xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” เตือน สปช.อีโก้จัดชำแหละ รธน. ระวังสะดุดขาตัวเอง - “จุฤทธิ์” ซัด กมธ.จะกลายเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับมโน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา หวัง สปช.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรอบคอบ เชื่อเข้าใจประชาชนอยากเลือกนายกฯ-ส.ส.-ส.ว. ด้าน “สุริยะใส” ชี้ควรใช้เวทีหาข้อยุติ เพราะ สปช.บางส่วนรับไม่ได้บางประเด็นที่ถูกตัดทิ้ง ห่วง สปช.บางคนอยากได้ประเด็นส่วนตัว เตือนหากมีอีโก้จัดจะสะดุดขาตัวเอง แนะ สปช.บางคนที่ประชุมไปวันๆ ทำงานมากขึ้น ขณะที่อดีต ส.ส.ปชป.โวยถูกเมินความเห็นนักการเมือง ถือปฏิเสธผู้แทนประชาชน กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับมโน เตือนมาจากการแต่งตั้งต้องพึงสำเหนียก

วันนี้ (19 เม.ย.) นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแปรญัตติร่างแรก ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ว่า ตนได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนแล้ว โดยเชื่อมั่นว่า สปช.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ และคงทราบดีว่าประชาชนต้องการอะไร อยากเห็นบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ หรืออยากเห็นบ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก

ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่ประชาชนปรารถนามาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือก ส.ว. หรือการเลือกตัวแทนของเขา ซึ่งตนเชื่อว่า สปช. เข้าใจในความรู้สึกของประชาชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกยกร่างขึ้นมานั้น จะร่างมาอย่างไรก็ได้ แต่ สปช.ต้องรับฟัง ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดตายตัว จึงสามารถปรับแก้ไขได้ตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ถ้า สปช.มีเหตุและผลในความต้องการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องได้รับการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยระบุว่าต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนสะท้อนความคิดเห็น เพราะตนเป็นนักการเมือง ถ้ามีการวิพากษ์วิจารณ์ก็จะกลายเป็นประเด็น หรือถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อตัวเอง หรือพวกพ้อง ดังนั้นเชื่อว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาที่ดี ต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้า อยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทย และพยายามเขียนรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด ส่วนจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนทั้งประเทศกำลังจับตาอยู่

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ควรจะใช้เวทีนี้หาข้อยุติในเรื่องใหญ่ๆ ที่ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังหาข้อยุติหรือตกลงร่วมกันไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา สปช.บางส่วนก็รับไม่ได้กับบางประเด็นที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตัดออกไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงยืดเยื้อเรื้อรัง จนบางครั้งเหมือนเป็นการตั้งแง่กัน ทำให้สังคมสับสนและขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการปฏิรูปในครั้งนี้

ที่น่าเป็นห่วงคือ สปช.บางคนก็ยึดมั่นถือมั่นกับความเห็นส่วนตัวในประเด็น เฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากจนเกินไป จนมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับบรรดาพรรคการเมือง ที่มักมองหรือเห็นเฉพาะประเด็นที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย หรือเป็นเรื่องที่กระทบกับอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ส่วนที่เป็นการเมืองของภาคพลเมืองกลับละเลยไม่สนใจ ปัญหาของการมองร่างรัฐธรรมนูญแบบแยกย่อย เป็นส่วนๆ ไม่มององค์รวมหรือดูกันทั้งฉบับทำให้เกิดการบิดเบือนกันได้ง่าย และอาจทำให้แรงต้านของการปฏิรูปรอบนี้ขยายผลจนในที่สุดการปฏิรูปจะเสียของและไม่เหลืออะไรกันเลย

“ที่น่าห่วงที่สุดและเป็นปัญหาในตัวมันเอง คือ อีโก้ หรืออัตตาของบรรดา สปช. ที่จนป่านนี้ยังไม่ลดละและหาเอกภาพร่วมกันยังไม่ได้ อาจทำให้ สปช.สะดุดขาตัวเอง เปลืองงบประมาณเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ความเห็นต่างจะเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยเงื่อนไขสถานการณ์พิเศษของบ้านเมือง สปช.ควรใช้เวลาช่วงที่เหลือที่มีไม่ถึง 5 เดือน เร่งสร้างเอกภาพทางยุทธศาตร์ และสร้างแรงส่งของพลวัตรการปฏิรูปที่มีพลังและความหวัง ความฝันมากกว่านี้ โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชนทั้งแนวราบแนวดิ่งต้องเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะความหวังและความฝันของประชาชนนี่หละจะเป็นแรงส่งของการปฎิรูปที่เป็นจริง” นายสุริยะใสกล่าว

นอกจากนี้ บรรดา สปช.ที่ไม่เคยแสดงบทบาทใดๆ หรือมาประชุมไปวันๆ นั้นก็ควรลงแรงหรือทำงานกันมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ติดตามการทำงานของ สปช. ทำงานกันอย่างจริงจังไม่ถึง 60 คน จากทั้งหมด 250 คน

ขณะที่นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยิ่งใกล้เวลาอภิปราย ข้อเสนอแนะหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างจะถอยหลังเข้าคลองก็ถูกนำเสนอเพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช.ได้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระหว่างการแปรญัตติ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ และสปช.ควรอย่างยิ่งที่จะรับฟัง เพราะทุกคนที่เสนอความคิดเห็นล้วนมีความปรารถนาดี อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับที่เพิ่งจะโดนยึดและฉีกทิ้งไป ซึ่งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมมีสิทธิ แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ต้องรับฟัง นำไปพิจารณาแก้ไข

นอกจากนี้ การปฏิเสธการรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมืองโดยอ้างว่ามีแค่ 5 พันกว่าคน เป็นการปฏิเสธผู้ที่เคยเป็นตัวแทนประชาชนตัวจริง และแน่นอนว่านักการเมืองยังสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่แท้จริงจำนวนมากได้ การพูดจาดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างนี้ โดยเฉพาะ กมธ.ยกร่างฯ บางคน ไม่ควรจะมีให้เห็นในยุคนี้ ที่อ้างว่ารับฟังทุกความคิดเห็น และทุกคนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ในโลกความเป็นจริง กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับมโน จนในที่สุดก็จะโดนฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่ไม่รู้ และทุกคนอยากเห็นการทำประชามติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ไม่สร้างปัญหาหรือเป็นเหตุให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีกในอนาคต

“เหล่านี้คือตัวอย่างเหตุผลที่ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช. จะต้องตระหนักในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะท่านมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง เพียงแต่เป็นองค์กรเดียวในขณะนี้ที่ได้รับสิทธิในการร่างกติกาของประเทศ ทุกเสียงทุกความคิดเห็นของประชาชนจึงมีคุณค่าต้องรับฟัง เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับ ปฏิบัติได้ในโลกความเป็นจริง สำคัญที่สุด ต้องดีกว่าเดิม” นายจุฤทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น