xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ถกเว้นวรรค 2 ปี! กมธ.ยกร่างฯ ผ่านเฉพาะกาลให้องค์กรอิสระอยู่จนครบวาระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ แขวนข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี “บวรศักดิ์” เผยพรุ่งนี้คุยลับ คาดให้ สนช.- สปช. อยู่หลังมี รธน. ใหม่ 6 เดือนจนกว่าได้ ส.ส. ระบุบทเฉพาะกาลผ่านวันนี้ให้ กกต. ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ต่อจนครบวาระ ส่วนผู้ตรวจการ และ กสม. ให้อยู่จนครบ แต่รวมกันในองค์กรใหม่ พบ 2 ตุลาการฯ 5 ป.ป.ช. หมดวาระปีนี้ ส่วน ปธ. ศาลปกครองสูงสุด อาจต้องหมดวาระทันที เหตุอายุเกิน 65 ปี

วันนี้ (5 มี.ค) ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอห้ามแม่น้ำทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย คสช. ครม. สนช. สปช. รวมทั้ง กมธ. ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ที่ประชุมก็ยังไม่ได้หยิบยกมาพิจารณา เนื่องจากในส่วนการทำหน้าที่เพื่อให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่สำคัญเพื่อดำรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะผูกพันถึงการทำหน้าที่ชั่วคราวของทั้ง สปช. สนช. และ กมธ. ยกร่างฯ ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ควรจะเป็นระยะเวลาแค่ไหน จึงจะเพียงพอที่จะให้กฎหมายที่สำคัญเหล่านี้ได้ผ่านการเห็นชอบเป็นกฎหมายออกมามีสภาพบังคับ แต่สุดท้ายก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงแขวนทั้งมาตรา รวมทั้งข้อเสนอของ นายเจษฎ์ ไว้พิจารณาวันต่อไป

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม ว่า ในการประชุมวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) ขอเป็นการพิจารณาภายในเฉพาะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วร่างที่ฝ่ายเลขานุการเสนอมา ต้องการให้ สนช. อยู่ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. และดำเนินการให้ได้ ส.ว. ครบถ้วนแล้ว ซึ่งหมายถึงประมาณ 8 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ ในขณะที่เบื้องต้นจะให้ สปช. ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือราว 6 เดือนหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ เพื่อให้ทั้ง สนช. และ สปช. ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปไปก่อน ส่วน กมธ. ยกร่างฯ นั้น มีข้อเสนอว่าอาจไม่จำเป็นต้องดำรงต่อหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพียงแต่อาจให้บางส่วนไปทำหน้าที่เป็น กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ที่ สนช. จะพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ จะไปหาข้อยุติในการประชุมวันพรุ่งนี้เช่นเดียวกัน

มีรายงานด้วยว่า ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. ยกร่างฯ ในวันนี้ ยังมีสาระสำคัญที่กำหนดถึงความต่อเนื่องของกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ทั้ง กกต. ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระที่มีอยู่เดิม ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิ์ ซึ่งผนวกรวมเป็นผู้ตรวจการและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ก็ให้ผู้ตรวจการฯ และ กก.สิทธิ์ เดิมดำรงตำแหน่งต่อไปตามวาระที่เหลืออยู่ แต่เปลี่ยนให้มาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแทน โดยผลจากบทเฉพาะกาลดังกล่าว ส่งผลให้ตุลาการศาล รธน. ปัจจุบัน 9 คน มี 2 คนที่จะพ้นวาระในปี 2558 ได้แก่ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ครบอายุ 70 ปี ในเดือน ส.ค. นายสุพจน์ ไข่มุก ครบอายุ 70 ปี ในเดือน ก.ย. จึงต้องดำเนินสรรหาแทนใน 60 วัน

ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. จะครบอายุ 70 ปี ในวันที่ 5 พ.ค. นายประสาท พงศ์สิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี จะครบวาระวันที่ 6 ต.ค. ทั้ง 5 คนนี้ ก็จะต้องสรรหาใหม่ใน 60 วัน สำหรับ กกต. ทั้งคณะจะครบวาระ 7 ปี ในปี 2563 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศาวรางกูร ครบวาระ 6 ปี 6 เม.ย. 2559 พล.อ.วิทวัช ครบวาระปี 2563 กก.ตรวจเงินแผ่นดินครบ 3 ปี ในปี 2560 กก.สิทธิ์ ครบวาระวันที่ 25 มิ.ย. 2558 นี้ ซึ่งถ้าผนวกรวมเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะอยู่ต่ออีกระยะ ถ้าไม่ผนวก สนช. ก็จะเลือก กก.สิทธิมนุษยชน ขึ้นมาแทนที่ชุดใหม่ และเมื่อกรรมาธิการเห็นควรไม่ต้องมีบทเฉพาะกาลสำหรับอายุการเป็นผู้บริหารศาล ที่ลดจาก 70 ปี เหลือ 65 ปี โดยจะมีผลบังคับทันทีที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 ปีเศษ และปัจจุบันอายุ 66 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดทันทีที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น