xs
xsm
sm
md
lg

ชงวาระประธานศาลรัฐธรรมนูญเหลือ 3 ปี - ให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดีเลือกตั้งก่อนศาลฎีกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ.ยกร่างฯ กำหนดวาระประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3 ปี เลือกใหม่ เพิ่มอำนาจศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดีโกงเลือกตั้ง ตัดสิทธิการเมือง ปกปิดทรัพย์สิน แต่ยื่นฎีกาได้

วันนี้ (21 ม.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ 9 มาตรา ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาต่อในเรื่องการดำรงตำแหน่งของประธาน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว แต่มีการเพิ่มเติมในการการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งประธานครบสามปีพ้นต้องจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการปฏิบัติแต่ไม่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยังมีการระบุไว้ด้วยว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังคงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมมีการพิจารณาว่าคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรเริ่มต้นที่ศาลไหน แต่ผู้อภิปรายส่วนใหญ่เห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะเริ่มที่ศาลฎีกา เพราะหากเริ่มที่ศาลอุทธรณ์จะเป็นการลดการเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเนื่องจากอาจต้องใช้เวลาถึง 8 ปี เพราะเป็นการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ 5 ปี ศาลฎีกา 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังให้ความเป็นธรรมในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยหลักการจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้

ส่วนคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์กลาง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ไปศาลฎีกาเลยจึงถือว่าเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมให้มีการพิจารณาคดีสองชั้นคือศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา เช่นเดียวกับคดีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาคตามเขตพื้นที่ที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับว่า กกต. จะไม่มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ คดีเกี่ยวกับการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เริ่มกระบวนการพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ ไม่ถือว่าเป็นการสวนทางกับหลักการที่กรรมาธิการยกร่างต้องการเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการทุจริต แต่เนื่องจากคดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินไม่ได้มีเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีผู้ดำรงตำแหน่งของรัฐซึ่งจำนวนคดีมีมาก หากให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาอาจทำให้ล่าช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น