xs
xsm
sm
md
lg

“หมอกระแส” ชูร่างรัฐธรรมนูญใหม่เน้นทางสายกลาง “คำนูณ” แจงข้อครหาสืบทอดอำนาจแค่การทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระแส ชนะวงศ์ (ภาพจากแฟ้ม)
เชียงใหม่ - “หมอกระแส” กล่าวปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ผู้เข้าร่วมเห็นตรงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่ยอมรับได้ ยกเป็นฉบับมัชฌิมาปฏิปทา เน้นทางสายกลาง “คำนูณ” รับหลังรัฐธรรมนูญมีการสืบทอดแต่ในด้านการทำงาน เพราะปฏิรูปไม่ใช่สำเร็จปี - สองปี ด้านเวทีรับฟังความเห็น “เกย์นที” เสนอเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ ชาวเชียงใหม่เสนอเช็กบิลแกนนำม็อบตั้งแต่พฤษภาทมิฬยัน กปปส. อ้างทำบ้านเมืองเสียหาย

วันนี้ (4 เม.ย.) ที่โรงแรมฮอลลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ จัดโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสถาบันพระปกเกล้า ว่า ถ้าหากใครเป็นครูอาจารย์ ควรจะเอาข้อความที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ ที่พูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ และนำสิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯ รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นในห้องประชุม ขอให้มารวบรวมเก็บไว้ให้ลูกหลาน ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

โดยผู้ที่มาในการเสวนาในวันนี้ เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะข้อความที่พูดนั้นมีความหมาย ไม่ใช่ลอยในอากาศ ซึ่งตนมีความเห็นว่า ทุกคนมีความรู้สึกตรงกันข้อหนึ่ง คือ ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างพลังประชาชน เน้นความยุติธรรมในสังคม ซึ่งข้อคิดเห็นบางอย่างทางกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เตรียมไว้แล้ว บางส่วนทางกรรมาธิการฯ ได้คิดเอาไว้ แต่เมื่อมีคนมาพูดถึงก็มีความมั่นใจ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องนำข้อเสนอกลับไปยกร่างซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ซึ่งตนยังมองว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ทางสายกลาง คือ ไม่เอาแบบอย่างประชาธิปไตยแบบในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และไม่ได้เอารูปมาจากประเทศในเอเชีย แต่เป็นรัฐธรรมนูญ ของไทย โดยคนไทย และเพื่อคนไทย

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า ภาพรวมของบ้านเมืองเราเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งขนาดหนักเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก และรุนแรง ทุกสถาบันถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง แบ่งสังคมไทยเป็นฝักเป็นฝ่าย แม้แต่ในครอบครัวเองความคิดก็ยังไม่ตรงกัน แต่ไม่ว่าใครจะถูกหรือผิด ไม่อาจจะจบลงด้วยฝ่ายใดชนะเด็ดขาด ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถลบข้อมูลไปได้ เราเสียชีวิตคนไปจำนวนมาก รัฐประหารที่เกิดขึ้นคนทำจริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะทำ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะมีความเสียหาย ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ประเทศเดินหน้าไม่ได้ แต่เพื่อนบ้านของเราเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว ถ้าเราหยุดชะงักแบบนี้อีกหน่อย เวียดนาม กัมพูชา หรือ ลาว อาจจะแซงหน้าเราไปได้ ไม่ต้องไปพูดถึงสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย เลย

เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ เกิดการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 หรือไม่ วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ กำลังสร้างกฎ เพื่อให้บ้านเมืองดำเนินไปอย่างปกติ เป็นไปตามที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายรับได้ ถ้าจะร่างไม่ให้คนด่าเลย ก็ไม่ยาก แค่เอารัฐธรรมนูญเก่าๆ มาปัดฝุ่นแล้วให้มีเลือกตั้ง แต่ถามว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่ กลไกต่างๆ ที่ กมธ. ยกร่างฯ พยายามวางไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ที่เราตั้งใจทำ รวมทั้งอยากให้ทุกคนเสนอแนะข้อมูลให้กับเรา ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังเป็นเพียงร่างแรกเท่านั้น ยังสามารถแก้ไขได้ทุกประเด็น

เรื่องพรรคการเมือง การส่งตัวแทนลงสมัคร พวกเขาฟังเสียงประชาชนแค่ไหน การเลือกตั้งในบ้านเราต้องใช้เงินจำนวนมาก พรรคการเมืองก็ต้องเป็นคนมีเงินสนับสนุน หากจะให้พรรคสนับสนุนลงเลือกตั้งก็ต้องแข่งกันอย่างเข้มข้น สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การแข่งขันของผู้แทนฯ แต่เป็นการแข่งขันของนายทุนพรรค เราจะฝากอนาคตของชาติไว้กับคนเหล่านี้หรือ การเมืองไม่ใช่คนไปเลือกผู้แทนฯ แล้วผู้แทนฯ ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ต้นเหตุความขัดแย้งจริงๆ มาจากประชาชนบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ช่องว่างระหว่างความมั่งมีกับความยากจน โครงสร้างของรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่างๆ ที่แยกกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน มีคนว่าเราสืบทอดอำนาจ ยอมรับว่าสืบทอดแต่เป็นการสืบทอดการทำงาน เพราะการปฏิรูปไม่ใช่จะใช้เวลาแค่ปี หรือสองปีที่จะทำให้สำเร็จ

สำหรับการเสวนากลุ่มย่อย ในการรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 10 กลุ่ม โดยมีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระจายกันออกเป็นวิทยากรในแต่ละกลุ่ม เพื่อหารือร่วมกันและสะท้อนประเด็นเพื่อนำเสนอต่อห้องประชุมใหญ่ ที่มีประเด็นหลักทั้งหมด 5 ประเด็น คือ กลุ่มพลเมืองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม กลุ่มสถาบันการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้ง กลุ่มกระบวนการยุติธรรม ศาล และการตรวจสอบ กลุ่มการกระจายอำนาจและสมัชชาพลเมือง และกลุ่มการปฏิรูปและความปรองดอง

โดยประเด็นเรื่อง “พลเมือง สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วม” ที่ประชาชนผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่พึงพอใจกับการยกระดับสิทธิ์ประชาชนสู่ความเป็นพลเมือง เพื่อการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและตรวจสอบมากขึ้น ส่วนประเด็นที่อยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นคือเรื่องสัดส่วนเพศตรงข้าม ที่มีข้อเสนอให้กำหนดชัดเจน รวมถึงสิทธิของคนชายขอบและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะสิทธิ์ในพื้นที่ทำกิน

นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือที่ในวงการเรียกว่า “เกย์นที” นักเคลื่อนไหวกลุ่มเกย์การเมืองไทย ได้เรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุสิทธิต่างๆ ของกลุ่มบุคคลเพศสภาพให้ชัดเจน อาทิ เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เนื่องจากที่ผ่านคนกลุ่มนี้ประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตมากมาย อย่างเช่น การรับรองสิทธิทางกฎหมาย คนรักของตัวเองที่ใช้ชีวิตกันมา 20 ปี ไม่มีญาติพี่น้อง และจะเข้ารับการผ่าตัด แต่ไม่มีคนสามารถเซ็นลงนามให้ความเห็นชอบได้ รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในเรื่องของมรดก หรือทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันและเมื่อคู่สมรสตายไปทรัพย์สินบางครั้งก็ไม่สามารถตกทอดไปถึงอีกฝ่ายได้ หาก กมธ. ยกร่างฯ เขียนสิทธิดังกล่าวให้ชัดเจนทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมปรับแก้ไขกฎหมายลูกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เชื่อว่าในบรรดาบุคคลที่เบี่ยงเบนทางเพศที่มีสิทธิเลือกตั้ง 5 ล้านคน จะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน ที่สำคัญ ยังยกระดับให้ประเทศไทยเป็นชาติที่พัฒนาแล้วด้วย

ต่อมาประเด็นเรื่อง “สถาบันการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้ง” ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ พึงพอใจกับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า เปิดโอกาสให้พรรคเล็กมีที่นั่งในสภา จนไปถึงสิทธิ์ในการเลือกผู้แทนในบัญชีรายชื่อ รวมถึงเรื่องที่มา ส.ว. ที่มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งตัวแทนจังหวัดร่วมอยู่ด้วย แต่ประเด็นที่เห็นควรให้เพิ่มเติม ทั้งเรื่องการควบคุมผู้มีอิทธิพลทางการเมือง การกำหนดวาระนักการเมืองไม่เกิน 2 สมัย จนไปถึงเสียงสะท้อนบางส่วนที่เห็นควรให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

ทางด้านประเด็น “กระบวนการยุติธรรม ศาล และการตรวจสอบ” โดยภาพรวมเห็นด้วยกับสิ่งที่มีการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีข้อทักท้วงเรื่องการดำเนินคดีของศาลปกครอง ที่เห็นควรให้แยกกับศาลยุติธรรม เนื่องจากการบังคับคดีต่างกัน รวมถึงเห็นควรให้มีการปฏิรูปตำรวจและอัยการ การแยกตำรวจฝ่ายสอบสวนออกจากฝ่ายปราบปราม รวมถึงการกำหนดวาระกรรมการองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ควรมีวาระ 4 ปี เท่ากับผู้แทนราษฎร

ส่วนประเด็น “การกระจายอำนาจและสมัชชาพลเมือง” ประชาชนผู้ร่วมสัมมนามีความเห็นส่วนใหญ่ที่พอใจกับการริเริ่มกระจายอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง จนไปถึงองค์กรพัฒนาระดับภาค แต่เห็นควรให้เน้นย้ำเรื่องการยุบรวมส่วนภูมิภาคไปอยู่กับส่วนกลาง และเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์ และประเด็น การปฏิรูปและความปรองดอง โดยรวมแล้ว เห็นตรงกันว่า การปฏิรูปควรเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริการสาธารณะ การศึกษา สาธารณสุข ที่ดินทำกิน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดความปรองดอง ส่วนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระดับชาติต้องมีกระบวนการเยียวยาและการค้นหาความจริงจากเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

มีรายงานว่า ในช่วงท้ายของการแสดงความคิดเห็น ได้มีผู้เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติบทลงโทษแก่ผู้นำการชุมนุม เอกชน และข้าราชการที่สนับสนุน เนื่องจากที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่แกนนำการชุมนุมพฤษภาทมิฬ ปี 2535, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้กลับไม่เคยได้รับการลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมเอาไว้อย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าจะมีผู้นำม็อบออกมาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น