xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองซัดพิมพ์เขียวปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯสร้างปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 08.30 น. วานนี้ (16 ก.พ.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยมี กมธ.ยกร่างฯ คณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง คณะอนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะสปช. สถาบันพระปกเกล้า และสมาชิกพรรคการเมือง 37 พรรค เข้าร่วมสัมมนา
นายสุจิต บุญบงการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การสัมมนาในครั้งนี้ ต้องการหาข้อเสนอแนะในเรื่อง“หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง”ที่คณะกมธ.ยกร่างฯ กำลังอยู่ระหว่างยกร่างรายมาตรา ซึ่งมีหลักการอยู่ 13 ประการ ได้แก่
1. พลเมืองเข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรม
2. มีความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้งและรักษาการระหว่างเลือกตั้ง โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง และให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการเลือกตั้ง โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่เลือกกันเองให้มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี
3.โครงสร้างทางการเมืองที่สมดุลโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทางสังคม
4. การกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 สภา ที่อาจมีปัญหาเรื่องความสุจริตก่อนเลือกตั้ง 5.กำหนดให้มีการตรวจสอบการหาเสียง
6.ให้มีระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน และทำให้คะแนนเสียงทุกคะแนนของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง
7.ทำให้การซื้อเสียงทำยากขึ้น
8.การทำให้ส.ส.เป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงไม่ใช่ลูกจ้างพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรค
9.การปรับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และควบคุมการรับบริจาค และการใช้จ่ายเงินของพรรคและผู้บริหารพรรค
10.การปรับให้มีการถ่วงดุลในการบริหารในรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
11.วุฒิสภา สภาพหุนิยม ซึ่งสร้างความสมดุลให้ระบบการเมือง
12.นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรและมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพภายใต้ระบบการตรวจสอบที่ดี
13.การกำหนดให้ผู้ซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า เป็นผู้ครอบงำ นำชัก หรือสั่งการให้พรรคการเมือง หรือข้าราชการกระทำการใดๆ ต้องมีความรับผิดชอบทางอาญา ทางวินัย การเงิน การคลัง และงบประมาณ และความรับผิดชอบอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้ที่ตนสั่ง ครอบงำหรือนำชัก
"13 ข้อดังกล่าว จะทำให้การเมืองไทยโปร่งใสมากขึ้น จะทำให้เราได้นักการเมืองน้ำดี ที่ได้รับเลือกมาจากการตัดสินใจของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เข้ามาโดยใช้ระบอบอุปถัมภ์ เพื่อหวังจะเข้ามาหาผลประโยชน์สำหรับถอนทุน ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังจะต้องปฏิบัติตนไม่ไปกระทบต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือตามสังคมวัฒนธรรม และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถยอมรับได้" นายสุจิต กล่าว

**เตรียมสรุปตัดสิทธินักการเมืองโกง

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายหัวข้อ "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ว่า ต้องทำการปรับระบบการเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประประชาชน ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย โดยเบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดให้ส.ส.จะมีจำนวนทั้งหมด 450 คน ไม่เกิน 470 คน โดยมาจากแบบแบ่งเขต 250 คน เฉลี่ยส.ส. 1 คน ต่อประชาชน 260,000 คน ส่วนแบบบัญชีรายชื่อมี 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน ซึ่งกมธ.ยกร่างฯได้ทำการแบ่งภาคเบื้องต้นไว้เป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉลี่ยแต่ละภาคแล้ว พรรคการเมืองจะสามารถส่งผู้สมัครได้เฉลี่ยภาคละ 32 –34คน
ทั้งนี้ การนำระบบสัดส่วนแบบผสมมาใช้ จะไม่ทำการปัดเศษทิ้งเหมือนอย่างประเทศเยอรมันที่กำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำ ที่จะถูกนำมาคิดไว้ที่ร้อยละ 5 ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้มีที่ยืนในสภา โดยเฉพาะพรรคเล็ก ที่ไม่สามารถลงแข่งขันแบบแบ่งเขตได้ หมายความว่า หากพรรคเล็กได้เสียงแบบบัญชีรายชื่อถึง 6 –7หมื่นเสียง ก็สามารถที่จะมีที่นั่งในสภาได้ 1 –2 คน เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ในการต่อรองผลักดันนโยบาย ส่วนปัญหาการนับคะแนนแบบสัดส่วนนั้นมีอยู่ว่า ที่สุดแล้วต้องไม่เกิน 220 คน ซึ่งหากเกินมาก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องทำหน้าที่ “ลดทอน” สัดส่วนส.ส. ของแต่ละพรรคลงมา ให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
"ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่อหลักการใหม่ เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง กมธ.ยกร่างฯก็ยังมีการหารือในเบื้องต้น ซึ่งเห็นว่าจะตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยกระทำการทุจริตการเลือกตั้ง หรือต้องคดีทุจริต คอร์รัปชัน ไม่ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไปได้ สำหรับสมาชิกวุฒิสภา เบื้องต้นมองว่าจะให้มีจำนวน 200 คน ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่าฐานเสียงของส.ว. นั้นเป็นฐานเสียงเดียวกับส.ส.โดยแนวทางที่วางไว้คือจะมีส.ว. 100 คน มาจากการเลือกกันเอง และอีก 100 คน ที่เหลือมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้วุฒิสภาคือ ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

**ชี้รัฐสภา ถอดถอนนักการเมืองยาก

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาที เริ่มจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังมีบางประเด็นที่เป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งอยากจะให้ กมธ.ยกร่างฯได้กลับไปทบทวน คือทำอย่างไร ที่จะทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น หรือทำอย่างไร ให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อจะได้รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ขณะนี้ยังมีประเด็นที่เห็นว่าสวนทางกับหลักการดังกล่าว คือการเพิ่มความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหาร เช่น การเลือกตั้งประธาน และรองประธานรัฐสภาได้คะแนนลำดับ 2 และ 3 ได้เป็นรองประธานตามลำดับ ซึ่งตนเข้าใจว่า กมธ.ยกร่างฯอยากให้ฝ่ายค้านเข้าไปอยู่ด้วย โดยไม่ให้ผู้ชนะเข้ามากินรวบ แต่สุดท้ายคนที่ได้เสียงข้างมากก็จะบล็อกโหวตรองประธาน เกิดการชนะแบบกินรวบขึ้นอยู่ดี เพราะฝ่ายค้านจะมีคะแนนเสียงในสภาน้อยตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว
ส่วนการกำหนดให้ทั้ง 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนฯ มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองนั้น เท่ากับเป็นการให้แต้มฝ่ายบริหารได้อย่างชัดเจน เพราะสภาผู้แทนฯก็เป็นเสียงข้างมากของรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้นรัฐบาลจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ถูกถอดถอน แต่ดีไม่ดี ฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายตรวจสอบอาจจะถูกทำการถอดถอนเสียเองก็ได้ ที่สำคัญ การกำหนดให้เสียงกึ่งหนึ่งในสภาในการถอดถอน อาจจะเกิดรัฐบาลแบบศรีธนญชัยอย่างเรา เป็นกังวลกันอีกด้วย

** ค้านให้ปลัดฯเลือกนายกฯรักษาการ

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกิดคำถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะปฏิรูป หรือสร้างปัญหาใหม่ให้สังคมกันแน่ เพราะในทางปฏิบัติ จะทำไม่ได้ง่ายเหมือนที่ กมธ.ยกร่างฯ จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีข้อเสนอจะตั้งองค์กรใหม่ๆ นอกเหนือไปจากองค์กรอิสระขึ้นมาเยอะ ซึ่งไม่เห็นด้วย อย่างคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และบัญชีทรัพย์สินของผู้ลงสมคัรรับเลือกตั้ง ที่ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ลงสมัครฯ ที่อาจถูกตีตกได้ตั้งแต่ชั้นแรก ส่วนสมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นมาก ก็อาจทำให้มีปัญหาสังคมแตกแยกเกิดขึ้นได้ หากได้คนไม่ดีเข้ามาทำหน้าที่ เข้าใจ กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องการจะออกแบบเครื่องมือการตรวจสอบตามที่ รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ แต่จากข้อเสนอที่จะตั้งองค์กรใหม่เยอะมากเกินไป ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์
"ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ได้ส่งเสริมระบอบพรรคการเมือง แต่เป็นการะทำลายพรรคการเมือง ด้วยการทำอ่อนแอมากกว่าเดิม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถลงโดยอิสระ หรือทำในนามคณะบุคคลก็ได้ สิ่งที่น่ากลัวคือ การกำหนดว่าห้ามหาเสียงโดยมิชอบ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงอยากขอความกรุณากรรมาธิการยกร่างฯ ให้จัดทำกติกา ที่ทุกคนในบ้านเมือง ซึ่งแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายตลอดจนนานาชาติที่ห่วงใย ยอมรับได้ ห้ามมีอคติ และต้องอธิบายได้ทุกมาตรา ว่าเขียนมาไว้เพื่ออะไร " นายสามารถ กล่าว
ขณะที่นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เช่น การให้อำนาจกกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้ง ตนเห็นด้วย แต่การให้อำนาจปลัดกระทรวง ทำหน้าที่เลือกกันเองเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างการจัดการเลือกตั้ง อาจมีการประชุมหรือผู้แทนต่างประเทศเข้ามาหารือกับรัฐบาล จะทำให้ประเทศเราด้อยเกียรติภูมิลง แต่ควรให้นายกฯ และครม.รักษาการ โดยให้อำนาจกกต. ในการกำกับการใช้อำนาจให้เหมาะสมเหมือนเดิม
นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีคณะกรรมการกรองคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องเน้นย้ำว่า กรรมการชุดนี้จะต้องมีความสามารถ และมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องกำหนดกรอบเวลาการตรวจสอบให้มีความชัดเจนด้วย ส่วนการดูแล ส.ส. มองว่า ยังต้องเป็นอำนาจของพรรคการเมืองเหมือนเดิม ส่วน ส.ส.ก็จำเป็นต้องเคารพมติพรรคเช่นกัน

**พรรคเล็กโวยเป็นตัวประกอบปาหี่

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้ไขนี้ เหมือนกำลังจะแก้ปัญหาในอดีต แต่ความจริงแล้วจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม เรากำลังมีปัญหาในระบบการเมือง ที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง มีการให้อำนาจทั้ง 2 สภา ที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะบอกว่า มีการเลือกตั้งหรือสรรหาโดยอ้อม กำหนดวิธีการที่สลับซับซ้อนเกินไป และความพยายามที่จะลดพรรคการเมือง รับประกันเลยว่า จะไม่มีพรรคเสียงข้างมาก แต่จะเป็นในลักษณะพรรคร่วมรัฐบาล
นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคเล็กที่เห็นตรงกันว่า การจัดการสัมนาครั้งนี้ อาจเป็นเพียงละครฉากหนึ่งของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เชิญตัวแทนพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเล็กมาเป็นตัวประกอบ ซึ่งหวังว่าทุกความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นของพรรคใหญ่ หรือพรรคเล็ก ควรถูกนำไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียด ที่จะให้ส.ว. มาจากการสรรหา เพราะผู้ที่มาทำหน้าที่ตรวจสอบผู้แทนประชาชน จะต้องมาจากเสียงของประชาชนด้วย ที่สำคัญควรมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร อีกเด็ดขาด

**อัด"กษิต"อย่าจุ้นเรื่องปฏิรูปกองทัพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีนักการเมือง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความคิดหลากหลายว่า อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ไปเลยที่สปช. ไม่มีใครห้าม อย่ามาตะโกนป่าวๆ มันไม่ใช่เรื่อง ทาง สปช. ก็มีอยู่แล้ว อยากให้ทำอะไรก็ไปบอกไปเขาได้เลย เราพร้อมสนับสนุน เพื่อให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นผ่านทาง สปช.
ส่วนกรณี นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ โดยให้ยุบกองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กองทัพมีการปฏิรูปมาตลอด และทำอยู่ ซึ่งนายกษิตไม่รู้ว่าเขาทำอยู่หรือเปล่า อย่าไปพูดอย่างนี้ สิ่งที่นายกษิต คิดได้อยากให้ไปเสนอที่สปช. อยากคิดอะไรก็คิดได้ ไม่ว่า ซึ่งกองทัพมีแผนงานที่จะทำเหมือนกัน และจะนำเข้าสู่สภาปฏิรูปเหมือนกัน สื่อเองก็เสนอได้เช่นกัน อยากเสนออะไรในสปช. ก็เสนอไป มีเวทีอยู่แล้ว ตามสบาย
เมื่อถามว่าทุกฝ่ายออกมากดดันรัฐบาล และ คสช.มากขึ้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เคยรู้สึกกดดัน และไม่เคยคิดว่ามีการกดดัน เราอยากให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นในสปช. ไม่ใช่ว่าแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้ จะโดนเรียกมาคุย เพียงแต่เราดูว่าอะไรที่มันเกินเลยไป จนเกิดความไม่ปรองดอง เราถึงจะเรียก ถ้าเป็นความคิดก็เสนอไป
ส่วนกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ออกมาเคลื่อนไหวที่บริเวณหน้าหอศิลป์นั้น ตนก็อยากทำความเข้าใจ ขอให้ไปคุยกันที่ สปช. เพราะมีหลายเวทีไปพูดจากัน ไม่พอใจเรื่องอะไรก็ไปคุยกัน แต่การเคลื่อนนอกเวที ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรามีเวทึให้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปเปิดใหม่ ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมายก็ไปทำให้ถูกกฎหมาย
เมื่อถามว่า ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ยืนยันว่า จะเคลื่อนไหวนอกเวที พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ต้องช่วยกัน เพราะขณะนี้ทางรัฐบาล และ คสช. มีเวลาที่จำกัด เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว ก็จะต้องเดินตามไปโรดแมป หากมาแคะมาแกะแบบนี้คงเดินไม่ได้
ปชป.หวั่น ส.ส.ถอดกันเองทำฝ่ายค้านซวย พท.งงหาเสียงมิชอบ ชพน.ค้านปลัดนั่งนายกฯ
ปชป.หวั่น ส.ส.ถอดกันเองทำฝ่ายค้านซวย พท.งงหาเสียงมิชอบ ชพน.ค้านปลัดนั่งนายกฯ
เสวนา กมธ.ยกร่างฯ “จุรินทร์” แนะทำยังไงให้ระบบตรวจสอบมีประสิทธิภาพ หรือให้พรรคเข้มแข็ง ชี้ถึงแม้ฝ่ายค้านจะนั่งรองประธานสภาฯ แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็กินรวบ เตือนให้ ส.ส.ถอดนักการเมืองได้ทำเสียงข้างน้อยพลอยซวยโดนถอดเสียเอง “สามารถ แก้วมีชัย” ระบุปฏิบัติไม่ง่าย ค้านตั้ง กก.สอบบัญชีทรัพย์คนลงเลือกตั้ง ส่วน 2 สมัชชา ก็ทำสังคมแตกแยก จวกข้อเสนอทำพรรคอ่อนแอ งงหาเสียงโดยมิชอบคืออะไร บี้อธิบายให้ได้ทุกมาตรา “วรรณรัตน์” ไม่เอาปลัดนั่งนายกฯ อ้างด้อยเกียรติภูมิ แนะให้ กกต.กำกับอำนาจแทน “นิกร” เชื่อสร้างปัญหาใหญ่กว่าเดิม ด้านพรรคเล็กโวยแค่ละคร ท้าเขียนห้ามทหารรัฐประหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น