xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ นัดซ้อมบท 8 โมง ทำใจคงถูกซักมาก ยันตั้ง 60 สปช.นั่งสภาขับเคลื่อนเพื่อความต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ นัดคณะ 8 โมงเช้า ทบทวนหน้าที่ก่อนแจง สปช.ซักฟอก รับทำใจไว้แล้วคงถูกซักมาก โดยเฉพาะภาค 4 ปฏิรูปและปรองดอง ยันพร้อมปรับแก้หากมีน้ำหนัก เผยมีสมาชิกทั้งหนุนและค้านดึง 60 คนนั่งสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แต่ต้องมีเพื่อความต่อเนื่องปฏิรูป ส่วนภาค 4 ก็จำเป็นต้องมีในรัฐธรรมนูญ ตามแผนฉบับชั่วคราว

วันนี้ (19 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ว่า ก่อนการประชุมเวลา 08.00 น. กรรมาธิการยกร่างฯ จะประชุมเพื่อทบทวนและเตรียมการขั้นสุดท้ายซึ่งได้มีการแบ่งหน้าที่ให้กรรมาธิการฯแต่ละท่านชี้แจงแล้ว โดยผู้ที่ชี้แจงก็จะเป็นกรรมาธิการฯ ที่รับผิดชอบในแต่ละภาคแต่ละหมวดที่ได้ร่วมพิจารณามาตั้งแต่ชั้นอนุกรรมาธิการ

“ทำใจไว้แล้วว่าคงถูกซักมากทุกประเด็นเพราะสมาชิกได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีความสนใจและอ่านมากคงมีข้อสงสัยบ้างโดยเฉพาะภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง แม้ว่าทางสื่อและสังคมภายนอกจะพูดเรื่องนี้น้อยแต่ สปช.ให้ความสนใจมาก โดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กรรมาธิการฯ ก็พร้อมรับฟังและปรับแก้หากเห็นว่าความเห็นมีน้ำหนักโดยรับฟังด้วยเหตุและผล” นายคำนูณกล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สปช.บางส่วนไม่สบายใจที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับที่มาสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้มาจาก สปช.60 คน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะถูกครหาได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น นายคำนูณยอมรับว่า มีทั้ง สปช.ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในทุกประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญก็มีแรงกดดันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากรรมาธิการฯ รับฟังความเห็นที่แตกต่างและข้อเสนอในการปรับแก้เพื่อไปตัดสินใจในช่วง 60 วันสุดท้าย คือ 25 พ.ค. - 23 ก.ค. 58

นายคำนูณชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องกำหนดที่มาของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้มาจาก สปช.60 คน เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างและยั่งยืนจนประเทศปฏิรูปได้ คือ ต้องมีกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปต่อไป ส่วนสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ยินดีรับฟังและมาดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะถ้ากลับไปสู่ปกติทางการเมืองอาจไม่สามารถปฏิรูปได้ เนื่องจากนโยบายการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงจะไม่นำประเด็นที่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงไปดำเนินการโดยตรง แต่ถ้าเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหาก็ยินดีที่จะรับฟัง

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณยืนยันว่า ภาค 4 มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเนื่องจากตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (7) กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้าง และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว และในมาตรา 35 (10) ยังระบุด้วยว่าให้มีกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่กรรมาธิการฯดำเนินการก็เป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น