เชียงใหม่ - กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดเวทีที่เชียงใหม่ “บวรศักดิ์” ย้ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้สืบทอดงาน ไม่สืบทอดอำนาจ โต้กลับ “โหรวารินทร์” ทำนายปฏิรูปประเทศล้มเหลว ยันมีสภาขับเคลื่อนและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ หยันคงใช้วิธีติดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาหิมาลัย เผยที่ประชุม สปช. 17 เม.ย. นี้ ไม่มีการส่งร่าง ด้านหมอชูชัยชี้กลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยไม่เป็นปัญหา
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวทีเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้บัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เป็นหลัก ไม่มีการปรับแก้ แต่มีการเพิ่มเติมในประเด็นใหม่ สิ่งสำคัญคือ สื่อมวลชนต้องมีความเป็นอิสระจากภาครัฐ โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับสืบทอดงาน ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ มีการตั้งคณะกรรมการ สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ควบคู่กับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเชื่อว่า จะเป็นกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสำเร็จมากขึ้น
นายบวรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหราจารย์เจ้าของฉายา “โหร คมช.” ทำนายว่า การปฏิรูปประเทศจะไม่สำเร็จตามเป้าหมายของโรดแมปใน 1 ปี เแม้จะทำได้ในระยะ 2 - 3 ปีก็ไม่สำเร็จ ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติว่าด้วยการสืบทอดงานปฏิรูป ด้วยการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่า นายวารินทร์ ไม่ใช่โหร ที่จะใช้ลักษณะการทำนายด้วยการดูทิศทางของดวงดาว แต่นายวารินทร์ใช้การทำนายด้วยการติดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิบนเทือกเขาหิมาลัย สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น ยืนยันว่าจะเป็นไปตามกำหนด คือ วันที่ 17 เม.ย. นี้อย่างแน่นอน โดยจะไม่มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ก่อนหน้านั้นขณะที่กระบวนการพิจารณาของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังอยู่ระหว่างการทบทวนถ้อยคำ และดูความถูกต้อง
ทางด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศภายใต้กลไกที่ถูกออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ อาทิ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศและกรรมการยุทธศาสตร์, แนวทางการปฏิรูป 15 ด้าน ส่วนใหญ่ได้กำหนดให้มีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ จะสานต่อการปฏิรูปประเทศหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ รวมถึงการกำหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนภาคประชาชน เช่น สมัชชาพลเมือง จะทำให้เกิดการสานต่ออย่างเชื่อมโยงในการปฏิรูปให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน ขณะที่สถานการณ์การเมืองหรือกรณีของกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา แต่จะมีส่วนช่วยเสริมงานปฏิรูป ในด้านการตรวจสอบ ติดตามการปฏิรูปในอนาคต เพราะหากงานปฏิรูปใดที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบจะได้รับการทักท้วง
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ เห็นร่วมกันว่าควรมีการทำประชามติ หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เลวร้าย และจากการรับฟังความเห็นประชาชนที่ผ่านมาพบว่า แม้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์การเมืองแต่เมื่อรับฟังข้อมูลในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นชัดว่าเขาให้การยอมรับ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยพูดไว้ว่า หาก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นและเหตุผลใดต่อการทำประชามติ ขอให้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจาณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประเด็นทำประชามติ และสถานการณ์ทางการเมือง แต่ขณะนี้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้หารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นทางการร่วมกัน
สำหรับกิจกรรมเวทีสัมมนาดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยประชาชนที่เข้าร่วมเป็น 10 กลุ่มในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มพลเมืองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม จำนวน 2 กลุ่ม วิทยากรคือ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ นายปรีชา วัชราภัย และ นายมานิจ สุขสมจิตร กลุ่มสถาบันการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้ง จำนวน 2 กลุ่ม วิทยากรคือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และ นายคำนูณ สิทธิสมาน กลุ่มกระบวนการยุติธรรม ศาล และการตรวจสอบ จำนวน 2 กลุ่ม วิทยากรคือ นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายเจษฎ์ โทณะวณิกและนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กลุ่มการกระจายอำนาจและสมัชชาพลเมือง จำนวน 2 กลุ่ม วิทยากรคือ นายจรัส สุวรรณมาลา น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา น.พ.กระแส ชนะวงศ์ และ นายประชา เตรัตน์ และกลุ่มการปฏิรูปและความปรองดอง จำนวน 2 กลุ่ม วิทยากรคือ น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และน.ส.สุภัทรา นาคะผิว หลังจากนั้น จะเป็นการอภิปรายสรุปผลการสัมมนา และปิดการสัมมนาโดยนายบวรศักดิ์ ในเวลาประมาณ 15.30 น.