xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” เผย สปช.ลงมติร่าง รธน. 6 ส.ค. ลั่น ส.ว.ไม่ลากตั้ง ยกรัฐบาลผสมเอื้อปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปะธาน กมธ.ยกร่างฯ รายงานความคืบหน้า รธน.ต่อ สนช. วางเป้าให้ สปช.ลงมติ 6 ส.ค. ยันรับฟังหลายหน่วยงาน ยึดเจตนารมณ์ สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองสะอาด หนุนคุณธรรม นำสู่สันติ แจง ส.ว.ไม่ลากตั้ง เลิกเป็นกระจกส่อง ส.ส. ชี้ที่มาสำคัญน้อยกว่าหน้าที่ เผยให้เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพื่อให้จัด รบ.ผสม เอื้อปรองดอง ไม่ให้ใหญ่คนเดียว

วันนี้ (5 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า กรรมาธิการการฯใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมงซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในวันที่ 17 เม.ย. จากนั้นเดือนพฤษภาคม สปช., ครม. และคสช.สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย จากนั้นเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค.

นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาเป็นการภายใน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานก่อนพิจารณาลงไปในเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลัก คือ 1. สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2. การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3. หนุนสังคมคุณธรรม และ 4. นำชาติสู่สันติสุข

ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ในการร่างการเลือก ส.ว.เราไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกส่อง ส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี 49 ส.ว.200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของ ส.ส. ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหาเพราะพรรคการเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอเขาตั้งตัวได้ ก็มีการแบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย จึงต้องทำให้ ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับ ส.ส. ซึ่งสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ดังนั้นปัจจุบัน ส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม และ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่

“ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม โดยใช้ระบบสัดส่วนผสมกับเขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงต้องกำหนด ส.ส.470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง ทำให้เกิดการพูดคุยของพรรคการเมือง ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ อีกพรรคก็ออกมาบนท้องถนน หรือถ้าอีกพรรคเป็นรัฐบาล อีกพรรคก็ออกมาบนท้องถนนเช่นกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรคการเมือง”


กำลังโหลดความคิดเห็น