xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ตัดศาลออกจากข้อผูกพันปฏิรูป แก้เป็น “ความรับผิดชอบ” แทนหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประชุม กมธ.ยกร่างฯ พร้อมแก้ถอยคำ ม.277 บททั่วไปภาค 4 ตัดศาลออกจากข้อผูกพันปฏิรูป-ปรองดอง พร้อมปรับเหลือเป็น “ความรับผิดชอบ” แทน “หน้าที่” รับเขียนแบบเดิมแข็งเกินไป ตัดปัญหาเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ ขออย่าห่วงนิรโทษกรรมเกินไป แจงตัดศาลออกไปไร้ปัญหาทำให้สบายใจ

วันนี้ (7 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอยู่ในบททั่วไปภาค 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ ไปหารือในที่ประชุม จนที่สุดได้ข้อยุติให้มีการปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา 277 บททั่วไปภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ตัดศาลออกจากหน่วยงานที่ต้องผูกพันตามบทบัญญัติในภาค 4 และให้แก้คำว่า “หน้าที่” เป็น “ความรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นชอบให้มีการปรับแก้ข้อความในมาตรา 277 โดยตัดคำว่า “ศาล” ออก จากเดิมที่บัญญัติว่า “ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรับถ้อยคำจาก “หน้าที่” เป็น “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิด “ความรับผิดชอบ” แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานและพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ”

“บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันของการปฏิรูปและการปรองดองให้สามารถเดินหน้าได้ แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม จะได้ไม่ต้องไปพูดอีกว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่รัฏฐาธิปัตย์อีก ทั้งที่มันไม่เกี่ยวกับรัฏฐาธิปัตย์เลย เพราะไม่ได้ให้มีอำนาจเหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการยึดอำนาจ และไปห่วงเกินไปว่าจะไปถึงการนิรโทษกรรม ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมเขียนไว้แค่การอภัยโทษเท่านั้น” นายบวรศักดิ์กล่าว

นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หลักการในมาตราดังกล่าวนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องสนับสนุนการปฏิรูปและการปรองดอง เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลที่มาภายหลังไม่ยอมออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องเขียนไว้ให้เกิดหลักประกัน การเขียนว่าหน้าที่หรือความรับผิดชอบนั้นในทางกฎหมายความจริงก็ไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่ยอมรับว่าที่เขียนไว้เดิมมันดูแข็งเกินไป

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า แม้จะตัดศาลออกจากบททั่วไปดังกล่าวก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเดิมก็ทราบอยู่แล้วว้าแม้จะระบุองค์กรศาลก็เพียงให้มีผลต่อการบังคับคดี หรือการสนับสนุนด้านงานธุรกรรมของสำนักงานศาลเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่แล้ว แต่การตัดคำว่าศาลออกสังคมจะได้สบายใจยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น