการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญจึงพยายามออกแบบโครงสร้างให้ประชาชนมีเวทีใช้อำนาจโดยตรงหรือเกือบโดยตรงเพิ่มขึ้นหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาพลเมืองและสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในระดับพื้นที่ทั่วประเทศหรือสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติในระดับชาติ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองทั้งผู้แทนที่เคยได้รับมอบให้เป็นตัวแทนจากประชาชนมาโดยตลอด และข้าราชการประจำบางส่วนจะต้องเห็นต่าง

แต่ไม่ว่าจะมีสมัชชาหรือมีสภาอะไรก็ตามที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงหรือเกือบโดยตรงของประชาชน อย่างไรเสียระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โจทย์ใหญ่ข้อสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงไม่ใช่ผู้แทนของพรรคการเมืองของกลุ่มทุนในระบบรัฐสภาที่ไปผ่านพิธีชุบตัวแปลงร่างมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น

● การกำหนดให้ใช้ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่เรียกว่าระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP : Mixed Member Proportional เป็นหนึ่งในมาตรการที่พยายามตอบโจทย์ใหญ่ข้อสำคัญนี้

● การกำหนดให้มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มวิชาชีพและกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานเฉพาะด้านสามารถมีตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้แทนราษฎร ไม่จำกัดแต่เฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น

● การกำหนดให้ประชาชนสามารถจัดลำดับผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองได้เองเป็นอีกมาตรการหนึ่ง มาตรการนี้ในทางทฤษฎีแล้วถือว่าทำให้ประชาชนมีอำนาจเหนือผู้บริหารพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง

● การกำหนดให้ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องชนะผู้กาช่องไม่ประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนหรือ Vote No เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

● การกำหนดให้ผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจไม่ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัดเสมอไปทุกประการก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ในมาตรการนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภากลับไปใช้สำนวนของรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีมาตรการบังคับสังกัดพรรคแบบเข้มในปี 2521 และเพิ่มเรื่องให้ปฏิบัติตามจริยธรรมเข้าไปใหม่ด้วย

● การกำหนดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ผู้กระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ได้โดยตรงในการเลือกตั้งทั่วไป ก็เป็นอีกมาตรการที่สำคัญยิ่ง

● ฯลฯ

ในชั้นนี้ค่อยๆ เล่าสู่กันฟังกันไปแบบสบายๆ ไม่ต้องลงรายละเอียดว่าอยู่ในมาตราไหนอย่างไรจะดีกว่านะ เพราะยังมีเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญจะปรับแก้ได้อีก จนกว่าจะถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 โน่นแหละถึงจะนิ่งสนิทปรับแก้ไม่ได้อีกแล้ว

เอาเป็นว่าในการเลือกตั้งทั่วไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เวลาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าคูหาไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนท่านจะได้รับบัตรรวมทั้งสิ้น 3 ใบ

แต่จะได้ใช้สิทธิเลือกรวม 4 ประการ

“3 บัตร 4 เลือก”

เลือกที่ 1 ในบัตรใบที่ 1 – เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตเลือกตั้ง

เลือกที่ 2 ในบัตรใบที่ 2 – เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง

เลือกที่ 3 ในบัตรใบที่ 2 – เลือก 1 รายชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ท่านใช้สิทธิเลือกตามเลือกที่ 2 เพื่อนำไปนับคะแนนจัดลำดับผู้มีรายชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นๆ ที่จะได้รับสิทธิเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองตามจำนวนที่ได้รับคะแนนนิยม

เลือกที่ 4 ในบัตรใบที่ 3 – เลือกถอดถอนหรือตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติชี้ว่ากระทำผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงในระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น ถ้ามี

แต่เฉพาะอย่างน้อยที่สุดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ท่านจะยังได้รับบัตรเพียง 2 ใบและได้รับสิทธิเลือก 3 ประการเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญเพิ่งบังคับใช้ กลไกในการดำเนินการชี้ว่าผู้ใดกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงยังไม่เริ่มต้น ส่วนในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อๆ ไปก็ขึ้นอยู่ว่าก่อนหน้านั้นมีผู้ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ถ้ามี ก็จะมีบัตรใบที่ 3 และประชาชนจะได้สิทธิเลือกประการที่ 4 ถ้าไม่มี ก็จะไม่มีบัตรใบที่ 3 และประชาชนไม่ต้องใช้สิทธิเลือกประการที่ 4

เมื่อรวม “3 บัตร 4 เลือก” กับกลไกใหม่ๆ อย่างสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง และบทบัญญัติในหมวดการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมที่จะบังคับใช้อยู่เพียง 5 ปีโดยมีกลไกเฉพาะแยกต่างหากจากระบบบริหารราชการแผ่นดินตามปกติแล้ว คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการที่พยายามเปลี่ยนแปลง “ประชาธิปไตย 4 วินาที” หรือ “ประชาธิปไตย 2 วินาทีสถาปนาเผด็จการ 4 ปี” ให้เป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่กับประชาชนมากที่สุด

จะพยายามคัดประเด็นสำคัญๆ มา “เล่ารัฐธรรมนูญ” ในแบบของผมมาให้อ่านกันในโอกาสต่อไป

แต่อาจจะมีห่างหายไปบ้างก็เพราะติดภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัดตามเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น