xs
xsm
sm
md
lg

พท.แนะ กมธ.ยกร่างฯ ให้ยึด รธน.40 ห้ามล้างผิดคนฉีก อนุฯ ไม่หนุนเลือกตรงนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงข้อสรุป พท.เสนอ ขอคงร่าง รธน.40 ให้บัญญัติห้ามล้างผิดคนฉีก รธน. ยุบศาล รธน. เลิกบทลงโทษตัดสิทธิ กก.บห. ให้ จนท.รัฐทุกระดับแจงบัญชี นิยามใช้อำนาจเลือกปฏิบัติแรงกว่าโกง และให้ประชามติ รธน. แจง รับฟังอนุ กมธ.คณะ 3 ไม่หนุนแยกอำนาจสองฝ่าย ให้ยึดแบบเดิม ไม่บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค ฝืนมติห้ามขับออก เผย ปธ.กมธ.จี้ พธม.-นปช.เข้าให้คำแนะ



วันนี้ (12 ธ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงสรุปข้อเสนอแนะที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ว่า ขอให้คงโครงสร้างหลักจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ขอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเลยว่า ห้ามนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนองค์กรอิสระก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชน ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วให้ตั้งองค์กรตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น ทั้งยังควรยกเลิกบทลงโทษตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 สำหรับการจัดการกับการทุจริต ก็ให้มีการกำหนดว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน และขอให้นิยามคำว่าทุจริตเพิ่มเติมโดยให้ครอบถึงการบังคับใช้อำนาจที่เลือกปฏิบัติและอคติ เพราะถือว่าร้ายแรงกว่าการทุจริตทรัพย์สิน และรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้จะสมบูรณ์ได้ ก็ควรมีการลงประชามติจากประชาชน

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ คณะที่ 3 พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญภาค 2 ว่าด้วยผู้แทนที่ดี ผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และ คณะรัฐมนตรี ที่มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน ได้แสดงความเห็นว่า ข้อเสนอที่ให้แบ่งแยกอำนาจทั้งสองฝ่ายออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น เหมาะสมสำหรับประเทศที่มีประธานาธิบดี แต่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงเสนอให้ยึดระบบรัฐสภาเหมือนเดิม โดยให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคงการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเอาไว้ ส.ส.สามารถขออภิปรายและมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส่วนนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจประกาศยุบสภาเหมือนเดิม

โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับระบบรัฐสภาก็ให้มี 2 สภาเหมือนเดิม โดยกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ แบบแบ่งเขตจะมีสัดส่วน ส.ส.1 คน ต่อประชาชน 200,000 คน ก็จะทำให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตประมาณ 350-400 คน ส่วนแบบบัญชีรายชื่อจะให้คิดคะแนนจากแบบบัญชีรายชื่อเป็นหลักเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน อีกทั้งไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้มีอิสระในการทำหน้าที่ ขณะที่พรรคการเมืองก็ไม่สามารถขับสมาชิกออกจากพรรคได้หากสมาชิกไม่ทำตามมติพรรค สำหรับ ส.ว.ก็จะให้มีครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.มีวาระการดำตำแหน่ง 6 ปี ห้ามอยู่ 2 วาระติดกัน ส่วนการตรวจสอบการเลือกตั้ง เสนอให้มีศาลแผนกคดีเลือกตั้ง และให้สามารถอุทธรณ์ถึงขั้นฎีกา โดยให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังขอให้ยึดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นหลัก

โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พรรคการเมืองได้เข้ามาเสนอความคิดเห็นต่อ กมธ.ยกร่างฯ ครบถ้วนตามที่เชิญ เหลือเพียงแค่ตัวแทนจากกลุ่มมวลชน นปช. และพันธมิตรฯ เท่านั้น ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ขอเชิญแกนนำมวลชนทั้งสองให้เข้าร่วมแสดงความเห็นด้วย นอกจากนี้ เบื้องต้นทราบมาว่าทาง สปช.มีประเด็นที่จะเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯในวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ทั้งสิ้น 246 ประเด็น โดยจะส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯก็จะเริ่มนำข้อเสนอทั้งจาก สนช.และสปช.มาพิจารณาในเนื้อหาเบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.เป็นต้นไป

กำลังโหลดความคิดเห็น