xs
xsm
sm
md
lg

ซัดร่างรธน.ทำการเมืองถอยหลัง มาตรการ”ถอดถอน”สำเร็จยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19 เม.ย.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการประชุม ที่อาคารรัฐสภา 2 โดยมี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยนายสมบัติ กล่าวก่อนประชุมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยภาพรวมโครงสร้างจะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่เอาหลักแบ่งแยกอำนาจระบบประธานาธิบดีมาใช้ คือ กำหนดให้ส.ส.เป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ไม่ได้ในเวลาเดียวกัน
ส่วนที่เรายังวิตกกังวล คือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งจนเกินไป หากดูประสบการณ์ของประเทศเยอรมนี ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมได้ผลดีมาก เพราะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่เข้มแข็ง เพราะนักการเมือง และพรรคการเมืองของเขามีมาตรฐานสูง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่สำหรับประเทศไทยมีประสบการณ์เรื่องรัฐบาลผสมมาแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย เต็มไปด้วยการฮั้วกัน ทำให้คนเป็นนายกฯ ไม่มีเอกภาพในการบริหารประเทศ เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าพรรคเล็กเรียกผลประโยชน์ และขู่ถอนตัว จากรัฐบาล เท่านี้ประเทศก็ยุ่งแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยเห็นมาแล้ว หากจะนำกลับมาใช้อีกตนมองว่าไม่ใช่การปฏิรูป แต่ถอยหลังมากกว่า
นายสมบัติ กล่าวอีกว่าและที่หนักมากไปอีกคือ การอนุญาตให้มีกลุ่มการเมือง ซึ่งจะทำให้กลุ่มการเมืองขนาดเล็ก เข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลายคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองก่อนปี 40 จะรู้ว่าเป็นอย่างไร ตนตรวจสอบดูแล้วไม่มีประเทศกำลังพัฒนาประเทศใด ที่ประสบความสำเร็จ โดยการขับเคลื่อนของรัฐบาลผสม
ส่วนการออกกฎหมาย ที่กำหนดให้ ส.ส.เสนอกฎหมายการเงินได้ ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองนั้น จะทำให้บทบาทของส.ส.มีน้อยลง ควรให้ ส.ส.มีอำนาจในการออกกฎหมายได้ทุกประเภทมากกว่า รวมทั้งกฎหมายการเงินด้วย
"อีกประเด็นที่เห็นว่าใช้ไม่ได้ผล คือ เรื่องการถอดถอนตาม มาตรา 254 ที่กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5 คือ 60 % จะทำให้การถอดถอนทำได้ยากกว่าเดิม ขนาดที่ผ่านมาให้เฉพาะ ส.ว. มีหน้าที่ถอดถอน ยังไม่เคยทำสำเร็จ เมื่อนำส.ส.มารวมด้วย คงสำเร็จยาก" นายสมบัติ กล่าว และว่า ในการอภิปรายของ สปช.นั้น เชื่อว่าจะเป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุผล หากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังข้อเสนอ แล้วกลับไปพิจารณา ก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รับฟังเสียงต่างๆ พอสมควร เห็นได้จากหลายประเด็นที่เราแสดงความคิดเห็นไป ก็มีการปรับเปลี่ยนบ้าง เช่นเรื่องที่มา ส.ว. ส่วนร่างแรกจะถูกคว่ำโดย สปช.หรือไม่นั้น ยังไม่มีความเห็น ต้องฟังบรรยากาศการอภิปรายก่อน" นายสมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายสมบัติ ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ที่ประชุมได้มีการทำรายชื่อแล้วว่า กมธ. แต่ละคน จะอภิปรายประเด็นอะไรบ้าง กรรมาธิการชุดปฏิรูปการเมืองนี้เป็นหนึ่งใน 18 คณะ ที่ถูกจับตามองว่ามีประเด็นการอภิปรายที่ค่อนข้างร้อนแรง ต่อภาคนักการเมืองที่ดี และระบบการเมืองที่ดี ซึ่งคาดว่าเป็นภาคที่มี สปช.สนใจอภิปรายมากที่สุด ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 20 – 26 เม.ย. นี้ มีประเด็นที่อยากจะไปพูดกับประธาน สปช. ว่า ในส่วนของประธาน กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ น่าจะมีความยืดหยุ่น ได้อภิปรายได้มากกว่า 30 นาที ตามที่กำหนดไว้ หาก เห็นว่าพูดแล้วมีประเด็น
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมือง พูดกันถึงหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เช่น ในเรื่องของรัฐบาลแบบผสม โดยการเลือกตั้งแบบ MMP อาจเกิดพรรคพันธมิตรเวลาเลือกตั้ง เช่น พรรคที่มีฐานเสียง ส.ส. แบบเขตในภาคในภาคหนึ่งมากจนไม่เหลือโควตาให้มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มได้ ก็อาจทำให้ผู้มีชื่อเสียงไม่ลงสมัครในบัญชีรายชื่อพรรคนั้น แต่ไปจับมือกับพรรคพันธมิตร ที่มีขนาดเล็กกว่า ขอลงในบัญชีรายชื่อพรรคนั้นแทน ยกตัวอย่าง ประเด็นการให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกลำดับส.ส. ในบัญชีรายชื่อว่า อาจก่อให้เกิดการซื้อเสียงโดยผู้สมัครส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่ มีทุน อาจฝากให้ผู้สมัครส.ส. เขตไปซื้อเสียงเพื่อให้ตนเองได้ลำดับที่ดี จะได้มีโอกาสรับเลือกสูง
ส่วนกรณีที่ให้รัฐบาลกำหนดกฎหมายที่สำคัญสมัยประชุมได้ไม่เกิน 1 ฉบับ เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่นกฎหมายนั้นก็ผ่าน หรือหากยื่นแล้วเสียงไม่ไว้วางใจแพ้ ก็ให้กฎหมายนั้นผ่านโดยไม่มีการแก้ไขนั้น มองว่า อาจเป็นเรื่องอันตรายหากกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่มีผลร้ายแรง เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะมีโอกาสผ่านได้โดยไม่มีการแก้ไข และหากให้รัฐบาลหนึ่งๆ สามารถผ่านกฎหมายแบบนี้ 8 ฉบับ ในหนึ่งวาระหรือ 4 ปี ก็เป็นเรื่องน่ากลัว หากมีการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะค่อนข้างเผด็จการ จะทำให้ฝ่ายบริหารค่อนข้างมีอำนาจเหนือสภา เป็นต้น หรือกรณีนายกฯ ที่ระบุในร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่า หากส.ส. ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่สามารถได้เสียงสนับสนุนได้เกินครึ่งหนึ่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุม ก็ให้ประธานสภานำรายชื่อของผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งขึ้นทูลเกล้าได้นั้น จะหมายความว่า กรณีบุคคลภายนอก จะใช้เงื่อนไขเดียวกันหรือไม่ กล่าวคือ หากได้คะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 2 ใน 3 ใน 15 วัน ประธานสภา จะสามารถนำรายชื่อที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง ทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ หากทำได้ ก็เท่ากับเปิดช่องให้คนภายนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส. สามารถเป็นนายกฯได้ตั้งแต่ต้น
นายสมบัติ ยังกล่าวถึง การรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของที่ประชุม สปช. เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 25 คนนั้น ว่า เนื่องจากกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีไม่พอ จึงเตรียมการว่าจะไปคุยกับคณะกรรมาธิการชุดอื่น โดยการรวบประเด็นที่เห็นตรงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาค หรือหมวดเดียวกัน เช่น หนึ่งญัตติอาจมีเรื่องทั้งการเมืองกับกฎหมาย ก็มีกรรมาธิการจากสองคณะมาร่วมลงชื่อกันได้
ด้านนายวันชัย สอนสิริ โฆษก กมธ. ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมได้วางคนให้มีประสบการณ์ตรงกับเนื้อหา วางประเด็นการอภิปราย และวางเป้าหมายว่าเมื่ออภิปรายแล้วควรต้องมีเหตุผลโน้มน้าวให้กรรมาธิการยกร่างฯ นำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำข้อเสนอทั้งหมดที่ กมธ. ยกร่างฯ รับฟังแล้วยังไม่ปรับแก้ไปร่างเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของประธานแต่ละคณะที่กำหนดให้เวลาอภิปรายภาพรวมคนละ 30 นาทีนั้น น่าจะไม่เพียงพอต่อการอภิปรายภาพรวมของแต่ละประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและการเข้าสู้อำนาจรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 141 มาตรา ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนเวลาที่เหลือหากมีสมาชิกพูดไม่ครบตามเวลาควรจะเอามาแชร์ให้ผู้อื่นอภิปราย ซึ่งคณะจะยื่นขอเสนอให้กับ วิป สปช. ในช่วงเช้า 6.00 น. ก่อนเริ่มประชุม 9.00 น.
" ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับระบบ MMP ที่ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจมาก ส่วนตัวเห็นว่า เสียงของรัฐบาลน่าจะมีเพียง 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ในสภา หรือราว 60 % ก็เพียงพอแล้ว เพราะหากปล่อยให้ดึงพรรคเล็กพรรคน้อยไปร่วมรัฐบาลทั้งหมด มันจะเกิดเผด็จการรัฐสภากลับมาอีก และยังทำให้เกิดจากจ่ายเงินซื้อตัวกันมากมาย จึงเสนอให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกพรรคที่ร่วมรัฐบาลกันได้ไม่เกิน 3 พรรคเท่านั้น" พล.อ.เอกชัย กล่าว
สำหรับกรณีการรวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นญัตติของแก้ไขภายหลังการอภิปรายแล้วนั้น พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ได้มีการหารือแล้วว่าจะรวบรวมรายชื่อ แต่เนื่องจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง มีกรรมาธิการที่ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมากถึง 4 คน ทำให้เหลือผู้ที่จะยื่นรายชื่อได้เพียง 23 คน จึงต้องไปหาสปช. จากคณะอื่นมาร่วมอีก อย่างน้อย 2 คน จึงจะยื่นญัตติได้

**"โคทม" ขวางตัดสิทธิ์นักการเมืองโกงชั่วชีวิต

ด้านสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพ และความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสัมมนากำหนดการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการนำเสนอสรุปผลการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยนายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล แถลงสรุปผลการสัมมนาฯว่า ที่ประชุมเห็นว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบระบบเอ็มเอ็มพี คือ การเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เสนอควรให้เป็นแบบปิด และบัญชีรายชื่อตามร่างรัฐธรรมนูญ มี 2 แบบ คือ มีบัญชีรายชื่อพรรค และ กลุ่มการเมือง ที่ประชุมเสนอว่า ไม่ควรมีบัญชีรายชื่อกลุ่มการเมือง ควรมีแต่ของพรรคการเมืองเพื่อส่งเสริมระบบพรรคการเมือง สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีความเห็นว่าควรมีผู้สมัครแบบอิสระ โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
ส่วน มาตรา 111 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการทุจริตของข้าราชการ และนักการเมือง ที่เคยถูกตัดสิน เพราะมีการกระทำในอดีตอันมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีการตัดสิทธิตลอดชีวิต ที่ประชุมเห็นว่า เมื่อการตัดสินจบลงแล้ว ถ้าตัดสิทธิตลอดชีวิต อาจจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองได้
สำหรับการได้มาของ ส.ว. เรามีข้อเสนอ 2 ทางคือ 1. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 จำนวน 200 คน คือ การเลือกตั้งแบ่งเขตเป็นจังหวัด สัดส่วนเป็นไปตามประชากรของแต่ละพื้นที่ 2. คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 50 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด 77 คน และอีกกลุ่มเป็น ส.ว.จากการสรรหา อีก 73 คน รวมเป็น 150 คน โดยแยกเป็นการสรรหาจาก นักวิชาการ โดยตำแหน่ง และผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ และการสรรหาโดยตรง
ส่วนองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ควรลดลงไปบ้าง หรือควรมีวาระการดำรงตำแหน่งแค่ 6 ปี ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าการให้คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ให้สามารถเสนอตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลที่ให้ความจริงอันเป็นประโยชน์และได้แสดงความสำนึกแล้วนั้น ไม่อยากให้ตั้งเงื่อนไขมากจนเกินไป ที่เขียนไว้เคร่งเกินไป และที่ประชุมเห็นด้วย กับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น