xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ติงอย่าวิตกร่าง รธน.ใหม่ให้เวอร์เกิน ยันไม่ปรับนายกฯคนนอก พร้อมแก้ใช้เสียง 2 ใน 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. ยันพร้อมรับฟังความเห็นประชาชน แนะอย่าวิตกให้เวอร์เกิน แจงประชาชนจัดลำดับ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ เพื่อให้นักการเมืองลงพื้นที่เอาใจพลเมือง ส่วนนายกฯคนนอก ไม่สามารถจำกัด เพราะสถานการณ์วิกฤตได้เพราะอาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต หนุนข้อเสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 แย้มพร้อมปรับให้ผู้สมัคร ส.ว. แต่ละกลุ่มสรรหากันเอง


ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ) สื่อสารกับสังคม ในคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดสัมมนา เรื่อง “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเชิญสื่อมวลชนทุกประเภททั้งสื่อส่วนกลางและภูมิภาค ประมาณ 100 คนเข้าร่วม

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายเรื่องภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนหนึ่งว่าในการจัดสัมมนาสื่อมวลชนนั้น เพื่อให้สามารถสื่อสารไปยังประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนสะท้อนกลับความเห็นต่อสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนั้น ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้สำรวจความเห็นประชาชน พบว่า ประชาชนร้อยละ 70 นั้น ตรงกับหลักการที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนอยู่ สำหรับบางประเด็นที่ไม่ตรง ตนจะรับไปปรับและนำไปสอบถามอีกครั้ง ทั้งนี้ ตนรับรองว่าความเห็นที่ประชาชนเสนอมานั้นจะได้รับการพิจารณา 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมอย่างแน่นอน

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นการวางกติกาบ้านเมือง เพราะการเมืองถือเป็นกระบวนการตัดสินใจแทนบ้านเมืองและพลเมือง ซึ่งมีผลผูกพันกับพลเมืองทุกคน นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นกติกาเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สำหรับภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต และแก้ปัญหาในอดีต หรือเรียกว่า เหลียวหลังแลหน้า โดยปัญหาในอดีตที่ต้องแก้ไข คือ ความขัดแย้ง ความไม่ปรองดองของสังคม นักการเมืองที่ไม่ใสสะอาด และระบบการเมืองไม่สมดุล ขณะที่ประเด็นของอนาคต คือ พัฒนา และเพิ่มศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ ในภาคของการมองอนาคตนั้น ได้ระบุอยู่ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม และการสร้างราษฎรไทยให้เป็นพลเมืองและพลเมืองนั้นต้องเป็นใหญ่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมากที่สุด ผ่านกลไกสมัชชาพลเมือง ในการมีส่วนร่วมบริหารกับท้องถิ่น, สภาตรวจสอบภาคประชาชน ใน 77 จังหวัด รวมถึงให้สิทธิประชาชนลงมติถอดถอนนักการเมืองที่ถูกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบ และไต่สวนว่ามีความผิดจริยธรรมร้ายแรง และให้สิทธิประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ได้ จากเดิมที่เป็นสิทธิของแกนนำพรรคการเมือง

“ประเด็นจัดลำดับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ นักการเมืองไม่ชอบ เพราะจะทำงานเหนื่อย นอกจากจะเอาใจหัวหน้าพรรคแล้ว ยังต้องลงพื้นที่เพื่อไปทำงานและเอาใจประชาชนในพื้นที่ อย่าง คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่ามันยุ่งยากและต้องแก้ไขนั้น ผมขอร้องให้คุณพงศ์เทพที่นับถือกันมาก็ให้นับถือกันต่อไป เพราะการให้มีระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่ยุ่งยาก และทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ที่แท้จริง”

นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนในร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการระบุถึงการควบคุมการโฆษณาของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นการปกป้องสื่อให้ปลอดจากกลุ่มอิทธิพล และกลุ่มทุนอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังได้หารือถึงสื่อมวลชนในตลาดหลักทรัพย์ ตนได้พูดกับ ส.ส. ของประเทศอังกฤษ ว่า หากจะห้ามมิให้บุคคลมีหุ้นในสื่อมวลชนทุกประเทศเกินร้อยละ 5 ส.ส.อังกฤษ บอกว่าจะนำไปคิด เพราะเจอปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง แต่ก็ต้องทำ ขณะที่การปฏิรูปสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ของการรับรู้ข่าวสารของประชาชนให้เป็นที่เชื่อถือของสังคม โดยการผลักดันมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงส่งเสริมสวัสดิภาพของสื่อมวลชน

ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่มีให้มีการแก้ไขบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ที่มานายกฯ คนนอก ที่ต้องจำกัดเฉพาะสถานการณ์วิกฤต ยืนยันว่า ไม่สามารถบัญญัติคำว่าสถานการณ์วิกฤตไว้ได้ เพราะอาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้ ขณะที่มีผู้เสนอให้จำกัดวาระของนายกฯ คนนอกเพียง 1 ปีนั้น คงทำไม่ได้

ทั้งนี้ ตนมองว่า ควรกำหนดให้ใช้เสียงลงมติ 2 ใน 3 เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นอย่าให้ความระแวงจนเกิน หรือโอเวอร์เกินไป ขณะที่ข้อเสนอให้ปรับที่มา ส.ว. เบื้องต้นจะปรับให้คนที่ต้องการเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. สมัครตามกลุ่มที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้ในกลุ่มต่างๆ นั้น สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม









กำลังโหลดความคิดเห็น