xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หวั่น ส.ส.ถอดกันเองทำฝ่ายค้านซวย พท.งงหาเสียงมิชอบ ชพน.ค้านปลัดนั่งนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสวนา กมธ.ยกร่างฯ “จุรินทร์” แนะทำยังไงให้ระบบตรวจสอบมีประสิทธิภาพ หรือให้พรรคเข้มแข็ง ชี้ถึงแม้ฝ่ายค้านจะนั่งรองประธานสภาฯ แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็กินรวบ เตือนให้ ส.ส.ถอดนักการเมืองได้ทำเสียงข้างน้อยพลอยซวยโดนถอดเสียเอง “สามารถ แก้วมีชัย” ระบุปฏิบัติไม่ง่าย ค้านตั้ง กก.สอบบัญชีทรัพย์คนลงเลือกตั้ง ส่วน 2 สมัชชา ก็ทำสังคมแตกแยก จวกข้อเสนอทำพรรคอ่อนแอ งงหาเสียงโดยมิชอบคืออะไร บี้อธิบายให้ได้ทุกมาตรา “วรรณรัตน์” ไม่เอาปลัดนั่งนายกฯ อ้างด้อยเกียรติภูมิ แนะให้ กกต.กำกับอำนาจแทน “นิกร” เชื่อสร้างปัญหาใหญ่กว่าเดิม ด้านพรรคเล็กโวยแค่ละคร ท้าเขียนห้ามทหารรัฐประหาร

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” โดยมีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และอื่นๆ รวมทั้งหมด 37 พรรคการเมืองเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาที

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังมีบางประเด็นที่เป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งอยากจะให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้กลับไปทบทวน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น หรือทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อจะได้รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะนี้ยังมีประเด็นที่เห็นว่าสวนทางกับหลักการดังกล่าว คือการเพิ่มความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหาร เช่น การเลือกตั้งประธานและรองประธานรัฐสภา ได้คะแนนลำดับ 2 และ 3 ได้เป็นรองประธานตามลำดับ ซึ่งตนเข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯอยากให้ฝ่ายค้านเข้าไปอยู่ด้วย โดยไม่ให้ผู้ชนะเข้ามากินรวบ แต่สุดท้ายคนที่ได้เสียงข้างมากก็จะบล็อกโหวตรองประธาน เกิดการชนะแบบกินรวบขึ้นอยู่ดี เพราะฝ่ายค้านจะมีคะแนนเสียงในสภาน้อยตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการกำหนดให้ทั้งสองสภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนฯ มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองนั้น เท่ากับเป็นการให้แต้มฝ่ายบริหารได้อย่างชัดเจน เพราะสภาผู้แทนฯ ก็เป็นเสียงข้างมากของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้นรัฐบาลจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ถูกถอดถอน แต่ดีไม่ดีฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายตรวจสอบอาจจะถูกทำการถอดถอนเสียเองก็ได้ ที่สำคัญการกำหนดให้เสียงกึ่งหนึ่งในสภาในการถอดถอน อาจจะเกิดรัฐบาลแบบศรีธนญชัยอย่างเราเป็นกังวลกันอีกด้วย

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกิดคำถามว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะปฏิรูปหรือสร้างปัญหาใหม่ให้สังคมกันแน่ เพราะในทางปฏิบัติ จะทำไม่ได้ง่ายเหมือนที่ กมธ.ยกร่างฯ จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ามีข้อเสนอจะตั้งองค์กรใหม่ๆ นอกเหนือไปจากองค์กรอิสระขึ้นมาเยอะ ซึ่งไม่เห็นด้วย อย่างคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและบัญชีทรัพย์สินของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ลงสมัครฯที่อาจถูกตีตกได้ตั้งแต่ชั้นแรก ส่วน สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นมาก ก็อาจทำให้มีปัญหาสังคมแตกแยกเกิดขึ้นได้ หากได้คนไม่ดีเข้ามาทำหน้าที่ เข้าใจกมธ.ยกร่างฯที่ต้องการจะออกแบบเครื่องมือการตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ แต่จากข้อเสนอที่จะตั้งองค์กรใหม่เยอะมากเกินไป ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์ ข้อเสนอทั้งหมดในวันนี้

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งเสริมระบอบพรรคการเมือง แต่เป็นการทำลายพรรคการเมืองด้วยการทำอ่อนแอมากกว่าเดิม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถลงโดยอิสระ หรือทำในนามคณะบุคคลก็ได้ สิ่งที่น่ากลัวคือการกำหนดว่าห้ามหาเสียงโดยมิชอบ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงอยากขอความกรุณากรรมาธิการยกร่างฯ ให้จัดทำกติกา ที่ทุกคนในบ้านเมืองซึ่งแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายตลอดจนนานาชาติที่ห่วงใย ยอมรับได้ ห้ามมีอคติ และต้องอธิบายได้ทุกมาตราว่าเขียนมาไว้เพื่ออะไร” นายสามารถกล่าว

ขณะที่นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เช่น การให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้ง ตนเห็นด้วย แต่การให้อำนาจปลัดกระทรวงทำหน้าที่เลือกกันเองเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการนั้นไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างการจัดการเลือกตั้ง อาจมีการประชุมหรือผู้แทนต่างประเทศเข้ามาหารือกับรัฐบาล จะทำให้ประเทศเราด้อยเกียรติภูมิลง แต่ควรให้นายกฯ และ ครม.รักษาการโดยให้อำนาจ กกต.ในการกำกับการใช้อำนาจให้เหมาะสมเหมือนเดิม

นายวรรณรัตน์กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีคณะกรรมการกรองคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องเน้นย้ำว่า กรรมการชุดนี้จะต้องมีความสามารถและมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องกำหนดกรอบเวลาการตรวจสอบให้มีความชัดเจนด้วย ส่วนการดูแล ส.ส. มองว่ายังต้องเป็นอำนาจของพรรคการเมืองเหมือนเดิม ส่วน ส.ส.ก็จำเป็นต้องเคารพมติพรรคเช่นกัน

ส่วนนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้ไขนี้เหมือนกำลังจะแก้ปัญหาในอดีต แต่ความจริงแล้วจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เรากำลังมีปัญหาในระบบการเมือง ที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง มีการให้อำนาจทั้ง 2 สภา ที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะบอกว่ามีการเลือกตั้งหรือสรรหาโดยอ้อม กำหนดวิธีการที่สลับซับซ้อนเกินไป และความพยายามที่จะลดพรรคการเมือง รับประกันเลยว่าจะไม่มีพรรคเสียงข้างมาก แต่จะเป็นในลักษณะพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนี้ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคเล็กที่เห็นตรงกัน ว่าการจัดการสัมนาวันนี้อาจเป็นเพียงละครฉากหนึ่งของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เชิญตัวแทนพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเล็กมาเป็นตัวประกอบ หวังว่าทุกความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นของพรรคใหญ่หรือพรรคเล็กควรถูกนำไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียด ที่จะให้ ส.ว.มาจากการสรรหา เพราะผู้ที่มาทำหน้าที่ตรวจสอบผู้แทนประชาชนจะต้องมาจากเสียงของประชาชนด้วย ที่สำคัญควรมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารอีกเด็ดขาด



















กำลังโหลดความคิดเห็น