xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” เผยร่างฯ เหลือสัดส่วนสตรี ชี้ให้ กก.ปรองดองเขียนอภัยโทษได้แก้ปมเปลี่ยนรัฐแล้วไม่เสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเผยพิจารณารายมาตราครบแล้ว คาดสิ้นเดือนได้ข้อสรุปสัดส่วนสตรี ชี้เสียงสะท้อนเป็นธรรมชาติดี สวนพรรคการเมืองพูดแค่ด้านเดียว ยันไม่ได้มีเจตนาให้องค์กรของรัฐมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แต่ให้อำนาจ กก.ปรองดองร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษเพราะกลัวเปลี่ยนรัฐบาลแล้วอาจไม่สำเร็จ ย้ำเจตนาให้คนขัดแย้งมาคุยกันโดยมีคนกลางไกล่เกลี่ย ยันปิดชื่อผู้ให้ข้อมูลแค่คุ้มครองไม่ได้ปิดบัง

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีการพิจารณารายละเอียดของแต่ละมาตราครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงประเด็นเดียวที่แขวนอยู่คือ สัดส่วนสตรี คาดว่าภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้น่าจะหาข้อสรุปได้ด้วยการพบกันครึ่งทาง คือหาทางออกทางที่สามขึ้นมาด้วยการพูดคุยตกลงกันได้ โดยไม่น่าจะต้องถึงกับมีการลงมติ และไม่คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งในกรรมาธิการฯ เหมือนครั้งที่ผ่านมา

สำหรับเสียงสะท้อนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นธรรมชาติดี เพราะการร่างรัฐธรรมนูญผู้ได้รับผลกระทบต้องวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ จึงต้องมีทั้งคนได้และเสียประโยชน์ ในฐานะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ เราคุยกันเสมอว่าจะยกร่างด้วยหลักการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน มีอำนาจอย่างแท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นหัวใจสำคัญของการยกร่างจึงทำให้เกิดผลกระทบกับผู้เคยมีอำนาจไม่สามารถใช้อำนาจในส่วนนี้ โดยไม่พูดถึงอีกด้าน เช่น กรณีพรรคการเมืองที่คัดค้านว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ไม่พูดว่าพรรคการเมืองอ่อนแอแต่ประชาชนเข้มแข็งขึ้น

สำหรับประเด็นในภาค 4 บททั่วไปที่บัญญัติว่า เนื้อหาในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่ ครม. นิติบัญญัติ ศาล และองค์กรของรัฐทุกหน่วยงาน ทำให้เนื้อหาและองค์กรที่จะเกิดขึ้นตามภาค 4 มีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์เพราะอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยสามฝ่ายนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า กรรมาธิการฯไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น แต่การตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติที่ให้ร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ ก็เพราะเกรงว่าหากเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งอาจไม่สำเร็จ ไม่ได้คิดไปถึงขั้นว่าคณะกรรมการปรองดองที่จะเกิดขึ้นจะมีอำนาจในลักษณะรัฎฐาธิปัตย์ อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่ายแต่อย่างใด โดยจะได้นำประเด็นเหล่านี้ไปอภิปรายในที่ประชุมเมื่อมีการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญหลังจากที่ ครม., คสช. และ สปช.เสนอคำแปรญัตติมาแล้ว โดยกรรมาธิการฯเห็นว่าที่มาของคณะกรรมการปรองดองต้องมากับส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ขัดแย้งสองฝ่ายจะมาจากการเมืองโดยภาพรวมฝ่ายการเมืองก็จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการชุดนี้

“เจตนาของเรา คือ ให้คู่ขัดแย้งที่คุยกันไม่ได้มาคุยกันโดยมีคนกลางไกล่เกลี่ย เหมือนระบบอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ไม่ได้คิดไปถึงขั้นให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯอยู่เหนืออำนาจอื่น เช่น การเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ก็เพราะต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งได้เลย โดยไม่ไปติดขัดที่ขั้นตอนของฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเป็นคู่ขัดแย้งก็ได้” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติพิจารณาอภัยโทษผู้ที่ให้ความจริงที่เป็นประโยชน์ หรือสำนึกผิดต่อกรรมการนั้น หากเห็นว่าเป็นอำนาจที่กว้างเกินไปก็สามารถที่จะทบทวนในเรื่องดังกล่าวได้ รวมถึงกรณีที่มีการบัญญัติระบุอำนาจให้ รวบรวมข้อเท็จจริง และทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมายการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้การเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใดไม่ได้ เว้นแต่จะเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัตินั้น กรรมาธิการฯมีเจตนาเพียงแค่ต้องการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่ปิดบังความจริงจากผลที่รวบรวมข้อเท็จจริงได้ สิ่งเหล่านี้สามารถดูเนื้อหาให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งได้


กำลังโหลดความคิดเห็น