xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” เสนอ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนทำฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกิน ห่วงการตรวจสอบมีปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ (แฟ้มภาพ)
“จุรินทร์” เล็งเสนอ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนการออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินจนเกิดปัญหาการตรวจสอบรัฐบาล ขณะเดียวกันนายกฯ แพ้โหวตญัตติซักฟอกแทนที่จะให้ลาออก กลับกำหนดให้ยุบสภา กังขาการสร้างระบบทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอถูกต้องหรือไม่ ย้อนถามตั้งกรรมการปรองดอง เป้าหมายคืออะไร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าตนมีประเด็นอยู่ 2 ประเด็นหลักที่ตนจะให้ความเห็นกับทาง กมธ. คือ 1. เรื่องของปัญหาของระบบรัฐสภาในช่วงรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และฉบับ 2550 ที่ผ่านมา ปัญหาคือรัฐธรรมนูญเหล่านี้ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งมากเกินไป แต่ระบบตรวจสอบไม่สามารถจะถ่วงดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ปัญหาก็เกิดจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตนอยากจะให้ทบทวนในเรื่องเหล่านี้ ที่ผ่านมามีตัวอย่างเช่นเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งถือเป็นมาตรการการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่รุนแรงและสูงสุดของฝ่ายถ่วงดุล แต่กลายเป็นว่าทาง กมธ.กลับระบุว่าถ้าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในกรณีใดก็ตาม ถ้านายกรัฐมนตรีแพ้เสียงในสภา แทนที่จะให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งเพราะทุจริต กลายเป็นว่าสภาต้องถูกยุบไปด้วย หรือในการพิจารณาถอดถอนการทุจริตในสภา เดิมนั้นให้ทางวุฒิสภาเป็นผู้ลงมติถอดถอนโดยใช้เสียง 3 ใน 5 แต่ว่าในระบบใหม่นั้นเป็นระบบที่จะให้พิจารณาร่วมกันระหว่าวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ถ้าเป็นกรณีที่สภาผู้แทนฯ เข้ามาพิจารณานั้นก็จะกลายเป็นว่าเป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหาร และในรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารก็มีจำนวนมากกว่าอยู่แล้ว หมายความว่าฝ่ายบริหารจะถูกถอดถอนยากขึ้น แต่ฝ่ายที่จะถูกถอดถอนได้ง่าย คือ ฝ่ายค้าน เพราะมีเสียงน้อยกว่าในสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ตนอยากให้ดูให้รอบคอบว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะให้ทั้งสองสภาพิจารณาร่วมกัน หรือควรเป็นเรื่องของวุฒิสภาเช่นเดิม เพียงแต่การกำหนดเสียงจะกำหนดกันอย่างไรก็จะต้องไปดูความเหมาะสมและควรจะเป็นต่อไป

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องการที่ทำให้พรรคการเมืองซึ่งถือเป็นกลไกหลักของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกอ่อนแอลง ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ตนจะนำไปเสนอเพื่อให้ทบทวนว่าหลักที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงมันถูกหรือผิด หรือควรทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งใช่หรือไม่ เพราะจะได้เป็นกลไกหลักในระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยึดถือกันแบบนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองหรือไม่ว่าตอนนี้มีการออกแบบโดยการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาอาจจะเกิดจากการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 จนนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ และหากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือปี 2557 และยังเกิดการไม่ยอมรับ ตรงนี้จะมีการเสนอกลไกในเรื่องนี้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า กมธ.ก็จะต้องมีหลักยึดอย่าไปกังวลว่าถ้าเขียนเหมือนเดิมหรือประเด็นใดที่ซ้ำหรือไม่มีประเด็นใหม่แล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ดี คงไม่ใช่ เราต้องยึดหลักว่ามันเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้หรือไม่ และไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสนองปัญหาเฉพาะกิจควรที่จะเป็นไปเพื่อหลักประชาธิปไตยและไม่ต้องกังวลว่าจะมีของใหม่เพิ่มขึ้นมา อะไรที่ดีอยู่แล้วให้รักษาไว้ อะไรที่จำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติมก็ว่ากันไป และไม่ควรถอยหลังกลับไป จากประเด็นที่ผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นปัญหาในอดีต ไม่ควรเอาหลักนั้นมาใช้อีก มิฉะนั้นจะกลายเป็นการย้อนกลับไปสร้างปัญหาเดิมให้เกิดขึ้นในยุคใหม่หรือในยุคต่อไปหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ตรงนี้ต้องดูให้รอบคอบ

ต่อข้อถามว่า ตอนนี้มีความคิดจะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ รวมถึงการพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ ดูว่าเป็นการผูกปมปัญหาใหม่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนยังไม่อยากให้ความเห็นเรื่องกรรมการปรองดอง แต่ กมธ.จะต้องตอบคำถามก่อนว่าเป้าหมายที่มีความคิดเบื้องต้น การให้มีกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมา เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร และเพื่อแก้ปัญหาอะไร เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวหรือระยะสั้น เฉพาะกิจ เฉพาะตัวบุคคลหรือบางคน ถ้าเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะกิจของตัวบุคคลบางคนก็มีความจำเป็นหรือไม่ถึงขั้นที่จะต้องไปบรรจุในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าสมมติมองว่าปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความไม่ปรองดองจะเกิดไปชั่วฟ้าดินสลาย หรือถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะต้องดูกันอีกครั้งว่ามีความจำเป็นจะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น อันนี้ก็เป็นหลักคิดเบื้องต้นที่คิดว่า กมธ.จะต้องไปดูให้เรียบร้อย และจะมีคำตอบตามมาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น