xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ แจงพรรค ดันปลัดนั่งนายกฯ ช่วงกาบัตร มี 470 ส.ส.เน้นสัดส่วน - 200 ส.ว.ไม่เลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สัมมนาระบอบการเมือง 37 พรรคร่วมคุย “สุจิต“ แจงหลัก 13 ประการระหว่างการยกร่างรายมาตรา แย้มให้ปลัดเลือกกันเองไปรักษาการนายกฯ มีถ่วงดุล 2 อำนาจ สร้าง ส.ว.สภาพหุนิยม คนชักใย ขรก.โกงต้องผิดด้วย “เลิศรัตน์” เผย ส.ส.ใหม่มีไม่เกิน 470 แบ่งเขต 250 บัญชีรายชื่อแบบสัดส่วนตามภาค 270 หวังทุกพรรคได้นั่ง โยน กกต.ลดทอนเก้าอี้ให้ได้ครบ พร้อมตัดสิทธิพวกโกงในครั้งหน้า ส่วนวุฒิสภามี 200 ไม่เลือกตั้ง เน้นวิชาชีพ “นครินทร์” แย้มเปลี่ยนใช้แบบเยอรมนี เน้นปาร์ตี้ลิสต์นำแบ่งเขต



วันนี้ (16 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 08.30 น. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” โดยมี กมธ.ยกร่างฯ คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง คณะอนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สปช. สถาบันพระปกเกล้า และสมาชิกพรรคการเมืองใหญ่อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และพรรคการเมืองพรรคเล็กรวมทั้งหมด 37 พรรคการเมืองเข้าร่วมสัมมนา

โดยนายสุจิต บุญบงการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การสัมมนาในวันนี้ต้องการหาข้อเสนอแนะในเรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” ที่คณะ กมธ.ยกร่างฯกำลังอยู่ระหว่างยกร่างรายมาตรา ซึ่งมีหลักการอยู่ 13 ประการ ได้แก่ 1. พลเมืองเข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรม 2. มีความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้งและรักษาการระหว่างเลือกตั้ง โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง และให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการเลือกตั้ง โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่เลือกกันเองให้มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี

นายสุจิตกล่าวว่า 3. โครงสร้างทางการเมืองที่สมดุลโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทางสังคม 4. การกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 สภา ที่อาจมีปัญหาเรื่องความสุจริตก่อนเลือกตั้ง 5. กำหนดให้มีการตรวจสอบการหาเสียง 6. ให้มีระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน และทำให้คะแนนเสียงทุกคะแนนของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง 7. ทำให้การซื้อเสียงทำยากขึ้น 8.การทำให้ ส.ส.เป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงไม่ใช่ลูกจ้างพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรค 9. การปรับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และควบคุมการรับบริจาค และการใช้จ่ายเงินของพรรคและผู้บริหารพรรค

นายสุจิตกล่าวต่อว่า 10. การปรับให้มีการถ่วงดุลในการบริหารในรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน 11. วุฒิสภา สภาพหุนิยม ซึ่งสร้างความสมดุลให้ระบบการเมือง 12. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรและมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพภายใต้ระบบการตรวจสอบที่ดี และ1 3. การกำหนดให้ผู้ซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำ นำชัก หรือสั่งการให้พรรคการเมือง หรือข้าราชการกระทำการใดๆต้องมีความรับผิดชอบทางอาญา ทางวินัย การเงิน การคลัง และงบประมาณ และความรับผิดชอบอื่นๆเช่นเดียวกับผู้ที่ตนสั่ง ครอบงำหรือนำชัก

“13 ข้อดังกล่าวจะทำให้การเมืองไทยโปร่งใสมากขึ้น จะทำให้เราได้นักการเมืองน้ำดี ที่ได้รับเลือกมาจากการตัดสินใจของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เข้ามาโดยใช้ระบอบอุปถัมภ์ เพื่อหวังจะเข้ามาหาผลประโยชน์สำหรับถอนทุนที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังจะต้องปฏิบัติตนไม่ไปกระทบต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือตามสังคมวัฒนธรรมและต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถยอมรับได้” นายสุจิตกล่าว

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายหัวข้อ “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” ว่าต้องทำการปรับระบบการเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประประชาชน ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย โดยเบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดให้ ส.ส.จะมีจำนวนทั้งหมด 450 คน ไม่เกิน 470 คน โดยมาจาก แบบแบ่งเขตจำนวน ส.ส.250 คน เฉลี่ย ส.ส.1 คนต่อประชาชน 260,000 คน ส่วนแบบบัญชีรายชื่อมี 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน ซึ่งกมธ.ยกร่างฯได้ทำการแบ่งภาคเบื้องต้นไว้เป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉลี่ยแต่ละภาคแล้วพรรคการเมืองจะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้เฉลี่ยภาคละ 32-34 คน

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้ จะไม่ทำการปัดเศษทิ้งเหมือนอย่างประเทศเยอรมันที่กำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำที่จะถูกนำมาคิดไว้ที่ร้อยละ 5 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้มีที่ยืนในสภา โดยเฉพาะพรรคเล็กที่ไม่สามารถลงแข่งขันแบบแบ่งเขตได้ หมายความว่า หากพรรคเล็กได้เสียงแบบบัญชีรายชื่อถึง 6-7 หมื่นเสียง ก็สามารถที่จะมีที่นั่งในสภาได้ 1-2 คน เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ในการต่อรองผลักดันนโยบาย ส่วนปัญหาการนับคะแนนแบบสัดส่วนนั้นมีอยู่ว่า ที่สุดแล้วต้องไม่เกิน 220 คน ซึ่งหากเกินมาก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องทำหน้าที่ “ลดทอน” สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรคลงมาให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

“ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่อหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง กมธ.ยกร่างฯ ก็ยังมีการหารือในเบื้องต้นซึ่งเห็นว่า จะตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยกระทำการทุจริตการเลือกตั้ง หรือต้องคดีทุจริตคอรัปชั่น ไม่ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไปได้ สำหรับสมาชิกวุฒิสภา เบื้องต้นมองว่าจะให้มีจำนวน 200 คน ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่า ฐานเสียงของ ส.ว.นั้นเป็นฐานเสียงเดียวกับ ส.ส. โดยแนวทางที่วางไว้คือจะมี ส.ว.100 คน มาจากการเลือกกันเอง และอีก 100 คน ที่เหลือมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้วุฒิสภาคือผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

ด้านนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ อธิบายถึงรูปแบบการเลือกตั้งในประเทศไทย ว่าข้อเสนอที่จะให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลือกของ กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมา นายปรีดี พนมยงค์ ก็เคยเสนอให้นำรูปแบบการเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศสมาใช้ แต่ก็ถูกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาตีตกไป กลายเป็นเพียงระบบในฝันไป ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบประเทศอังกฤษมาแล้ว 4 ครั้ง เมื่อปี 2544, 2548, 2551 และ 2554 ที่หากใครได้ที่หนึ่งแล้วจะถือว่าชนะทันที การนับคะแนนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ จะคู่ขนานกันไปไม่เกี่ยวข้องกัน

นายนครินทร์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้มีการถกเถียงกันต่อรูปแบบเลือกตั้งที่ใช้กันมาก็เห็นร่วมกันว่า รูปแบบดังกล่าวไม่เป็นธรรม บางพรรคการเมืองได้คะแนนสูงเกินจริงและต่ำเกินจริง จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้นำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี ที่จะนำคะแนนแบบบัญชีรายชื่อมาเป็นตัวกำกับคะแนนแบบแบ่งเขต เพื่อสะท้อนคะแนนเสียงที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งของประชาชนก็จะไม่ต่างไปจากเดิม ประชาชนก็จะเข้าคูหากา 2 เบอร์ ใบหนึ่งกาคนที่รัก อีกใบกาพรรคที่ชอบ จะต่างเพียงแค่การนับคะแนนที่จะใช้แบบบัญชีรายชื่อมาเป็นหลักเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น