xs
xsm
sm
md
lg

ติงเวทีรับฟังความเห็น สปช. ยังจำกัดสิทธิสะท้อนปัญหาภาคประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟังความเห็นของ สปช.ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.อุดรฯถูกตั้งข้อสังเกตุว่าจำกัดสิทธิชาวบ้านร่วมสะท้อนปัญหา
อุดรธานี - นักวิชาการ-ภาคประชาคมเมืองอุดร ติงเวทีรับฟังความเห็นของ สปช.ไม่เปิดกว้างให้ทุกกลุ่มร่วมสะท้อนปัญหา หรือแสดงความเห็นต่อการปฏิรูปประเทศ แม้แต่ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชนหรือกลุ่มเยาวชนก็ไม่มีโอกาสเข้าร่วม เชื่อมีธงปฏิรูปไว้ล่วงหน้าแล้ว

หลังจากคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประจำจังหวัดอุดรธานี ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปประเทศ ณ ห้องเวสสุวัณ ชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนกลุ่มองค์กรต่างๆ ในจังหวัด เช่น กลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ภาคประชาสังคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าและนักธุรกิจในจังหวัด ร่วมแสดงความคิดเห็นประเด็นต่อการปฏิรูปประเทศนั้น

มีข้อสังเกตจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังมีกติกาหรือข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มองค์กรในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านที่เรียกร้องด้านสิทธิชุมชนได้เข้าร่วมในเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็น

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า บรรยากาศในเวทีเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประชุม ต่อการปฏิรูปประเทศและบทบาทการทำงานของสปช. หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากแต่ละองค์กรได้แสดงความเห็น โดยผู้ที่จะแสดงความเห็นได้จะต้องลงชื่อเอาไว้ก่อนถึงจะมีสิทธิพูด

“มันเป็นเหมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มที่สามารถเข้าถึงกลไกของรัฐและข้าราชการ เช่น นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ ได้มาพูดเสนอตัวต่อสังคม แต่ชาวบ้านอีกกลุ่มที่มีปัญหาความเดือดร้อน เรียกร้องด้านสิทธิในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง กลับไม่มีโอกาสได้พูด”

นายสันติภาพกล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าเนื้อหาและข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังความเห็น จะสอดคล้องกับสภาพบริบทของสังคมอุดรธานีในอนาคตหรือไม่ เพราะผู้จัดคงต้องการองค์ประกอบที่มาจากทุกภาคส่วนให้ครบ มากกว่าเน้นเรื่องเนื้อหาที่ได้ และตนคิดว่าเวทีปฏิรูปก็น่าจะมีธงเอาไว้แล้ว

“ผมมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้เด็กๆ มาแสดงความคิดเห็นว่า อีก 20 ปีข้างหน้าเขาอยากเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร แล้วให้ผู้ใหญ่มารับฟังและทำตามฝันของเขา จะมีประโยชน์มากกว่าที่ให้ผู้ใหญ่มาพูดว่าสังคมควรเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ในอนาคตอีก 20 ปีก็ไม่รู้ว่าคนที่พูดจะยังอยู่ไหม”

ด้านนางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่คัดค้านโครงการเหมืองโปแตซมากว่า 10 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากเพิ่งจะได้รับหนังสือเชิญเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 ก.พ. แต่ในหนังสือแจ้งว่าให้มีการมอบหมายตัวแทน 3 คนเข้าร่วมเวที พร้อมส่งแบบตอบรับภายในวันที่ 23 ก.พ. นอกจากนี้ให้กลุ่มจัดประชุมภายในองค์กรเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถาม 4 ข้อ ตามแบบฟอร์มที่ส่งมา และจัดทำสำเนาอีก 10 ชุดไปด้วย จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

“ชาวบ้านถูกปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด ไม่ว่าตั้งแต่เวทีปรองดองหรือเวทีปฏิรูปที่จัดไป แต่ขณะที่ฝ่ายบริษัทเหมืองแร่โปแตชได้เข้าไปพูดทุกเวที หรือแม้แต่ที่ผ่านมาการเดินทางจะเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็มีเจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาสกัดทุกครั้ง ซึ่งพวกเราเป็นเพียงกลุ่มชาวบ้าน อยากขอพื้นที่ในการเรียกร้องปัญหาและความเดือดร้อนเพื่อให้รัฐแก้ไข ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองใด”
คาดว่ารูปแบบหรือแนวทางการปฏิรูปประเทศถูกกำหนดตั้งธงไว้ล่วงหน้าแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น