xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ฯชงลดหน่วยงานภูมิภาค บริหารไม่คล่องตัว-ทุจริตมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (6 พ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณารายงานของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพิจารณา วาระที่ 3 การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น โดย นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกมธ. กล่าวรายงานว่า สาระสำคัญของปัญหาของการบริหารราชการไทย พบว่า มีโครงสร้างส่วนราชการจำนวนมาก มีกระทรวงจำนวน 20 กระทรวง มีหน่วยราชการระดับต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค จำนวน 11,965 หน่วย และมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ 58 หน่วยงาน และ องค์กรมหาชน 53 หน่วยงาน ทำให้การทำงานมีขั้นตอนจำนวนมาก การทำงานล่าช้า ไม่คล่องตัว และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อบกพร่อง และนำไปสู่การทุจริตประพฤติมิชอบได้ง่าย ขณะที่ภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการ พบว่า ซ้ำซ้อนทั้งระหว่างกรมภายในกระทรวงด้วยกันเอง และมีความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีข้อเสนอที่สำคัญ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง การมีหน่วยงานไปอยู่ในภูมิภาคจำนวนมาก ต้องทบทวน และปรับปรุงหน่วยงานดังกล่าว โดยให้ยุบ หรือปรับลดหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลาง ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคให้เหลือเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจ ให้เหลือเฉพาะงานที่ไม่สามารถมอบให้ภูมิภาค หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ดำเนินการแทนได้ เช่น งานวิจัยและพัฒนา งานบริการทางวิชาการที่มุ่งบริการให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือประชาชนส่วนรวมในกลุ่มเขตจังหวัด
สำหรับแนวทางปฏิรูปราชการบริหารส่วนกลางนั้น ควรกำหนดบทบาท และหน้าที่เป้าหมายในการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึง กำกับและประเมินผล ในส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค ต้องกำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเรื่องความมั่นคง ความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และรับผิดชอบการบริหารราชการตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีฐานะเป็นตัวแทนราชการบริหารส่วนกลาง ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ให้มีภารกิจเกี่ยวกับการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ
นอกจากนี้ ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ สามารถจัดเก็บภาษี หารายได้ และก่อนหนี้ได้ภายใต้ระเบียบที่ส่วนกลางกำหนด ทั้งนี้ ในราชการส่วนท้องถิ่น ต้องเปิดโอกาสให้สมัชชาพลเมืององค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ มีกระบวนการสื่อสาร และรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานภาครัฐ

** จี้แก้ปัญหาทุจริตในวงราชการ

จากนั้น เข้าสู่วาระการปฏิรูปที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ โดย นายอุดม ทุมโฆษิต สมาชิกสปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานอนุกมธ. กล่าวรายงานว่า อัตราการทุจริตมีสูงมากจน เป็นที่น่ากังวล ความด้อยประสิทธิภาพของข้าราชการไทย ส่งผลให้นานาชาติ ไม่ยอมรับประเทศไทย ยกตัวอย่างกรณีไม่รับรองมาตรฐานคุณภาพในการดำเนินงานทางด้านการบิน (ICAO) อีกทั้งยังได้ใบเหลือง จากสหภาพยุโรป (EU)ในกรณีที่ทำประมงผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งได้รับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ ให้อยู่ในเทียร์ 3 โดยสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น หากระบบข้าราชการไทยยังคงมีความอ่อนแออยู่เช่นนี้ และไม่ได้รับปรับปรุงแก้ไข ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงไป ในที่สุดก็จะทำให้ประสิทธิภาพของรัฐตกต่ำไปเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะนำไปสู่หายนะของรัฐ
"เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูป โดยกมธ.ได้วางกรอบแนวคิดให้ครอบคลุมใน 3 ส่วน คือ 1. เป้าหมายของชาติระยะยาว ได้แก่ ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน 2. เป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน และหลักธรรมาภิบาล ที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และ 3. องค์กรต่างๆ ของชาติ ได้แก่ องค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาชน ซึ่งมีหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการในส่วนของการปฏิรูปองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่ำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกการขับเคลื่อนของรัฐ เพื่อยกระดับองค์กรให้มีมาตรฐานการบริหารและการดำเนินงานให้สูงขึ้น" นายอุดม กล่าว
จากนั้น สมาชิกสปช.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขว้าง ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การปรับโครงสร้าง ว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะนำประเทศไปสู่สันติสุข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในทุกภาคส่วน ในการบริหารงาน ว่าควรทำอย่างไร ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการบูรณาการ การทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และระบบราชการมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดที่จะเปลี่ยนแปลง และสนับสนุน ให้มีการปรับอำนาจ จากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค ไปสู่ท้องถิ่น ให้มากขึ้น โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ให้ร่วมกันคิดร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการบริหารแบบสมานฉันท์เกิดความปรองดองขึ้น จากนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานสปช.คนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 16.40 น.

** เวทีเผยแพร่รธน.อยุธยาคึกคัก

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวที "เผยแพร่ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน" เป็นจังหวัดที่ 3 ในทั้งหมด 12 จังหวัด 12 เวที โดยจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา มีประชาชนเข้าร่วมฟังกว่า 4,000 คน โดยมีนายประชา เตรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานจัดงาน วิทยากรประกอบด้วย นายปรีชา วัชราภัย รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ รวมทั้ง นางกอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล สปช. อยุธยา
พล.อ.เลิศรัตน์ ได้แจกแจงว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีกรอบจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โดยเฉพาะ มาตรา 35 โดยบัญญัติให้เน้นกลไกป้องกันนักการเมืองที่ทุจริต ป้องกันนโยบายประชานิยม สร้างกลไกตรวจสอบ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ ถูกกล่าวขวัญถึงหลายมุมมอง บางท่านก็ว่ายาวมาก มีกฎกติกาใหม่ๆ มีองค์กรใหม่หลายองค์กร เหตุผลคือ เมื่อย้อนหลังไปหลายปี บ้านเมืองเกิดปัญหาความขัดแย้ง จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป และการปรองดอง ทำให้ต้องมีภาคการปฏิรูป และการปรองดอง 2 หมวด และเมื่อร่างเสร็จ เราก็พบว่ามีเนื้อหาหลัก 4 ส่วน คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองสุจริตและสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมสันติสุข
ส่วนประเด็นที่มีการเน้นย้ำในเวทีนี้ คือ ความห่วงกังวลว่าจะมีการเข้าใจผิด ว่าจะมีการยุบผู้ว่าราชการจังหวัด ยุบเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่ หรือยุบเลิก อบต. อบจ. โดยนายปรีชา วัชราภัย รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า เป็นการปรับรูปแบบโครงสร้างการบริหารให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ได้ไปยกเลิกหน่วยงานใด ในโครงสร้างการปกครองทั้งสิ้น
นายคำนูณ กล่าวถึงสาระในส่วนของการปฏิรูป และการสร้างปรองดอง ว่า บ้านเมืองเราตอนนี้เหมือน เรือไททานิก เจอกับภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ จากความขัดแย้งที่แบ่งเป็นกลุ่มเหล่า ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยมีรากฐานมหึมาที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ คือ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ทุกกลุ่มที่ออกมาประท้วง จึงเรียกร้องตรงกันว่า จะต้องมีการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 จึงกำหนดว่า ต้องเน้นลดความเหลื่อมล้ำ เพราะบ้านเมืองจะกลับมาขัดแย้งจนหยิบอาวุธมาฆ่าฟันกันไม่ได้อีกแล้ว

** พวกกลัวการตรวจสอบเป็นวัวสันหลังหวะ

นายประชา กล่าวว่า ต้นน้ำวิกฤติของบ้านเมืองอยู่ที่การคอร์รัปชัน การทุจริตการเลือกตั้ง และปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน เราเคยให้โอกาสนักการเมืองมา 82 ปีแล้ว แต่ไม่เคยใช้อำนาจเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มีแต่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เราจึงต้องยกระดับของประชาชนมาเป็นพลเมือง เพราะประชาชนในท้องถิ่นรู้แก่ใจดีว่า ในพื้นที่ใครโกง ใครสุจริต จึงได้ออกแบบให้ประชาชนในท้องถิ่น เป็นยามเฝ้าเหตุ เป็นสมัชชาพลเมือง เป็นองค์กรตรวจสอบภาคพลเมือง และไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น แต่ตรวจสอบไปถึงข้าราชการด้วย
" ที่ออกมาโวยวายว่า มีองค์กรตรวจสอบเยอะแยะทำไม เป็นพวกวัวสันหลังหวะ ถามว่าคนสุจริตกลัวทำไมการตรวจสอบ" นายประชากล่าว
นายประชา กล่าวอีกว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ สามัคคีกันมาก เพราะกลัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดทางให้ชาวนาทั่วประเทศ ชาวส่วนยางทั่วประเทศ จับมือกันจดทะเบียนกับ กกต. เป็นกลุ่มการเมืองได้
ในช่วงของการแสดงความคิดเห็น และตอบคำถามประชาชนนั้น นายกล้าณรงค์ อาจหาญ ผู้ใหญ่บ้าน อ.ท่าเรือ สอบถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ม. 285 และ ม.82(3) เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง จะกระทบกับผู้ว่าฯ นายอำเภอ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำให้หายไปในวันเดียวหรือไม่
นายปรีชา ชี้แจงว่า เป็นเรื่องการปกครองท้องถิ่น ไม่เกี่ยวกับราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องที่ ซึ่งยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ยังมีผู้สอบถามเรื่องการทำประชามติ โดย พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวตอบว่า เรื่องประชามติ ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงไม่เกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างฯ แต่หากครม. หรือคสช. เห็นควรทำ ก็เป็นเรื่องของท่าน ซึ่งแนวโน้มจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน หากต้องทำประชามติ และใช้เวลา 3 เดือนเศษ ให้ประชาชนศึกษาเนื้อหาก่อนลงประชามติ
นายประชา กล่าวว่า ตนในฐานะคนมหาดไทย ขอยืนยันว่า ระบบการปกครองของไทยมีรากเหง้า คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องให้อาณาจักรเป็นหนึ่งเดียว และตนจะไม่ทรยศต่อรากเหง้าดังกล่าว
นอกจากวิทยากรที่เป็น กมธ. ยกร่างฯ จะบอกเล่าสาระสำคัญหลักๆ ของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีแบบสอบถามหนึ่งแผ่น ให้ผู้เข้าร่วมกรอก โดยในส่วนของความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีคำถามที่น่าสนใจ อาทิ จุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม เห็นชอบกับการจะมีประชามติ หรือไม่ ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ หรือ หน้าที่ และให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในระหว่าง 0 –10 คะแนน
นายสิริพงษ์ พงษ์พานิชย์ ผอ.เลือกตั้ง กกต. อยุธยา เปิดเผยด้วยว่า นอกจากเวทีระดับจังหวัด 12 เวทีทั่งประเทศแล้ว แต่ละจังหวัดยังมีเวทีย่อยระดับอำเภอ อย่างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะมี 11 เวที ใน 16 อำเภอ เชิญประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเวทีละ 80 –120 คน ว่าเห็นอย่างไรกับแนวทางการปฏิรูป 18 ด้าน โดยเวทีระดับอำเภอดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วม สปช. ที่มีนายประชา เตรัตน์ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน
"ที่ผ่านมาจัดไปแล้ว 5 เวที มีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความต้องการให้แก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง โดยเสียงชาบ้านบอกว่าอยากให้ กกต. มีอำนาจจัดการการทุจริตการเลือกตั้ง อย่างเด็ดขาด เช่น ตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ยึดทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งต้องการให้ทุกส่วนราชการ มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง นอกนั้น เป็นเรื่องความเดือดร้อนใกล้ตัว เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินการเกษตรเป็นต้น" นายสิริพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น