xs
xsm
sm
md
lg

ชี้"เยอรมันโมเดล"นับคะแนนยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงการที่รัฐบาลเยอรมนีได้เชิญตัวแทน กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กกต. ไปศึกษาดูระบบการเมือง และระบบเลือกตั้งของเยอรมนี เมื่อวันที่ 16-20 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า การเลือกตั้งแบบเยอรมนี จะกำหนดให้มี ส.ส. ในสภาทั้งหมด 598 คน ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 299 คน และส.ส.แบบสัดส่วน 299 คน โดยการเลือกตั้งของเยอรมนี ครั้งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองลงสมัครเลือกตั้ง ทั้งหมด 34 พรรค แต่ได้รับเลือกตั้งทั้ง หมด 5 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และฝ่ายค้าน 2 พรรค เพราะได้คะแนนเกินร้อยละ 5 ของคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของเยอรมนี ได้ระบุว่า หากพรรคใดได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 5 ก็จะไม่ได้ที่นั่งส.ส.ในสภา
ทั้งนี้ จากการได้พูดคุยกับ ส.ส.เยอรมนี ก็ระบุว่า การคิดคะแนน ส.ส.แบบสัดส่วนค่อนข้างยุ่งยาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิด แต่วัฒนธรรมของคนเยอรมนี จะมีความเชื่อมั่นในระบบ ทำให้ไม่มีการคัดค้าน หรือแสดงการไม่เห็นด้วย อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน ไม่ได้ใช้การเลือกแบบโอเพ่นลิสต์ แต่จะเป็นการเลือกตามบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองกำหนด ซึ่งทางเยอรมนี ก็มองว่าหากนำระบบนี้มาใช้กับประเทศไทย ก็จะทำได้ง่าย เพราะระบบสัดส่วนที่ประเทศไทยจะใช้มีการแบ่งพื้นที่ประเทศ เป็น 6 กลุ่มจังหวัด แต่ของเยอรมนี จะแบ่งถึง 16 มลรัฐ แต่ถ้าหากจะให้ประชาชนเป็นคนเลือก ส.ส.ในระบบโอเพ่นลิสต์ ก็อาจจะยุ่งยาก
อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับส.ส. ของแต่ละพรรค จะคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก แม้ว่าส.ส. จะกระทำการขัดมติพรรค แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้ว ประชาชนแสดงความต้องการที่จะให้พรรคส่ง ส.ส. คนดังกล่าวลงเลือกตั้ง พรรคก็จะฟังเสียงประชาชน รวมทั้งระบบเยอรมนี ผู้สมัครส.ส. สามารถลงสมัครได้ทั้งแบบระบบเขต และระบบสัดส่วนในเวลาเดียว ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถามว่าจะตลกหรือไม่ หากบุคคลนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งในระบบเขต แต่ได้รับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ก็ได้รับคำชี้แจงว่า เป็นเรื่องปกติ สามารถทำได้ และฝ่ายไทย ยังได้ซักถามในประเด็นว่า เยอรมนี สามารถนำญาติพี่น้องบุตรภรรยา มาเป็นผู้ช่วยส.ส. ได้หรือไม่ ซึ่งทางเยอรมนีระบุว่า มีกฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ผู้ช่วยส.ส.
ส่วนการจัดการเลือกตั้งของเยอรมนี จะดำเนินการโดยกกต. ซึ่งประธานกกต. จะมาจากผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐ โดยรมว.มหาดไทย จะเป็นผู้แต่งตั้ง และข้าราชการของสำนักงานสถิติ จะทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าที่กกต. ในการช่วยจัดการเลือกตั้ง ร่วมกับอาสาสมัครจากภาคประชาชน ซึ่งประธานกกต. ของเยอรมนียืนยันว่า แม้จะได้รับการแต่งตั้งจาก รมว.มหาดไทย แต่เมื่อเป็นประธาน กกต.แล้ว รมว.มหาดไทย ก็ไม่สามารถมาสั่งการได้ ในการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งตัวประธานกกต.เอง ก็ไม่สามารถไปสั่งข้าราชการในการจัดเลือกตั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอำนาจหน้าที่ของกกต.เยอรมนี คือการดูแลและประกาศผลการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้เสนอกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง จะเป็นหน้าที่ของสภา ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าเป็นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็เป็นหน้าที่ของสภาท้องถิ่น
ขณะที่เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ที่กมธ.ยกร่างฯ เปิดช่องให้ใช้ได้ ในการเลือกตั้งของประเทศไทย ในส่วนของเยอรมนี ก็เคยนำมาใช้ แต่มีเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องความแม่นยำในการนับคะแนน แม้ศาลจะไม่มีคำพิพากษาว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หลังจากนั้น เยอรมนี ก็ไม่เคยนำเครื่องลงคะแนนมาใช้อีกเลย เพราะอาจมองว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น อีกทั้งเรื่องการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ก็ไม่มีในเยอรมนี
" ถ้าหากกมธ.ยกร่างฯ จะนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้ กกต.ก็พอรับได้ ตอนนี้กกต.ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องคำนวณคะแนนไว้แล้ว แต่ถ้านำระบบโอเพ่นลิสต์ มาใช้ การนับคะแนนอาจจะล่าช้า ไม่รู้ 3 วันจะจบหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ระบบบัญชีรายชื่อแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่อาจแก้ไขให้พรรคการเมืองเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ มีผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในบัญชี ไม่ใช่เอาแต่พวกมีอิทธิพล ลูกนายทุน มาอยู่ในลำดับต้นๆ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องรอดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบ มาอย่างไร " ประธาน กกต. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น