xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่”อ้างลดเหลื่อมล้ำจำต้องรีดภาษี แย้มทูลเกล้าฯรธน.4ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (11 มี.ค.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วม 5 ฝ่าย เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการทำงานตามโรดแมป ครั้งที่ 3 ประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมครั้งนี้ สปช. เป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ประธานแม่น้ำ 5 สาย พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการหารือนอกรอบก่อนประชุมอย่างเป็นทางการ ที่ห้องรับรองชั้น 1 เป็นเวลา 30 นาที
จากนั้น เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อประสานสอดคล้องให้การทำงานเดินหน้าไปได้ ซึ่งทุกคนทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันดี ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีแม่น้ำ 5 สาย ที่ทุกสายต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน สิ่งสำคัญทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่า วันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหา ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การทุจริต คอร์รัปชัน ความไม่โปร่งใส จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ
ดังนั้นทุกอย่างต้องทำงานให้สอดคล้องเพื่อวางอนาคตสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และอยากให้สื่อสารกับประชาชนด้วย การบริหารราชการแผ่นดินในวันนี้ งบประมาณด้านการลงทุนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหาเงินมา จึงมีเรื่องการจัดเก็บภาษีมาพิจารณา
หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้ตกลงกันใหม่แล้วว่า เป็นการประชุมแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน ประกอบด้วย ครม. - สนช.-สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี คสช. เป็นแม่น้ำสายที่ 5 แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นต้นน้ำที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 และ แม่น้ำทั้ง 4 สาย จะไหลลงสู่เจ้าพระยา เปรียบเสมือนประเทศไทย คนไทยทุกคนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น
การประชุมครั้งนี้ มีการเสนอ ร่างแรกของรัฐธรรมนูญ เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ที่กำหนดไว้ ซึ่งได้พูดเฉพาะประเด็นที่สำคัญก่อน เรื่องอื่นคงต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่ทุกท่านได้ศึกษากันมาแล้วว่า ควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะขับเคลื่อนอย่างไรให้นำไปสู่การเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแมป
ประเด็นสำคัญคือ ความขัดแย้งที่มีอยู่ จะทำอย่างไร และทำอย่างไรการปฏิรูปจะเกิดความยั่งยืน การปฏิรูปมีระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งการปฏิรูปขณะนี้ รัฐบาลปฏิรูปอยู่แล้วคือ ช่วง 1 ปีที่เราทำอยู่ แล้วบวกกับช่วงที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง หัวข้อใกล้เคียงกัน กับที่คณะปฏิรูปเสนอไว้ ตรงนี้ จะมีการหารือกัน เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจตามกฎหมายทุกประการ ฉะนั้นทางสปช. ก็เป็นการพูดคุยกับเราเฉยๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นการเริ่มต้น โดยเอาของเราไปทำ และต่อเนื่องในรัฐบาลต่อไป ว่าจะทำอย่างไร จะอีกกี่ปี หากลไกทำงานให้ได้
"ผมขอเรียนว่า เราไม่ได้มุ่งหวังในกรสืบทอดอำนาจ โดยมีเจตนาทางผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาก็ไม่มี อยากให้บ้านเมืองมีอนาคต ซึ่งบ้านเมืองเรามีคววามจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป 36 วาระ บวก 7 เรื่อง ซึ่งเยอะมาก และมีรายละเอียดอยู่แล้ว ในวันนี้อย่าไปเพิ่มความขัดแย้งอีกเลย วันนี้ได้ทำความเข้าใจกันถึง การร่างรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะมีกรอบอะไรบ้าง หรือมีกี่หมวดอะไร ก็ว่ากันมา ซึ่ง คสช.จะบันทึกข้อสังเกตของแต่ละฝ่ายมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระหว่างของฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการกระทรวง ก็ต้องฟังเขาด้วย และส่งให้ สปช. สนช. ด้วย โดยช่วงนี้เป็นช่วงของการทำงานร่วมกัน เพราะ สปช.ไม่ได้มีทางกฎหมายกับรัฐบาลเวลานี้ แต่จะต้องวางอนาคตในวันข้างหน้า และต่อเนื่องกับสิ่งที่เราทำวันนี้หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ 9 ยุทธศาสตร์ ของรัฐบาลที่ขับเคลื่อน วันนี้ต้องเห็นใจประธานกรรมาธิการยกร่างฯ จะโดนหนักหน่อยเป็นธรรมดา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงบอกแล้ว ซื้อรถคันใหม่จะต้องไว้ใจคนขับ เปลี่ยนเบรก เปลี่ยนอะไรให้แล้วแต่จะไปได้ถึงแค่ไหน ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จะพยายามทำให้เต็มที่ ทางสนช. ก็ต้องพิจารณากฎหมายหลายฉบับ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการทุจริต อะไรที่ไม่ทัยสมัยก็ทำ สนช. ทำเต็มที่ มีที่ออกมาแล้วหลายฉบับ บางส่วนยังไม่ออก
ส่วนเรื่องภาษีทั้งระบบ จะทำอย่างไรนั้น ความมุ่งหมายของเรา ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยเสียมากหน่อย ดูแลคนจน จะอย่างไรก็ว่ามา ถ้าไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็ไปไม่ได้หมด
"วันนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนยกระดับตัวเองขึ้นมาให้ได้ อย่าหาว่าเราไปรีดเลือด รีดภาษี ใครอยากจะทำผม อยากรู้ และผมก็ต้องโดนรีดภาษีด้วย คนจนไม่ยิ่งกว่าหรือ ที่เราเข้ามาเราห่วงคนจนอยู่แล้ว แต่ขอเวลาเราหน่อย วันนี้ไม่มีทะเลาะกัน แฮปปี้ดี และที่เปรียบว่า เป็นการซื้อรถคันใหม่ แทนการลงเรือลำเดียวกัน เพราะช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง ส่วนวันนี้ที่พูดน้อย เพราะเจ็บคอ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้รายงานเรื่องการเลือก ส.ส.- ส.ว. ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่ได้มีการถามถึงว่า จะแก้ปัญหาซื้อเสียงและประชานิยมอย่างไร นอกจากนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ยังถามถึงเรื่อง การตั้งอธิบดี และปลัดกระทรวง จำเป็นต้องให้สภา ให้ความเห็นชอบด้วยหรือ นอกนั้น แม่น้ำทุกสายส่วนใหญ่เพียงตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถาม และเราได้ชี้แจงว่า ขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในร่างแรก ยังไม่แล้วเสร็จ ตนจะนำข้อสังเกตเหล่านี้ไปทบทวน ก่อนที่จะส่งร่างรัฐ ธรรมนูญร่างแรก ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ

**"วิษณุ"แย้มทูลเกล้าฯรธน.วันสุดท้าย 4 ก.ย.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวว่า นายกฯพอใจ และขอบคุณแม่น้ำแต่ละสาย ที่ทำงานตามโรดแมป และตามกำหนดเวลา ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดวันสุดท้ายที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ คือ วันที่ 4 ก.ย. ใช้เวลาทำกฎหมายลูก 60 วัน กฎหมายลูกเสร็จ ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน ส่วนเรื่องการทำประชามติ ที่ประชุมไม่หารือ แต่ถ้าทำประชามติ ก็ไม่สามารถเลือกตั้งช่วงดังกล่าวได้ เพราะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ทำประชามติอีกประมาณ 3 เดือน หรือเร็วกว่านั้น

**กรรมการป.ป.ช.เหลือ 4 คน อาจมีปัญหา

นายวิษณุ กล่าวถึงการต่ออายุ ป.ป.ช. หรือไม่ว่า ไม่มีการหารือในที่ประชุม แต่หากต่อต้องดูจะต่อด้วยวิธีอะไร ถ้าต่อด้วยการแก้กฎหมายต้องเข้า สนช. แต่ถ้าจะใช้ มาตรา 44 เป็นอำนาจคสช. อย่างไรก็ตาม หากแก้กฎหมายโดยสนช. กรรมการป.ป.ช. คงหมดวาระไปก่อน จะเหลือทางเดียว แต่อยู่ๆ จะประกาศเลยโดยไม่สนใจมาตราไหน ใครทำอย่างนั้นก็ผิด เอาอำนาจอะไรมาต่อ กฎหมายป.ป.ช. ไม่เหมือนกฎหมายอื่น ถ้าครบวาระต้องพ้นไปทันที จะทิ้งช่วงไปเป็นปี ก็ต้องทิ้ง ความจริงทิ้งไว้ไม่เป็นไร ยังเหลืออีก 4 คน แต่คนจะเข้าใจหรือไม่
"ผมมานั่งคิดขนาด 9 คน คนยังไม่ไว้วางใจ มาเหลือ 4 คน หากโหวตออกมา 3 ต่อ 1 คนจะคิดอย่างไร เกิดมีบางคดี 4 คนที่เหลือ มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผมเห็นแล้วมีบางคดีที่ในจำนวน 4 คน อาจมีส่วนได้ส่วนเสีย คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยทำงานสอบสวนมาก่อนสมัยเป็นตำรวจ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เคยสอบสวนสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ถึงเวลาถ้ามีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่สามารถเข้าประชุมได้ เหลือ 3 คน จะทำอย่างไร" นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะต่อ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้พูดว่าเปอร์เซ็นต์ต่อมีสูง แค่คิดว่าจะทำอย่างไร ขนาดนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ต่ออายุ จึงต้องคิดรอบด้าน ถ้ามีคนคิดอย่างนายวิชา หลายคนจะทำอย่างไร อยู่ดีๆ ไปประกาศต่ออายุให้เขา วันรุ่งขึ้นเขาลาออก จะทำอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น