xs
xsm
sm
md
lg

“เทียนฉาย” เปรียบสัมพันธ์ “สปช.-กมธ.ยกร่างฯ” ราวอดัมกับอีฟ - อนุฯ การเมืองค้านยุบพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน สปช. ชี้ความสัมพันธ์ สปช. - กมธ.ยกร่างฯ แน่นแฟ้นเหมือนอดัมกับอีฟ เผยไม่มีอำนาจกำหนดให้มีการประชามติ โยนรัฏฐาธิปัตย์ตัดสินใจ ด้าน อนุ กมธ. การเมืองฯ ค้านการยุบพรรค ชี้ทำลายความเข้มแข็งระบบพรรค แนะถ้าจะยุบต้องมีเหตุร้ายแรง

วันนี้ (1 เม.ย.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สภาปฏิรูปแห่งชาติกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ” โดยบรรยายถึงขั้นตอนเมื่อรับร่างรัฐธรรมนูญมาจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สปช. ต้องศึกษาวิเคราะห์การปฏิรูปตามมาตรา 27 เสนอความเห็น และพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนนี้ไม่มีการอภิปราย หากเห็นชอบก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญกราบบังคมทูลฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย หากไม่เห็นชอบ สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ ก็จะสิ้นสุดในวันนั้น ซึ่งถ้าไม่เห็นชอบ ตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มักบอกว่า เป็นแฝดอินจัน ต้องตายตกตามกัน ในกรณีนี้ทาง คสช. เริ่มหาสมาชิก สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ ใหม่ ซึ่งจะเป็นคนเดิมไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ ถ้าสมาชิก สปช. ไม่เห็นชอบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราวได้เตรียมทางออกเอาไว้แล้ว แต่ไม่ถือเป็นการกดดันการทำงานของ สปช. ให้ สปช. มีความเห็นคล้อยตามกรรมาธิการยกร่างฯ เพียงแต่ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

“สัมพันธภาพของ สปช. กับ กมธ. ยกร่างฯ มีความลึกซึ้ง ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ ซึ่งพระเจ้าเหน็บเอาซี่โคร่งของอดัม มาสร้างอีฟ คือ เอาไปจาก สปช. จำนวน 20 คน ความผูกพันก็แน่นแฟ้น เมื่อหัวหน้า คสช. เสนอคนทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เอา รองประธาน สปช. คนที่หนึ่ง เป็นประธาน กมธ. เวลาประชุมสมาชิก สปช. ที่เป็น กมธ. ยกร่างฯ ก็มาประชุมด้วย และทาง กมธ. ยกร่างฯ ก็เชิญสมาชิก สปช. และบุคคลภายนอกสังเกตการณ์การประชุมคณะ กมธ. ยกร่างฯ เพื่อความโปร่งใสว่าไม่มีพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญจากฝ่ายใด ได้ผลดีว่าที่สุดแล้ว กมธ. ก็ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ไม่ได้ปรากฏว่าเป็นพิมพ์เขียวกับใคร ซึ่งในวันอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก 20 - 26 เม.ย. นี้ ก็มีคำถามว่า แล้วรองประธาน สปช. คนที่ 1 ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำหน้าที่ได้หรือไม่นั้น ผมเห็นว่าสามารถทำได้ แต่น่าเกลียด เพราะต้องชี้แจงและตอบคำถามของสมาชิก”

นายเทียนฉาย ระบุว่า ถ้ามีการอภิปรายเสร็จในวันที่ 26 เม.ย. สปช. ครม. คสช. อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ จนถึง 25 พ.ค. จากนั้นทางกรรมาธิการกลับไปทำร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ปลายเดือนกรกฎาคม กมธ. ยกร่างฯ เสนอร่างต่อ สปช. ต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่งในต้นเดือนสิงหาคมก็รู้เรื่อง ในเงื่อนไขปัจจุบัน เพราะยังไม่มีวาระพิจารณาประชามติ มีแต่คำพูดจาและมีเสียงเรียกร้องของประชาชน ซึ่งทาง สปช. ไม่มีหน้าที่กำหนดให้ทำประชามติ รัฏฐาธิปัตย์ต้องตัดสิน เพราะเรื่องนี้มีผลอย่างมาก

นายเทียนฉาย กล่าวอีกว่า สิ่งน่าสนใจในเวลานี้ ก็คือ ทาง สปช. กับ กมธ. ยกร่างฯ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ เพราะ สปช. บางรายมีความเห็นไม่ตรงยกร่างฯ ซึ่งตนเห็นว่า ในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วยกันก็ยังไม่เห็นตรงกัน ถือเป็นวิสัยธรรมดา เพราะขณะนี้ยังมีความสมานฉันท์แน่นแฟ้นกันอยู่ ส่วนที่มีข้อสังเกตเรื่องการสืบทอดอำนาจการผ่านตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาตินั้น ตนเห็นว่า เพราะภาระของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ ให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูป ที่พวกตนอาสาทำหน้าที่ เพราะประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าตาจน ย้อนไปวันที่ 22 พ.ค. จะเกิดเหตุอะไรบ้าง ดังนั้น ในขณะนี้ สปช. จับงานปฏิรูปอะไรก็เป็นประเด็นปัญหา ซึ่งถ้าปฏิรูปจริงๆ ก็ไม่สำเร็จภายใน 1 ปี อย่างเช่น จะหวังให้ 15 ปีข้างหน้าคนไทยทุกคนต้องจบปริญญาตรี แล้วหลังจากนั้นใครจะดูแผนเหล่านี้ ซึ่งความจำเป็นต้องมีองค์กรที่ต้องทำไม่ใช่เป็นการสืบทอด แต่เป็นวอทด็อก (Watch Dog) ของประชาชนชาวไทย

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับไม่ให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างฯ มาพูดเพราะเกรงว่าจะเป็นประเด็นขัดแย้ง นายเทียนฉาย กล่าวว่า ขณะนี้ร่างแรกยังไม่แล้วเสร็จ หากวิพากษ์กันไปก็จะกลายเป็นประเด็นได้ ส่วนข้อเสนอของนายสังสิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิก สปช. ให้มีมาตรการแซงชัน หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ยอมพิจารณาตามข้อท้วงติงของ สปช. นายเทียนฉาย มองว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดเรื่องนี้ และเข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือหลังวันที่ 23 ก.ค. นี้

อีกด้านหนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบพรรคเมืองที่มี นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธาน ได้มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคการเมืองว่า ห้ามไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง เว้นแต่จะเป็นความผิดในกรณีกระทำความผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายอมร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางคณะอนุ กมธ. ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้กับคณะ กมธ. การปฏิรูปการเมืองของ สปช. และคณะ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งการประชุมในวันนี้เสียงส่วนใหญ่ของคณะอนุ กมธ. เห็นว่าควรมีการผลักดันและนำเสนอเพื่อให้ได้รับการพิจารณาอีกครั้ง เพราะเห็นว่าการกำหนดให้มีการยุบพรรคการเมือง จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรกำหนดเรื่องการยุบพรรคให้เป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่ให้เกิดกระจายไปอยู่ตามมาตราต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา

นายอมร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมของคณะอนุ กมธ.ฯ ที่ออกมา จะนำเสนอให้กับคณะ กมธ. การปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลการพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น