รบ. หวั่นกระทรวงติดปัญหาทำงานยากจากร่าง รธน. สั่งเสนอความเห็นปัญหาติดขัดให้ ครม. ภายในวันที่ 14 พ.ค. ก่อนคัดเฉพาะที่เป็นประโยชน์ส่ง กมธ.ยกร่างฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการให้แต่ละกระทรวงเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญส่งมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กำหนดยื่นคำขอแปรญัตติคือ ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. - 25 พ.ค. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งให้แต่ละกระทรวงส่งความเห็นมายังตนภายในวันที่ 14 พ.ค. โดยการให้ความเห็นสามารถเสนอมากี่มาตราก็ได้ เพียงแต่กำชับว่าเวลาส่งความเห็นไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงตัวเองเสมอไป หากพบอะไรแปลกๆ ในร่าง รธน. สามารถส่งมาได้ และต้องทำใจว่า สิ่งที่ส่งมาไม่ใช่ว่า ครม. จะส่งไปยัง กมธ. ยกร่างฯ ทั้งหมด เพราะต้องร่อนตะแกรงจะเอาเฉพาะที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะมีเรื่องอะไรที่จะยื่นคำขอแปรญัตติบ้าง ส่วนการยื่นคำขอแปรญัตติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เวลานั่งทำงานจะแยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะมานั่งด้วยกัน
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า วันนี้คนที่นั่งดูร่าง รธน. ทั้งหมดชุลมุนกันอยู่เรื่องเลือกตั้ง เรื่องภาคการเมือง เรื่องนายกฯคนนอก ซึ่งก็ดี เป็นการไปดูจุดใหญ่ๆ แต่ปัญหาคือจุดเล็กๆ ไม่มีคนช่วยดู จึงอยากให้กระทรวงช่วยดูว่าคนที่จะมาเป็นรัฐบาลครั้งหน้าจะทำงานลำบากยากเย็นหรือไม่ เพราะไม่มีใครดู ถ้าวันนี้ไม่มีใครดูวันหนึ่งพรรคการเมืองต่างเข้ามาอาจบอกว่าทำงานไม่ได้ เพราะติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วจะมีการดิ้นรนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้กระทรวงช่วยดูเกี่ยวกับการบริหารราชการในอนาคตจะติดขัดอะไรหรือไม่ เป็นการคิดเผื่อรัฐบาลหน้า ไม่ได้คิดให้รัฐบาลตัวเอง เพราะไม่ได้อยู่ต่อไปจนถึงตรงนั้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ แต่ละกระทรวงเอง มีสิทธิเสนอความเห็นในส่วนขององค์กรอิสระได้ เพราะบางทีคนในกระทรวงเก่งด้านนี้
“วันนี้ผมดูคร่าวๆ พบว่า ในร่างรัฐธรรมนูญบางทีคนที่มาเป็นรัฐบาลหน้าอาจจะเกิดปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้าย หรือปัญหาเวลาจะเสนอโครงการต่างๆ หรือปัญหาเรื่องการเงินการคลัง ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯเขียนไว้ดี แต่เราอยากจะรู้ว่าเมื่อกระทรวงดูแล้วอึดอัดอะไรบ้าง อยากให้บอกมา บางทีเจตนาของ กมธ. ยกร่างฯ อาจจะเขียนไว้ดี แต่ถ้อยคำอาจจะมัดจนกระทั่งสุดท้ายถูกตีความจนเกินกว่าที่ กมธ. ยกร่างฯคิด จึงเป็นโอกาสที่จะขอแก้ให้มันเบาลงเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ กมธ. ยกร่างฯ คิด” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามถึงเรื่องการทำประชามติ รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีใครพูด แต่ตาม รธน. ชั่วคราวปี 57 หากจะแก้ไข รธน. ชั่วคราวกำหนดให้ คสช. เป็นคนเสนอแก้ไข โดยจะถามมาที่ ครม. ด้วย หากเห็นชอบกันก็จะเสนอแก้ไขไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ การตัดสินใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติหรือไม่นั้น ไม่ต้องหารือร่วมกับแม่น้ำ 5 สายก่อน เพราะเวลาเสนอแก้ไขจะเสนอเข้าไปที่ สนช. ถ้า สนช. มาร่วมคิดตั้งแต่แรก สนช. ก็จะไม่อิสระในการคิดแก้หรือไม่แก้ เพราะอำนาจแก้สุดท้ายมันอยู่ที่ สนช. โดยระยะเวลาในการแก้ไข คือ 15 วัน ถึง 1 เดือน