xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กกต.ไม่เห็นด้วย “โอเพนลิสต์” ยุ่งยาก ซับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลเยอรมนีได้เชิญ ไปศึกษาดูระบบการเมืองและระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อวันที่ 16-20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยให้ความเห็นเรื่องการเลือกตั้งระบบโอเพนลิสต์
ปธ.กกต. ไม่เห็นด้วย “เลือกตั้งระบบโอเพนลิสต์” ชี้ ยุ่งยาก ซับซ้อน ยอมรับหาก รธน. ใหม่ จะใช้ผสม ก็พร้อมทำตาม เผยส่วนตัวยังเชื่อระบบบัญชีรายชื่อเดิมดีอยู่แล้วแค่ปรับปรุง ลดพวกมีอิทธิพล ร่ายผลดูงานระบบเลือกตั้งเยอรมัน แจงคนเมืองเบียร์รับยังงง วิธีคิดคะแนนระบบสัดส่วน

วันนี้ (26 มี.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการที่รัฐบาลเยอรมนีได้เชิญตัวแทนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กกต. ไปศึกษาดูระบบการเมืองและระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อวันที่ 16 - 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า จากการศึกษาระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีที่จะกำหนดให้มี ส.ส. ในสภาทั้งหมด 598 คน ประกอบด้วย ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 299 คน และ ส.ส.แบบสัดส่วน 299 คน โดยการเลือกตั้งของเยอรมนีครั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองลงสมัครเลือกตั้งทั้งหมด 34 พรรค แต่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 5 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และฝ่ายค้าน 2 พรรค เพราะได้คะแนนเกินร้อยละ 5 ของคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของเยอรมนีได้ระบุว่าหากพรรคใดได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 5 ก็จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภา

ทั้งนี้ จากการได้พูดคุยกับ ส.ส. เยอรมนี ก็ระบุว่า การคิดคะแนน ส.ส. แบบสัดส่วนค่อนข้างยุ่งยาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิด แต่วัฒนธรรมของคนเยอรมันจะมีความเชื่อมั่นในระบบ ทำให้ไม่มีการคัดค้านหรือแสดงการไม่เห็นด้วย อีกทั้ง การเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน ไม่ได้ใช้การเลือกแบบโอเพ่นลิสต์ แต่จะเป็นการเลือกตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนด ซึ่งทางเยอรมนีก็มองว่าหากนำระบบนี้มาใช้กับประเทศไทยก็จะทำได้ง่าย เพราะระบบสัดส่วนที่ประเทศไทยจะใช้มีการแบ่งพื้นที่ประเทศ เป็น 6 กลุ่มจังหวัด แต่ของเยอรมนีจะแบ่งถึง 16 มลรัฐ แต่ถ้าหากจะให้ประชาชนเป็นคนเลือก ส.ส. ในระบบโอเพ่นลิสต์ก็อาจจะยุ่งยาก

อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับ ส.ส. ของแต่ละพรรคจะคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก แม้ว่า ส.ส. จะกระทำการขัดมติพรรค แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วประชาชนแสดงความต้องการที่จะให้พรรคส่ง ส.ส. คนดังกล่าวลงเลือกตั้ง พรรคก็จะฟังเสียงประชาชน รวมทั้งระบบเยอรมนี ผู้สมัคร ส.ส. สามารถลงสมัครได้ทั้งแบบระบบเขตและระบบสัดส่วนในเวลาเดียว ซึ่ง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถามว่าจะตลกหรือไม่หาก บุคคลนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งในระบบเขตแต่ได้รับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ก็ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ และฝ่ายไทยยังได้ซักถามในประเด็นว่า เยอรมนีสามารถนำญาติพี่น้องบุตรภรรยามาเป็นผู้ช่วย ส.ส. ได้หรือไม่ ซึ่งทางเยอรมนีระบุว่ามีกฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ผู้ช่วย ส.ส.

ส่วนของการจัดการเลือกตั้งของเยอรมนี จะดำเนินการโดย กกต. ซึ่งประธาน กกต. จะมาจากผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐ โดย รมว.มหาดไทย จะเป็นผู้แต่งตั้ง และข้าราชการของสำนักงานสถิติจะทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าที่ กกต. ในการช่วยจัดการเลือกตั้ง ร่วมกับอาสาสมัครจากภาคประชาชน ซึ่งประธาน กกต. ของเยอรมนี ยืนยันว่า แม้จะได้รับการแต่งตั้งจาก รมว.มหาดไทย แต่เมื่อเป็นประธาน กกต. แล้ว รมว.มหาดไทย ก็ไม่สามารถมาสั่งการได้ในการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งตัวประธาน กกต. เอง ก็ไม่สามารถไปสั่งข้าราชการในการจัดเลือกตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ กกต. เยอรมนี คือ การดูแลและประกาศผลการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เสนอกฎหมายเลือกตั้ง

ส่วนการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจะเป็นหน้าที่ของสภา ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าเป็นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นหน้าที่ของสภาท้องถิ่น ขณะที่เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ที่ กมธ. ยกร่างฯ เปิดช่องให้ใช้ได้ในการเลือกตั้งของประเทศไทย ในส่วนของเยอรมนีก็เคยนำมาใช้ แต่มีเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องความแม่นยำในการนับคะแนน แม้ศาลจะไม่มีคำพิพากษาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากนั้น เยอรมนีก็ไม่เคยนำเครื่องลงคะแนนมาใช้อีกเลยเพราะอาจมองว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น อีกทั้งเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ไม่มีในเยอรมนี

“ถ้าหาก กมธ. ยกร่างฯ จะนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้ กกต. ก็พอรับได้ ตอนนี้ กกต. ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องคำนวณคะแนนไว้แล้ว แต่ถ้านำระบบโอเพ่นลิสต์มาใช้ การนับคะแนนอาจจะล่าช้า ไม่รู้ 3 วันจะจบหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าระบบบัญชีรายชื่อแบบเดิมก็อยู่แล้ว แต่อาจแก้ไขให้พรรคการเมืองเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ มีผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในบัญชี ไม่ใช่เอาแต่พวกมีอิทธิพล ลูกนายทุน มาอยู่ในลำดับต้นๆ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องรอดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาอย่างไร” ประธาน กกต. กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น