xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ทำใจถูกสปช.ถล่ม ยันรธน.57บังคับมีสภาขับเคลื่อนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ว่า ก่อนการประชุม เวลา 8.00 น. กรรมาธิการยกร่างฯ จะประชุมเพื่อทบทวน และเตรียมการขั้นสุดท้าย ซึ่งได้มีการแบ่งหน้าที่ให้กรรมาธิการฯ แต่ละท่านชี้แจงแล้ว โดยผู้ที่ชี้แจงก็จะเป็นกรรมาธิการฯ ที่รับผิดชอบในแต่ละภาคแต่ละหมวด ที่ได้ร่วมพิจารณามาตั้งแต่ชั้นอนุกรรมาธิการ
" เราทำใจไว้แล้วว่า คงถูกซักมากทุกประเด็น เพราะสมาชิกได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีความสนใจ และอ่านมาก คงมีข้อสงสัยบ้างโดยเฉพาะภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง แม้ว่าทางสื่อและสังคมภายนอกจะพูดเรื่องนี้น้อย แต่ สปช.ให้ความสนใจมาก โดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กรรมาธิการฯ ก็พร้อมรับฟัง และปรับแก้หากเห็นว่าความเห็นมีน้ำหนักโดยรับฟังด้วยเหตุและผล" นายคำนูณ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สปช. บางส่วนไม่สบายใจที่ร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติเกี่ยวกับที่มาสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยกำหนดให้มาจาก สปช. 60 คน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และจะถูกครหาได้ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจนั้น นายคำนูณ ยอมรับว่า มีทั้งสปช. ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในทุกประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีแรงกดดันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากรรมาธิการฯ รับฟังความเห็นที่แตกต่างและข้อเสนอในการปรับแก้เพื่อไปตัดสินใจในช่วง 60 วันสุดท้าย คือช่วง 25 พ.ค.-23 ก.ค.58
นายคำนูณ ยังชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องกำหนดที่มาของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้มาจาก สปช. 60 คน เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างและยั่งยืนจนประเทศปฏิรูปได้ คือ ต้องมีกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปต่อไป ส่วนสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ยินดีรับฟัง และนำมาดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะถ้ากลับไปสู่ปกติทางการเมืองอาจไม่สามารถปฏิรูปได้ เนื่องจากนโยบายการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง จะไม่นำประเด็นที่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงไปดำเนินการโดยตรง แต่ถ้าเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหาก็ยินดีที่จะรับฟัง
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ภาค 4 มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรธน.ชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35(7) กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว และในมาตรา35(10)ยังระบุด้วยว่า ให้มีกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่กรรมาธิการฯดำเนินการก็เป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้

**สปช.ลงชื่อขอชำแหละร่างรธน.แล้ว 47 คน

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึง การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันนี้ ว่า การอภิปรายจะเริ่มจาก กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้ชี้แจงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การอภิปรายจะเรียงตามหมวด ตามด้วยภาค 1-4 เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ไม่สับสน ส่วนจำนวนผู้ลงชื่ออภิปรายในแต่ละประเด็นนั้น ขณะนี้ยังสรุปยอดที่ชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากคาดว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 20 เม.ย. ก่อนการประชุมในเวลา 09.00 น. จะมีสมาชิกมาลงชื่อเพิ่มอีก ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเลขาฯ ที่จะรวบรวมรายชื่อ ก่อนเข้าประชุมเพื่อให้ประธาน สปช. ทำการจับสลากลำดับผู้อภิปรายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยอด สมาชิกสปช. ที่แจ้งความประสงค์ จะอภิปราย ณ เวลา 15.00 น.ของวันที่ 19 เม.ย. มีทั้งสิ้น 47 คน ส่วนการที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะเสนอเพิ่มเวลาในการอภิปรายนั้น เห็นว่าเป็นความต้องการบางส่วนของคณะกรรมาธิการฯ ในสปช. แต่แนวทางที่ วิปสปช.ได้กำหนดไว้ทุกอย่างถือว่าลงตัว แต่อาจจะมีความยืดหยุ่นของเวลา เช่น จากเดิมอาจเลิกประชุมเวลา 21.00 น. ก็จะเป็น 23.00 -24.00 น.เป็นต้น

**หวัง สปช. ถกร่างรธน.อย่างรอบคอบ

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ในวันนี้ ว่า ตนได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าสปช.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ และคงทราบดีว่า ประชาชนต้องการอะไร อยากเห็นบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ หรืออยากเห็นบ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก
ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนปรารถนามาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกส.ว. หรือการเลือกตัวแทนของเขา ซึ่งตนเชื่อว่าสปช.เข้าใจในความรู้สึกของประชาชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกยกร่างขึ้นมานั้น จะร่างมาอย่างไรก็ได้ แต่สปช.ต้องรับฟัง ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดตายตัว จึงสามารถปรับแก้ไขได้ตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าสปช.มีเหตุและผลในความต้องการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยระบุว่า ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนสะท้อนความคิดเห็น เพราะตนเป็นนักการเมือง ถ้ามีการวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะกลายเป็นประเด็น หรือถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อตัวเอง หรือพวกพ้อง ดังนั้น เชื่อว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาที่ดี ต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้า อยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทย และพยายามเขียนรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด ส่วนจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนทั้งประเทศกำลังจับตาอยู่

** ต้องประชามติให้รธน.เป็นที่ยอมรับ

นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยิ่งใกล้เวลาอภิปรายแปรญัตติรัฐธรรมนูญร่างแรก โดย สปช. ข้อเสนอแนะหลายๆ ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ที่หลายๆ ฝ่าย เป็นห่วงว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างจะถอยหลังเข้าคลอง ก็ถูกนำเสนอ เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช.ได้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ในระหว่างการแปรญัตติ ซึ่งคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช. ควรอย่างยิ่งที่จะรับฟัง เพราะทุกคนที่เสนอความคิดเห็น ล้วนมีความปรารถนาดี อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับที่เพิ่งจะโดนยึด และฉีกทิ้งไป ทุกคนคือ คนไทย 60 กว่าล้านคน ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงย่อมมีสิทธิแสดง เสนอ ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทั้งนี้ คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช. ต้องรับฟังนำไปพิจารณาแก้ไข อย่างเป็นเหตุเป็นผล การปฏิเสธการรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมืองโดยอ้างว่า มีแค่ 5 พันกว่าคน เป็นการปฏิเสธผู้ที่เคยเป็นตัวแทนประชาชนตัวจริงของคนไทย 60 กว่าล้านคน ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่า นักการเมืองยังสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่แท้จริงจำนวนมากได้ การพูดจาดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นที่ได้การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างนี้ โดยกมธ.ยกร่างฯ บางท่านไม่ควรจะมีให้เห็นในยุคนี้ ที่อ้างว่ารับฟังทุกความคิดเห็น ทุกคนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ หรือไม่สามารถปฏิบัติได้ในโลกความเป็นจริง กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับมโน ที่สุดก็จะโดนฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่ไม่รู้จบ ต้องสูญเสียทั้งเวลา งบประมาณ และเสียโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย ทุกคนอยากเห็นการทำประชามติกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉบับเก่าที่โดนยึด และฉีกทิ้ง ก็ผ่านการทำประชามติ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการทำประชามติ ก็ควรรับฟังข้อเสนอแนะทุกฝ่าย แล้วนำไปพิจารณา ปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสามารถปฏิบัติได้จริง ไม่สร้างปัญหาหรือเป็นเหตุให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีกในอนาคต

** ซัดสปช.ผลาญงบฯ ทำงานไม่จริงจัง

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมูญต่อสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันนี้นั้น ควรจะใช้เวทีนี้หาข้อยุติในเรื่องใหญ่ๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังหาข้อยุติ หรือตกลงร่วมกันไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา สปช. บางส่วนก็รับไม่ได้กับบางประเด็นที่ กมธ.ตัดออกไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงยืดเยื้อเรื้อรัง จนบางครั้งเหมือนเป็นการตั้งแง่กัน ทำให้สังคมสับสน และขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการปฏิรูปในครั้งนี้
และที่น่าเป็นห่วงคือ สปช.บางคน ก็ยึดมั่นถือมั่นกับความเห็นส่วนตัวในประเด็นเฉพาะ ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง มากจนเกินไป จนมองข้าม หรือไม่ให้ความสำคัญกับภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับบรรดาพรรคการเมือง ที่มักมองหรือเห็นเฉพาะประเด็นที่ตัวเองมีส่วนได้เสียหรือเป็นเรื่องที่กระทบกับอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ส่วนที่เป็นการเมืองของภาคพลเมือง กลับละเลยไม่สนใจ
ปัญหาของการมองร่างรัฐธรรมนูญแบบแยกย่อย เป็นส่วนๆ ไม่มององค์รวม หรือดูกันทั้งฉบับ ทำให้เกิดการบิดเบือนกันได้ง่าย และอาจทำให้แรงต้านของการปฏิรูปรอบนี้ขยายผลจนในที่สุดการปฏิรูปจะเสียของและไม่เหลืออะไรกันเลย
ที่น่าห่วงที่สุด และเป็นปัญหาในตัวมันเองคือ อีโก้ หรือ อัตตา ของบรรดา สปช. ที่จนป่านนี้ยังไม่ลดละ และหาเอกภาพร่วมกันยังไม่ได้อาจทำให้ สปช.สะดุดขาตัวเอง เปลืองงบประมาณเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ความเห็นต่างจะเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยเงื่อนไขสถานการณ์พิเศษของบ้านเมือง สปช. ควรใช้เวลาช่วงที่เหลือที่มีไม่ถึง 5 เดือน เร่งสร้างเอกภาพทางยุทธศาตร์ และสร้างแรงส่งของพลวัตรการปฏิรูปที่มีพลังและความหวัง ความฝันมากกว่านี้
โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชน ทั้งแนวราบ แนวดิ่ง ต้องเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะความหวังและความฝันของประชาชนนี่หละจะเป็นแรงส่งของการปฎิรูปที่เป็นจริง นอกจากนี้บรรดา สปช. ที่ไม่เคยแสดงบทบาทใดๆ หรือมาประชุมไปวันๆ นั้น ก็ควรลงแรงหรือทำงานกันมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ติดตามการทำงานของ สปช. ทำงานกันจริงๆ จังๆ ไม่ถึง 60 คน จากทั้งหมด 250 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น