กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.ถกเตรียมพร้อมซักรัฐธรรมนูญพรุ่งนี้ “สมบัติ” ชี้คล้ายปี 40 แต่เอาหลักแยกอำนาจระบบประธานาธิบดีมาใช้ กังวลรัฐบาลผสมเต็มไปด้วยการฮั้ว นายกฯ ไร้เอกภาพ แถมทำกลุ่มการเมืองเล็กมีบทบาทมาก บอกดูแล้วไม่มีชาติไหนประสบความสำเร็จ แถมยังเขียนถอดถอนยาก สรุปแล้วใครพูดบ้าง จ่อขอ “เทียนฉาย” เพิ่มเวลา 30 นาที เผยที่ประชุมห่วงซื้อเสียงหนัก เตือนให้นายกฯ เสนอ กม.เองได้ 1 ฉบับอันตราย แย้มถกคณะอื่นจับมือขอยื่นแก้ไขเพิ่ม
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการประชุมที่อาคารรัฐสภา 2 โดยมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยนายสมบัติกล่าวก่อนประชุมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยภาพรวมโครงสร้างจะคล้ายรัฐธรรมนูญปี 40 แต่เอาหลักแบ่งแยกอำนาจระบบประธานาธิบดีมาใช้ คือ กำหนดให้ ส.ส.เป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ไม่ได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนที่เรายังวิตกกังวลคือระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งจนเกินไป หากดูประสบการณ์ของประเทศเยอรมนี ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมได้ผลดีมาก เพราะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่เข้มแข็ง เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองของเขามีมาตรฐานสูง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่สำหรับประเทศไทยมีประสบการณ์เรื่องรัฐบาลผสมมาแล้วซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย เต็มไปด้วยการฮั้วกัน ทำให้คนเป็นนายกฯ ไม่มีเอกภาพในการบริหารประเทศ เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าพรรคเล็กเรียกผลประโยชน์ และขู่ถอนตัวจากรัฐบาล เท่านี้ประเทศก็ยุ่งแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยเห็นมาแล้ว หากจะนำกลับมาใช้อีกตนมองว่าไม่ใช่การปฏิรูป แต่ถอยหลังมากกว่า
นายสมบัติกล่าวอีกว่า และที่หนักมากไปอีกคือ การอนุญาตให้มีกลุ่มการเมือง ตรงนี้จะทำให้กลุ่มการเมืองขนาดเล็กเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลายคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองก่อนปี 40 จะรู้ว่าเป็นอย่างไร ตนตรวจสอบดูแล้วไม่มีประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดที่ประสบความสำเร็จโดยการขับเคลื่อนของรัฐบาลผสม ส่วนการออกกฎหมายที่กำหนดให้ ส.ส.เสนอกฎหมายการเงินได้ ต้องให้นายกฯ รับรองนั้นจะทำให้บทบาทของ ส.ส.มีน้อยลง ควรให้ ส.ส.มีอำนาจในการออกกฎหมายได้ทุกประเภทมากกว่า รวมทั้งกฎหมายการเงิน
“อีกประเด็นที่เห็นว่าใช้ไม่ได้ผล คือ เรื่องการถอดถอนตามมาตรา 254 ที่กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5 คือ 60% จะทำให้การถอดถอนทำได้ยากกว่าเดิม ขนาดที่ผ่านมาให้เฉพาะ ส.ว.มีหน้าที่ถอดถอน ยังไม่เคยทำสำเร็จ เมื่อนำ ส.ส.มารวมด้วยคงสำเร็จยาก” นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติกล่าวว่า ในการอภิปรายของ สปช.นั้น เชื่อว่าจะเป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุผล หาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญรับฟังข้อเสนอแล้วกลับไปพิจารณาก็ถือเป็นเรื่องดี ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารับฟังเสียงต่างๆ พอสมควร เห็นได้จากหลายประเด็นที่เราแสดงความคิดเห็นไป ก็มีการปรับเปลี่ยนบ้าง เช่นเรื่องที่มา ส.ว. ส่วนร่างแรกจะถูกคว่ำโดย สปช.หรือไม่นั้น ยังไม่มีความเห็น ต้องฟังบรรยากาศการอภิปรายก่อน
จากนั้นนายสมบัติได้เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมาธิการว่า ได้มีการทำรายชื่อแล้วว่า กมธ. แต่ละคนจะอภิปรายประเด็นอะไรบ้าง กรรมาธิการชุดปฏิรูปการเมืองนี้เป็นหนึ่งใน 18 คณะที่ถูกจับตามองว่ามีประเด็นการอภิปรายที่ค่อนข้างร้อนแรง ต่อภาคนักการเมืองที่ดี และระบบการเมืองที่ดี คาดว่าเป็นภาคที่มี สปช.สนใจอภิปรายมากที่สุดในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.ที่จะถึงนี้มีประเด็นที่อยากจะไปพูดกับประธาน สปช.ว่าในส่วนของประธาน กมธ.ปฏิรูป 18 คณะน่าจะมีความยืดหยุ่นได้อภิปรายได้มากกว่า 30 นาทีที่กำหนดหากเห็นว่าพูดแล้วมีประเด็น
นายสมบัติกล่าวว่า ในที่ประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมืองพูดกันถึงหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เช่น ในเรื่องของรัฐบาลแบบผสม โดยการเลือกตั้งแบบ MMP อาจเกิดพรรคพันธมิตรเวลาเลือกตั้ง เช่น พรรคที่มีฐานเสียง ส.ส.แบบเขตในภาคในภาคหนึ่งมากจนไม่เหลือโควตาให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มได้ก็อาจทำให้ผู้มีชื่อเสียงไม่ลงสมัครในบัญชีรายชื่อพรรคนั้น แต่ไปจับมือกับพรรคพันธมิตรที่มีขนาดเล็กกว่าขอลงในบัญชีรายชื่อพรรคนั้นแทน ยกตัวอย่างประเด็นการให้ประชาชนมีสิทธิเลือกลำดับ ส.ส.ในบัญชีรายชื่อว่า อาจก่อให้เกิดการซื้อเสียงโดยผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีทุน อาจฝากให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตไปซื้อเสียงเพื่อให้ตนเองได้ลำดับที่ดีจะได้มีโอกาสรับเลือกสูง
ส่วนกรณีที่ให้รัฐบาลกำหนดกฎหมายที่สำคัญสมัยประชุมได้ไม่เกิน 1 ฉบับ เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่นกฎหมายนั้นก็ผ่าน หรือหากยื่นแล้วเสียงไม่ไว้วางใจแพ้ก็ให้กฎหมายนั้นผ่านโดยไม่มีการแก้ไขนั้น นายสมบัติกล่าวว่า มองว่าอาจเป็นเรื่องอันตรายหากกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่มีผลร้ายแรง เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งจะมีโอกาสผ่านได้โดยไม่มีการแก้ไข และหากให้รัฐบาลหนึ่งๆ สามารถผ่านกฎหมายแบบนี้ 8 ฉบับในหนึ่งวาระหรือ 4 ปีก็เป็นเรื่องน่ากลัว หากมีการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะค่อนข้างเผด็จการ จะทำให้ฝ่ายบริหารค่อนข้างมีอำนาจเหนือสภา เป็นต้น หรือกรณีนายกฯ ที่ระบุในร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่า หาก ส.ส.ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่สามารถได้เสียงสนับสนุนได้เกินครึ่งหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันเปิดสมัยประชุม ให้ประธานสภานำรายชื่อของผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้นั้น จะหมายความว่ากรณีบุคคลภายนอกจะใช้เงื่อนไขเดียวกันหรือไม่ กล่าวคือหากได้คะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 2 ใน 3 ใน 15 วัน ประธานสภาจะสามารถนำรายชื่อที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ หากทำได้ก็เท่ากับเปิดช่องให้คนภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. สามารถเป็นนายกฯ ได้ตั้งแต่ต้น
นายสมบัติยังกล่าวถึงการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของที่ประชุม สปช.เสร็จสิ้นแล้วซึ่งมีเงื่อนไขต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 25 คนนั้นว่า เนื่องจากกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีไม่พอ จึงเตรียมการว่าจะไปคุยกับคณะกรรมาธิการชุดอื่น โดยการรวบประเด็นที่เห็นตรงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาคหรือหมวดเดียวกัน เช่น หนึ่งญัตติอาจมีเรื่องทั้งการเมืองกับกฎหมาย ก็มีกรรมาธิการจากสองคณะมาร่วมลงชื่อกันได้
ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.ปฏิรูปการเมืองกล่าวว่า ที่ประชุมได้วางคนให้มีประสบการณ์ตรงกับเนื้อหา วางประเด็นการอภิปราย และวางเป้าหมายว่าเมื่ออภิปรายแล้วควรต้องมีเหตุผลโน้มน้าวให้กรรมาธิการยกร่างฯ นำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำข้อเสนอทั้งหมดที่ กมธ.ยกร่างฯ รับฟังแล้วยังไม่ปรับแก้ไปร่างเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของประธานแต่ละคณะที่กำหนดให้เวลาอภิปรายภาพรวมคนละ 30 นาทีนั้น น่าจะไม่เพียงพอต่อการอภิปรายภาพรวมของแต่ละประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและการเข้าสู้อำนาจรัฐซึ่งมีอยู่ประมาณ 141 มาตราในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนเวลาที่เหลือหากมีสมาชิกพูดไม่ครบตามเวลาควรจะเอามาแชร์ให้ผู้อื่นอภิปราย ซึ่งคณะจะยื่นขอเสนอให้กับวิป สปช.ในช่วงเช้า 06.00 น.ก่อนเริ่มประชุม 09.00 น.
“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับระบบ MMP ที่ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจมาก ส่วนตัวเห็นว่าเสียงของรัฐบาลน่าจะมีเพียง 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภา หรือราว 60% ก็เพียงพอแล้ว เพราะหากปล่อยให้ดึงพรรคเล็กพรรคน้อยไปร่วมรัฐบาลทั้งหมดมันจะเกิดเผด็จการรัฐสภากลับมาอีก และยังทำให้เกิดจากจ่ายเงินซื้อตัวกันมากมาย จึงเสนอให้ประชาชนมีสิทธิเลือกพรรคที่ร่วมรัฐบาลกันได้ไม่เกิน 3 พรรคเท่านั้น” พล.อ.เอกชัยกล่าว
สำหรับกรณีการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นญัตติของแก้ไขภายหลังการอภิปรายแล้วนั้น พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ได้มีการหารือแล้วว่าจะรวบรวมรายชื่อ แต่เนื่องจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีกรรมาธิการที่ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมากถึง 4 คน ทำให้เหลือผู้ที่จะยื่นรายชื่อได้เพียง 23 คน จึงต้องไปหา สปช.จากคณะอื่นมาร่วมอีกอย่างน้อย 2 คนจึงจะยื่นญัตติได้