“จุรินทร์” พร้อมแนะความเห็น กมธ.ยกร่างฯ อีกครั้ง เป็นรอบที่ 3 หลังเคาะครบมาตรา เล็งชงเรื่องถ่วงดุล กำหนดระยะดำเนินการตรวจสอบ ยับยั้งโกงได้ทัน แต่รับยังไม่เห็นขยับประเด็นนี้ ติงทำพรรคการเมืองอ่อนลง สวนหลัก ปชต.กระทบพัฒนาชาติ จี้นายกฯ คนนอกต้องระบุที่มาให้ชัด
วันนี้ (8 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะสรุปรายละเอียดลงในรายมาตราว่า ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะให้ความเห็นเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อีกครั้งในภาพรวมของรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด หลังจากส่งร่างมาให้พรรคการเมืองตามที่รับปากไว้ ก่อนหน้านี้พรรคได้เคยให้ความเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ให้ความเห็นภาพรวมในนามส่วนตัว และครั้งที่ 2 ตนเป็นตัวแทนพรรคไปให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมือง และในครั้งหน้าจะเป็นการเสนอความเห็นในภาพรวมเพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับปรุง ในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อให้การเมืองระบบรัฐสภาสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ให้สมดุลในการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับส่วนรวม
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนประเด็นที่จะเสนอแนะ เช่น การทำให้ฝ่ายตรวจสอบสามารถถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ศาล รัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการกำหนดเงื่อนเวลาในกระบวนการตรวจสอบเรื่องที่สำคัญ เช่น คดีที่มีการตรวจสอบที่ต้องผ่านรัฐสภา และองค์กรตรวจสอบ เช่น กรณีการถอดถอน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกี่ยวกับการทุจริตซึ่งต้องเกี่ยวกับคดีอาญา ว่าควรต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถระงับยับยั้งได้ทันการ เท่าที่ติดตามกรรมาธิการยกร่างฯ ยังไม่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การช่วยทำให้กลไกที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง คือ พรรคการเมือง ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์พรรคการเมือง แต่เป็นหลักประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะพรรคการเมืองเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน แต่ทิศทางของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับสวนทางที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยในระยะยาว
สำหรับกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น พรรคเคยให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวแล้วว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ ควรต้องมาจาก ส.ส.ที่รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าจะเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นได้ก็ต้องบัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่าเป็นกรณีใดบ้าง หรือกรณีเกิดภาวะวิกฤต ต้องมีการเขียนระบุให้ชัดเจนว่านิยามและความหมายในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างไร