xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” แนะอย่านำระบบ ขรก.มาใช้ใน รธน. - “ดิเรก” เหน็บนายกฯ คนนอกเปิดช่องอำนาจพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต่อเนื่องอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ “รสนา” ชี้ไม่ควรนำระบบข้าราชการมาปรับใช้ ตั้งกรรมการคัดสรรข้าราชการระดับสูงสุดโต่งเกินไป ส่วนที่มา ส.ว. สรรหา คัดแล้วคัดอีกก็ยังมีซื้อเสียงในองค์กรวิชาชีพ แนะต้องมีอำนาจน้อย แยกเรื่องปิโตรเลียมสิทธิประชาชน ด้าน สปช. ลำพูน กังขาใช้คำหลายอย่างในกฎหมายเดียวกันทำสับสน ทำไมรากหญ้าสัดส่วน ส.ว. น้อยกว่าทหาร และอดีตสีกากี เลือก ส.ส. แนะใช้ระบบปาร์ตีลิสต์ปี 50 ด้าน “ดิเรก” เหน็บนายกฯ คนนอกขัดมาตรา 3 เปิดช่องอำนาจพิเศษกดดัน แนะแบบขอไปทีให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ ถ้าโกงให้เปิดแผลไปเรื่อยๆ ปล่อยประชาชนพิจารณาเอง

วันนี้ (21 เม.ย.) การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จแล้วในวันที่สอง ได้เข้าสู่การอภิปรายในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่และระบบผู้แทนที่ดี โดยเป็นการอภิปรายของตัวแทนประธานคณะ กมธ. ของ สปช. โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช. กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการคอร์รัปชันต่ำ แต่มีการกระจายอำนาจสูง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขปัญหาของประเทศ แต่กลับสร้างพรรคการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ชักนำกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำการเมือง เรียกว่า “ทุนสามานย์” จนนำไปสู่การรัฐประหาร

คณะ กมธ. ยกร่างฯ จึงได้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมทางการเมือง โดยโครงสร้างและกลไก คือ การจำกัดอำนาจของนักการเมือง โดยนำระบบราชการมาถ่วงดุลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่าข้าราชการจะถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนหรือไม่ ดังนั้น ตัวบ่งชี้การเมืองที่ดีจะต้องมีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย ไม่ใช่การนำระบบข้าราชการมาปรับใช้ เพราะจะกลายเป็นอำมาตยาธิปไตยที่ประชาชนเบื่อหน่าย

“มาตรา 207 การตั้งกรรมการคัดสรรข้าราชการระดับสูงนั้น สุดโต่งเกินไป ควรติดฝ่ายการเมือง อาจบัญญัติให้รัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ถ้ายึดระบบคุณธรรม ไม่ใช่อาศัยเพียงอดีตข้าราชการระดับสูงมาคัดสรร แต่ควรฟังเสียงประชาคมในแต่ละกระทรวงด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

นอกจากนี้ ในมาตรา 172 ระบุให้บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องอาศัยเสียงสภาเกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบุคคลภายนอกจะต้องอาศัยเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 แต่ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งควรได้รับการโหวตเลือกก่อน ทั้งนี้ ในมาตรา 173 ระบุว่า ถ้าเสียงไม่ถึงที่กำหนด ให้ประธานสภา นำชื่อบุคคลที่ได้เสียงมากที่สุดทูลเกล้าฯ ซึ่งประเด็นนี้อาจไม่แก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น เพราะอดีตบุคคลที่ได้รับการโหวตจาก ส.ส. ในสภา เป็นบุคคลที่ประชาชนไม่ยอมรับ

สำหรับวิธีการเลือกตั้งที่คณะ กมธ. ยกร่างฯ ออกแบบมาหลากหลาย เพื่อป้องกันการซื้อเสียง โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว. เช่น กำหนดโควตาจากการเลือกกันเองของสภาวิชาชีพ ที่มีจำนวนไม่เกิน 30 องค์กร ซึ่งอาจมีการซื้อเสียงได้ แม้แต่การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังมีการซื้อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธหาก ส.ว. จะมาจากการสรรหาทั้งหมด แต่จะต้องมีอำนาจน้อย เพราะจะเกิดคำถามตามมาว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสามารถออกกฎหมาย อีกทั้งยังสามารถถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับตัดขาดตัวแทนของประชาชนในสภา และฝ่ายบริหาร

นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังเสนอ คณะ กมธ. ยกร่างฯ ได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งตนเสนอว่า ควรแยกเรื่องปิโตรเลียมไว้ในส่วนของสิทธิของประชาชน เพราะมีมูลค่าปีละกว่า 5 แสนล้านบาท จึงควรได้รับการบริหารจัดการอย่างดีโดยรัฐ

ด้าน นายทรงชัย วงสวัสดิ์ สปช. ลำพูน กล่าวว่า มีคำกล่าวโบราณเอาไว้ว่า “สร้างบ้านต้องตามใจผู้อยู่ สร้างอู่ต้องตามใจผู้นอน” การเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับคนไทยทุกคน ต้องดูบริบทของสังคมไทย และสิ่งที่ตัวเองติดใจ คือ คำที่ยามขึ้นมา เช่น คำว่าประชาชนที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 และมาตรา 215 กับคำว่าพลเมืองในมาตรา 96 และราษฎรในมาตรา 104 บุคคลในมาตรา 108 - 111 และปวงชนชาวไทยมาตรา 131 และมาตรา 3 ตนมีข้อสังเกตว่าการใช้ถ้อยคำหลายๆ อย่างในกฎหมายเดียวกัน สร้างความสับสน และก็จะเป็นเหตุตีความของคำจำกัดความแต่ละด้าน และจะมองว่าคำต่างๆกันเหล่านี้ตีความอย่างไร

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ เคยให้ความเห็นเรื่องนี้ ว่า “พลเมืองก็คือประชาชนที่มีสัญชาติไทย เป็นพลังมาจะขับเคลื่อนให้ประเทศชาติมีความก้าวหน้า ส่วนคำว่าประชาชน หมายความบุคคลมาอยู่ในประเทศไทย ที่จะมีหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม” หากเป็นเช่นนี้ หากใช้คำว่าประชาชน จะทำให้บุคคลที่มีสัญชาติอื่น ที่เข้ามาอาศัยถือเป็นประชาชน จะมีปัญหาต่อในอนาคต อย่างเช่น มาตรา 215 ท่านไปให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอน ฝ่ายบริหาร ตรวจสอบ เสนอข้อบัญญัติในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ดังนั้น คนต่างด้าวที่มาอยู่ในท้องถิ่นนั้นก็สามารถถอดถอนผู้บริหารดังกล่าวได้ หรือ ประชาชนสัญชาติอื่น อาจเสนอญัตติสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติเขาในท้องถิ่นของไทยได้ด้วยหรือไม่

นายทรงชัย กล่าวต่อว่า ในมาตรา 121 ในเรื่องของ ส.ว. ที่แบ่งที่มา 5 ส่วน ไม่เกิน 200 คน ส่วนที่ 1 คือ เคยเป็นอดีตข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า 10 คน และข้าราชการทหาร ระดับปลัด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้เลือกกันเองประเภทละไม่เกิน 10 คน รวม 20 คน ขณะที่ผู้แทนวิชาชีพด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรถือเป็นบุคคลจำนวนมากของประเทศ แต่กำหนดให้กลุ่มวิชาชีพด้านนี้มีไม่เกิน 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นๆ ไม่เกิน 58 คน ที่มาจากจังหวัดอีก 77 คน ตนอยากถามว่าการกำหนดจำนวน ส.ว. ใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสิน และอยากถามว่าทำไมเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำไมได้สัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับอดีตข้าราชการพลเรือนและทหาร

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกประชาชนเป็นใหญ่ เวลาจะเลือก ส.ว. จึงถูกจำกัดโดยคนไม่กี่คน เช่น ส.ว. เลือกตั้ง 77 คน ที่ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองให้เหลือ 10 คน ก่อนไปให้ประชาชนเลือก ผมสอบถามว่าการเลือกหรือกลั่นกรอง ใครเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสิน และเมื่อกลั่นกรองแล้ว ผู้ที่ถูกตัดออก เขามีสิทธิฟ้องร้องได้หรือไม่ เรื่องเหล่านี้อยากจะสอบถาม กมธ. ยกร่างฯ” นายทรงชัย กล่าว

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ (โอเพนลิสต์) เมื่อพรรคได้กำหนดผู้สมัครไว้แล้ว เหตุใดต้องให้ประชาชนมาเลือกอีกที ตนเข้าใจที่ กมธ. ยกร่างฯ อ้างว่าประชาชนเป็นใหญ่ และมีสิทธิเลือกผู้แทนของตัวเอง เนื่องจากระบบนี้ได้แบ่งเป็น 6 ภาค เช่น จังหวัดลำพูน ก็อยู่ใน 1 ภูมิภาค ที่ประกอบไปด้วยหลายจังหวัด ซึ่งคนในหลายจังหวัด ก็ไม่ทราบว่าผู้สมัครคือใคร แต่พรรคการเมืองที่กำหนดนั้นเขาเห็นแล้วว่า บุคคลใดสมควรจะอยู่ในลำดับที่เท่าใดที่เหมาะสม อีกทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความแตกแยกจำนวนมาก ถ้าเราให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกอีก จะทำให้ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อต่างคนต่างแยกกันไปหาเสียง ก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งในพรรค และนำมาซึ่งปัญหาที่จะต้องมาสร้างความปรองดองกันต่อไป และควรกลับไปใช้รูปแบบบัญชีรายชื่อแบบรัฐธรรมนูญปี 2550

นายทรงชัย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ นายกฯ เป็นการตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทำไมในมาตรา 181 ให้นายกฯ ยื่นขอความไว้วางใจในการบริหารประเทศ ถ้าสภาไม่ไว้ว่าง ก็ต้องยุบสภา และมาตรา 182 ให้รัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายฉบับท้าทาย เพราะรัฐบาลก็ขอความไว้วางใจเช่นกัน และหากกฎหมายไม่ผ่านรัฐบาลยุบสภาได้ แต่หากไม่มีใครคัดค้าน กฎหมายก็ผ่านไปได้เลย ตนอยากบอกว่า คนที่เป็น ส.ส. เหนื่อย ไม่มีใครอยากยุบสภา และอยากอยู่จนครบวาระ ไม่มี ส.ส. คนไหนไม่ไว้วางใจนายกฯ ดังนั้น การตรวจสอบฝ่ายบริหารจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะที่มาตรา 183, 184, 185 การสิ้นสุดของนายกฯ และ ครม. ทั้งคณะ ที่เป็นปัญหาของรัฐบาลที่แล้ว จนนำมาซึ่งรัฐประหาร กมธ. ยกร่างฯ กลับไม่แก้ปัญหาเลย

ทั้งนี้ ยิ่งเห็น สปช. หลายคน ตั้งข้อสังเกตนักการเมืองทั้งที่ทุกอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และพระสงฆ์ เหตุใดจึงซ้ำเติม เหมือนพบปลาเน่าในข้องหนึ่งตัวก็หยิบออก ปลาอื่นในข้องจะได้ไม่เน่า เห็นจึงคิดว่าเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แทนที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย เหตุใดเราจึงไม่ส่งเสริมให้คนดีมาบริหารบ้านเมือง โดยสร้างกระบวนการตรวจสอบฝ่ายการเมืองให้เข้มแข็ง เพราะตนก็เป็นนักการเมือง ตั้งแต่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.จ.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ส.ส. ส.ว. จนมาเป็น สปช. จึงขอให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองด้วย

จากนั้นเวลา 17.00 น. นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. นนทบุรี ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า อำนาจของประชาชนที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่สิทธิที่แท้จริงตามนิยามและปรัชญาของ นายอับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะอำนาจที่แท้จริง ได้เขียนไว้ในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ปรากฏว่า ที่มาของอำนาจ กมธ. ยกร่างฯ ไม่ได้ให้ประชาชนมีอำนาจเลือกผู้ปกครองของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด โดยประชาชนมีอำนาจหลักๆ คือ เลือกและถอดถอนผู้มีอำนาจของเขาเองได้ ฉะนั้น มาตรา 172 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก จะนำไปเปรียบเทียบกับมาตรา 3 ไม่ได้ หรือจะเปรียบเป็นอำนาจของประชาชนไม่ได้

ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะมาจากคนนอก เพราะการกำหนดให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ ไม่มีใครเชื่อว่า กมธ. ยกร่างฯ ต้องการใช้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อยามบ้านเมืองเกิดวิกฤต แต่จะกลายเป็นการเปิดให้อำนาจพิเศษมากดดัน และที่สุดจะมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วย หาก กมธ. ยกร่างฯ จะเปิดช่องให้มีการแก้วิกฤตของบ้านเมือง ซึ่งอาจจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลก็ได้

ส่วนการตั้งโจทย์ว่าไม่ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งเกินไป เป็นสิ่งที่ผิด เพราะหมายความว่า คนที่จะมาดูแลประเทศจะอ่อนแอ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศพัฒนาสู้ประเทศอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมไม่ว่ารัฐบาลใด ก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้ มีแต่รัฐบาลผสมปวดหัว ที่แย่งตำแหน่งในรัฐบาลกันเอง และที่สุดทำได้เพียงประคองซึ่งกันและกัน จนครบวาระในการดำรงตำแหน่ง การพัฒนาประเทศไม่เกิด ฉะนั้น การตั้งโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด ตนยืนยันว่า รัฐบาลต้องเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อตั้งโจทย์ผิด คำตอบก็ผิดแล้ว

“เราบอกว่า ระบบเลือกตั้งที่เราใช้ ไม่ใช้ระบบเยอรมัน แต่ระบบที่เราตั้งขึ้นมาเอง ผมก็บอกกับท่านว่า ท่านคิดผิด คนไทยชอบอะไรง่ายๆ ชอบอะไรที่เห็นชัดเจน ระบบเลือกตั้งเดิมไม่ได้เสียหายอะไรเลย เราบอกว่าเรามีการซื้อสิทธิขายเสียง เราก็ต้องไปดู กกต. ว่า ทำอย่างไรให้การซื้อสิทธิขายเสียง ต้องทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่า ถ้าซื้อสิทธิขายเสียง ลงทุน 20 ล้าน เพื่อเอาเงินเดือนเพียง 4 ล้าน มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องไปสอนชาวบ้านว่า เขาก็ต้องไปเอาทุนคืนแน่นอน” นายดิเรก กล่าว

นายดิเรก กล่าวด้วยว่า หาก ส.ว. เป็นไปตามที่ กมธ. ยกร่างฯ ได้ร่างไว้ ยืนยันว่าจะมีการทะเลาะกันแน่ และเลือกตั้งเสร็จจะต้องมีการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน เมื่อแก้ก็ต้องมีคนออกมาประท้วงแน่นอน และอีกไม่กี่ปีก็จะปฏิวัติรัฐประหารกันอีก ถ้าให้ ส.ว. มีหน้าที่ถอดถอนและออกกฎหมายอีก ส.ว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลว่าหากเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมด ก็จะมีฐานเดียวกับนักการเมืองนั้น ตนอยากบอกว่า ประชาชนก็มีอยู่แค่นี้ ซึ่งเราก็ต้องสอนว่าหน้าที่ของประชาชนคืออะไร แต่ถ้าอยากให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด ก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องทำหน้าที่เพียงแค่พิจารณากฎหมายเท่านั้น

“ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะนี้จะมีการปฏิวัติอีกแน่นอน ซึ่งวิธีการแก้ไขคือการปักหลัก 3 อำนาจที่เป็นส่วนประกอบของอำนาจอธิปไตยให้แน่น และพัฒนาคนเขามาหาหลักอำนาจทั้ง 3 และขอให้อดทนให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระ หากระหว่างนั้นมีการทุจริต ให้เปิดแผลไปเรื่อยๆ เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาเอง ไม่มีใครที่ได้ครองอำนาจเป็นรัฐบาลไปตลอด” นายดิเรก กล่าว

อ่านประกอบ :
- สปช.ติง รธน.กำหนดประเภทหนังสือสัญญากว้างไป ค้าน คกก.ตั้งขรก. ส่อมีปัญหา
- สปช. ชี้ รธน.ต้องกระชับ ติงกมธ.ยกร่างฯแก้เลือกตั้งผิด โวย ปิดตายใช้งบช่วงฉุกเฉิน
- “สมบัติ” สวน กมธ.ยกร่างฯ รบ.ผสมทำการเมืองตกหลุม ค้านนายกฯ ไม่ยึดโยง ปชช.
- สปช.อภิปรายร่าง รธน.วันที่ 2 ถกผู้นำการเมืองที่ดี สถาบันการเมือง 144 มาตรา
















รธน.ใหม่มุ่งรัฐบาลผสมผู้พิพากษาค้าน7ประเด็น
สปช.เริ่มถกร่างรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์การันตี ไร้พิมพ์เขียว มุ่งออกแบบการเมืองใหม่ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สกัดรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม ยอมรับระบบเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลผสม แต่มีวิธีป้องกันให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มั่นใจความขัดแย้งวุ่นวายกว่า 10 ปี ต้องจบลง ด้วยการสร้างความปรองดองอย่างมีระบบ ไม่ใช่มุ่งแต่การนิรโทษฯ ขณะที่ ผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล ติงร่าง รธน.ใหม่ใน 7 ประเด็น ค้านเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกในองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หวั่นเปิดทางแทรกแซงศาล พร้อมเสนอคดีอาญานักการเมืองอุทธรณ์ได้ในหลักเกณฑ์เดียวกับการอุทธรณ์คดีทั่วไป แต่ต้องยื่นด้วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น