ประชุม กมธ.ยกร่างฯ “เลิศรัตน์” รายงานเดินทางดูงานเยอรมนี ได้รับข้อมูลเลือกตั้งแบบผสม การปกครองเน้น คน สถาบันการเมืองเข้มแข็ง รับคุยตุลาการศาล รธน.เยอรมนี “บวรศักดิ์” เสริมตุลาการแนะนำคะแนนรวมภาค จัดสรรให้บัญชีรายชื่อมาถูกทาง ยันดูงานได้ประโยชน์ ลั่น เลือกตั้งไม่เกินกลางปี 59 รับ สวน ส.ส.กลุ่มมิตรภาพฯ เสื้อตัวเดียวใส่ไม่ได้ทั้งโลก ก่อนอ่อนลงหลังแฉพฤติกรรม ส.ส.ไทย
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวรายงานถึงผลการเดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 15-20 มี.ค. ว่าทางคณะได้เข้าพบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย โดยได้รับข้อมูลและข้อคิดที่ประโยชน์ที่จะใช้ในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ประเทศเยอรมันได้ใช้มากนานกว่า 66 ปี มีพัฒนาการจัดการเลือกตั้งให้ยึดโยงกับระบบนี้มาโดยตลอด
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐบาลประเทศเยอรมันคล้ายกับประเทศไทยหลายเรื่อง เช่น การใช้ระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.จากระบบเขต และ ระบบบัญชีรายชื่อที่เลือกจาก 16 มลรัฐ ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.นั้นจะพบว่าจะมีจำนวน ส.ส.ที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ หรือโอเวอร์แฮง ประมาณ 5-38 คน ทั้งนี้ในกระบวนการคิดคะแนนมีผู้ใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือศาลรัฐธรรมนูญให้ข้อสังเกตว่าวิธีคิดคะแนนของประเทศเยอรมนีมีความซับซ้อน และรายละเอียดถูกกำหนดไว้ในกฎหมายลูก และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญเยอรมันเขียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้เพียง 3 บรรทัด คือ “เน้นให้การเลือกตั้งโปร่งใส อิสระ เป็นธรรม และเป็นการลับ” ดังนั้นหากประเทศไทยจะนำระบบเลือกตั้งและการคำนวณคะแนนมาใช้บุคคลที่ร่วมพูดคุยระบุว่า ขึ้นอยู่กับการกำหนดว่าจะมีการชดเชยหรือไม่
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินให้พรรคการเมือง ที่ประเทศเยอรมันจะใช้วิธีพิจาณาข้อมูลประกอบ เช่น จำนวนคนที่มาลงคะแนนเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกพรรคที่กำหนดให้ต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองด้วย เป็นต้น จึงทำให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเยอรมันมีความเข้มแข็ง โดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญได้ให้การส่งเสริมด้วย สำหรับการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา แม้มี 34 พรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งแต่มีเพียง 5 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.เข้าสู่สภา เนื่องจากประเทศเยอรมนีใช้จุดตัด ร้อยละ 5 เป็นเกณฑ์ในการให้ได้ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลสำคัญคือเพื่อพัฒนาระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง มีการรวมตัว นอกจากนั้นแล้วนักการเมืองได้ยึดประเพณีและมารยาททางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ก็ตาม ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านสามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้นการปกครองในประเทศเยอรมัน จุดเน้นสำคัญ คน และสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ยังได้พูดคุยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วม 2 ชั่วโมง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี มีทั้งสิ้น 16 คน โดยเลือกมาจาก สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 8 คน และสภาสูง จำนวน 8 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปีและเป็นได้ครั้งเดียว ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ สำหรับการตัดสินคดีนั้นประชาชนให้การยอมรับ แม้จะถูกวิจารณ์จากพรรคการเมืองในบางครั้ง เพราะมีความเห็นที่ต่างกัน
นายบวรศักดิ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดสรรคะแนนให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้สอบถามกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าหากนำคะแนนรวมจากภาค แล้วจัดสรรให้บัญชีรายชื่อจะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าน่าจะเหมาะสมและมาถูกทางแล้ว ขณะที่การจัดการเลือกตั้งนั้นมีข้าราชการประจำเป็นผู้กำกับดูแล ส่วนการพิมพ์บัตร และจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้การร้องคัดค้านการเลือกตั้งประเทศเยอรมนีจะให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าถูกหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยแล้ว ผู้คัดค้านไม่พอใจสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนการลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ประเทศเยอรมนีเคยใช้แต่มีปัญหาเพราะไม่มีมีหลักฐาน แต่ปัจจุบันที่ประเทศอินเดียมีการลงคะแนนผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อกดลงคะแนนแล้วสามารถเก็บบัตรเพื่อเป็นหลักฐานได้
นายบวรศักดิ์กล่าวยืนยันว่า การเดินทางไปดูงานครั้งนี้ได้ประโยชน์ เขาก็ได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์ 2 ด้าน คือ เขาเชิญ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศระดับสูง ระดับเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงซึ่งดูแลพื้นที่อื่นทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มประเทศเอเปค และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกลุ่มประเทศเอเปก เขาสอบถามถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญและกระบวนการเลือกตั้ง
“ผมได้อธิบายให้ฟังและยืนยันความมั่นใจว่าประเทศไทยมีเลือกตั้งแน่ และไม่ช้าไปกว่าปี 2559 แน่นอน หากจะนับเวลาไวสุดคือต้นปี แต่อย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี 59”
นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้พบสมาชิก ส.ส. กลุ่มมิตรภาพไทย-เยอรมนี ซึ่งเขาพูดในช่วงแรกว่า ประชาธิปไตยต้องเชื่อในเสียงข้างมากและใครได้เสียงข้างมากต้องยอมรับ ซึ่ง น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 2 ได้กล่าวกับตนว่า คนที่พูดนี้ทำท่าจะเป็นคนสอนหนังสือพวกเรา ทำให้ตนตอบกลับไปว่า สิ่งที่ ส.ส.กลุ่มมิตรภาพฯ ถูกต้อง แต่ส่วนตัวมองว่าเสื้อตัวเดียวใส่ไม่ได้ทั้งโลก โดยได้ยืมคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มา และระบุด้วยว่า วัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดยตนได้สอบถามกลับไปว่า ประเทศเยอรมนีเคยมีหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านแปรญัติของแก้ไขทุกมาตรา ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายเสียงข้างมากก็ยกมือปิดประชุมตลอดเวลา นอกจากนี้ในการลงมติรัฐธรรมนูญ ประเทศเยอรมนีเคยมีหรือไม่ ที่ ส.ส.1 คนนำบัตรของบุคคลอื่น จำนวน10 -15 บัตรลงคะแนนแทน ส.ส. รวมถึงลงมติผ่านร่างกฎหมายสำคัญ คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนช่วงตี 4
“ทำให้ ส.ส.เยอรมนีตกใจ และประหลาดใจว่ามีด้วยหรือในโลกนี้ จากนั้นเสียงของเขาก็อ่อนลง ทำให้สร้างความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งการดูงานครั้งนี้นอกจากเราจะได้จากเขาแล้ว ทางเยอรมัก็เห็นสถานการณ์ของประเทศอื่นๆตามสมควร” นายบวรศักดิ์ กล่าว