xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” วอนรอแม่น้ำ 3 สายแปรญัตติร่าง รธน. รับถูกบีบหนัก แจงคงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ รับมีกระแสกดดันร่าง รธน.มากขึ้น วอนสังคมเข้าใจยังแก้ไขได้ แนะรอร่างสมบูรณ์หลัง แม่น้ำ 3 สายเสนอแปรญัตติ 23 ก.ค. เชื่อ กมธ.ไม่ดึงดัน แม้มีอำนาจยืนตามร่างเดิมได้ แจงคงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ 5 ปี ในภาค 4 ปฏิรูป-ปรองดอง หวังบ้านเมืองสงบพัฒนาต่อเนื่อง ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ

วันนี้ (17 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า มีกระแสกดดันมากขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้สังคมเข้าใจว่าร่างดังกล่าวยังอยู่ในวิสัยที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้ว่าในชั้นกรรมาธิการฯ ขณะนี้จะเป็นเพียงแค่การทบทวนรายละเอียดแต่ละมาตราที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วโดยไม่ทบทวนหลักการก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้ ครม., คสช.และ สปช.สามารถเสนอขอแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้ ทางกรรมาธิการฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. และส่งให้ ครม.กับ คสช.ในวันที่ 26 เม.ย. เพื่อให้มีเวลาพิจารณาและยื่นคำแปรญัตติตามกรอบเวลา 30 วันในวันที่ 23 ก.ค. นอกจากนี้ ในการอภิปรายของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ตั้งแต่วันที่ 20-26 เม.ย.ซึ่งเป็นเวลาถึง 7 วัน 7 คืน ก็น่าจะมีการเสนอความเห็นที่หลากหลายโดยตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ สปช.เสนอคำขอแก้ไขได้ 10 เรื่อง แต่ไม่ได้บังคับว่าในแต่ละเรื่องต้องเป็นการแก้ไขประเด็นเดียวเท่านั้น ให้เป็นคำขอแก้ไขได้ทั่วไป เช่น อาจมีการเสนอให้แก้ไขทั้งร่างก็ได้

นายคำนูณกล่าวว่า หลังจากได้รับคำแปรญัตติจากทั้ง สปช., ครม. และ คสช.แล้ว กรรมาธิการยกร่างฯ จะทบทวนทุกอย่างตามที่มีการเสนอมาว่ามีจุดร่วมจุดต่างอย่างไร รวมถึงกระแสสังคมจากภายนอกที่แสดงความเห็นก็จะเป็นปัจจัยประกอบในการตัดสินใจด้วย อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ กำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมาธิการฯ ว่าจะแก้ไขตามที่มีการแปรญัตติหรือจะคงตามร่างเดิมก็ได้ เนื่องจากไม่ได้ให้ สปช.ลงมติเป็นรายมาตราเหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ให้ลงมติทั้งฉบับในคราวเดียว

“กรรมาธิการฯ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเดินตามร่างรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น เพราะทุกคนมีจิตใจบริสุทธิ์ที่ต้องการแก้ปัญหาชาติ แม้จะรับประกันไม่ได้ว่าสิ่งที่ออกแบบอยู่ในขณะนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงหรือไม่ แต่ก็ทำเท่าที่สติปัญญาจะมีโดยดูจากพื้นฐานปัญหาของชาติเป็นหลัก จึงเชื่อว่ากรรมาธิการฯ จะไม่เพิกเฉยต่อเสียงสะท้อนของสังคมที่มีเหตุผลอย่างแน่นอน”

สำหรับประเด็นที่คาดว่าจะมีการขอแก้ไขจากกระแสวิจารณ์ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อาทิ ประเด็นที่มาวุฒิสภา กรณีไม่บังคับว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งยังมีแนวคิดสองทาง คือ ควรเป็น ส.ส.หรือไม่เป็นก็ได้แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน รวมถึงระบบเลือกตั้งในแบบผสมที่ให้ประชาชนจัดลำดับบัญชีรายชื่อได้เองเป็นเรื่องที่มีการโต้แย้งอยู่ นอกจากนั้นก็คงเป็นเรื่องการคุ้มครองนายกฯ และครม.มากเกินไปหรือไม่ ในกรณีลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะสภาต้องสิ้นสภาพไปด้วย และการถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจวุฒิสภาที่สามารถริเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ได้ ควรกำหนดเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปหรือไม่

ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง กำหนดบททั่วไปเสมือนคงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ 5 ปีเหนืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น นายคำนูณกล่าวว่า เป็นความเห็นที่กรรมาธิการฯ รับฟัง แต่ที่กำหนดเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้สังคมไทยกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม และอยากเห็นการปฏิรูปเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการสืบทอดอำนาจตามที่มีการวิจารณ์ในขณะนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ แต่ประเด็นสำคัญ คือ รัฐบาลที่บริหารในภาวะที่มีอำนาจพิเศษอยู่ที่ต้องตัดสินใจในเรื่องการปฏิรูปที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น