กมธ. ยกร่างฯ ตั้งอนุฯร่าง พ.ร.บ. ประกอบ รธน. 11 ฉบับรองรับ รธน. เพิ่ม กม. ใหม่คุม ครม. “เลิศรัตน์” เปิดปฏิทินเลือกตั้งได้ ก.พ. 59 “ชูชัย” เผย ปฏิรูปแรงงานครั้งใหญ่ ตั้ง ธ.แรงงาน เปิดทางเข้าถึงทุน ลดปัญหาหนี้นอก “คำนูณ” แจง ผุด องค์กรบริหารการพัฒนาภาค ให้ ขรก. กำหนดยุทธศาสตร์ บังคับรัฐจัดงบให้ เชื่อ ดีกว่าเดิม “ประชา” ยัน ไม่รื้อโครงสร้างบริหาร ปัดตัดอำนาจนักการเมือง
วันนี้ (19 ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรายมาตราภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ว่า นอกจากจะมีการพิจารณาเนื้อหาในการปฏิรูปส่วนต่างๆ แล้ว ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี มี นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มี นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน
4. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มี นายเจษฏ์ โทณะวนิก เป็นประธาน 5. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นประธาน 6. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มี นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน 7. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีนายประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน
8. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มี นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน 9. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน 10. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มี นายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน และ 11. คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงปฏิทินการเมืองว่าหากมีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 4 กันยายน 2558 และมีโปรดเกล้าฯสิ้นเดือนกันยายน ก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการบริหาร 4 ฉบับ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อน โดยคาดว่าน่าจะใข้เวลาประมาณ 3 เดือน หากเสร็จในสิ้นเดือนธันวาคมก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งได้ แต่การเลือกตั้งจะเกิดหลังจากนั้น 60 วัน คือ น่าจะเกิดได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ การยกร่างฯในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปน่าจะแล้วเสร็จ โดยในส่วนที่ 11 การปฏิรูปด้านแรงงาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากมีแนวทางที่จะตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออม และพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพที่ดีขึ้น
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ธนาคารแรงงานจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของผู้ใช้แรงงานซึ่งปัจจุบันมีสถิติการเป็นหนี้สูงถึงเฉลี่ยครัวเรือนละ 106,000 บาท ทำให้มีภาระต้องผ่อนชำระต่อเดือนถึง 7,400 บาท อีกทั้งผู้ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 60% มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท สำหรับแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารแรงงานคือให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มจากการออกพันธบัตรในระยะเริ่มแรกจำนวน 5 หมื่นล้านบาท หรือ 5% จากกองทุนประกันสังคมที่มีเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท และให้ธนาคารรัฐเป็นผู้บริหารจัดการเงินดังกล่าวกำหนดวงเงินกู้จากค่าจ้างไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ด้วยการปล่อยกู้ให้แรงงานอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ
ส่วน นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีองค์กรบริหารการพัฒนาภาค ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภาคและกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณแบบพื้นที่เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น ประสานการพัฒนาพื้นที่บริหารงานระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืนของการพัฒนาในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การดำเนินการเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการรื้อโครงสร้างการบริหารประเทศ เพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่มีองค์กรที่จะทำหน้าที่บูรณาการพื้นที่แต่ละจังหวัดให้มียุทธศาสตร์เดียวกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนา และยังไม่ได้กำหนดว่าใครจะเป็นเจ้าภาพที่จะบริหารองค์กรดังกล่าว ซึ่งในแต่ละพื้นที่อาจเลือกข้าราชการที่ดีมาเป็นเลขาธิการภาคก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาเช่นนี้คือการตัดอำนาจนักการเมืองไปให้ข้าราชการมีอำนาจบริหารมากขึ้นหรือไม่ นายประชา กล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้นเพียงแต่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองมากขึ้น นโยบายของพรรคการเมืองก็ยังดำเนินต่อไปได้แต่ต้องคำนึงถึงแผนขององค์กรบริหารการพัฒนาภาคและส่งเสริมในการจัดสรรงบประมาณให้ด้วย อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีรูปธรรมขององค์กรดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายตามมา