xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” คุย กมธ.ยกร่างฯ แนะยึดปี 40 ถามควรนิรโทษฯ คนยึดอำนาจหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโภคิน พลกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
“โภคิน” นำทีมเพื่อไทยพบ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อ้างมาส่วนตัว เล่าที่มากฎหมาย แนะให้ดูปัญหาเกิดจากคนหรือกฎหมาย ขอยึดของปี 40 เป็นหลัก จี้ทบทวนควรนิรโทษกรรมคณะยึดอำนาจหรือไม่ ชี้องค์กรอิสระก็ควรถูกศาลสอบได้ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย ส่วนนายกฯ-ส.ส.ควรสังกัดพรรค


วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น และนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายโภคินกล่าวก่อนการเข้าพบว่า การเข้าให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาในนามส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปได้มีการศึกษามาก่อนจนได้ข้อตกผลึก ก่อนนำมาเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาจากข้อศึกษาและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในบางเรื่อง สำหรับรายละเอียดในการนำเสนอจะระบุถึงการปฏิรูปสามช่วงใหญ่ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนการปกครอง 2475 ซึ่งมีการต้อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา อายุผู้เลือกตั้ง 18 ปี ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดได้ตกผลึกมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540

นายโภคินกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 40 มองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง แต่ทำยังไงให้การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้น จึงนำกลไกของรัฐธรรมนูญต่างๆจากหลายประเทศมาศึกษา จนทำให้ระบบตรวจสอบเข้มแข็ง มีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากคณะตุลาการเดิม และยังให้โอกาสประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายและถอดถอนได้ เน้นสิทธิประชาชนมากขึ้น ผู้ด้อยโอกาส เด็ก และสตรี ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีแต่ใช้ไปสักพักก็มีปัญหา

“รัฐธรรมนูญปี 17 การนิรโทษกรรมผู้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้ แต่ว่าแนวคิดนี้ไม่เคยมีการตกผลึก และหลักการดังกล่าวก็ไม่เคยเขียนต่อ และผู้ล้มล้างการปกครองก็มาเขียนนิรโทษกรรมตัวเอง ไม่ผิด ไม่ถูกลงโทษ หลักการแบบนี้ควรนำมาพิจารณาใหม่หรือไม่” นายโภคินกล่าว

นายโภคินระบุว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 50 คณะรัฐประหารมุ่งหมายจัดการหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริพรรค มีบันได 4 ขั้น และวางกลไกย้อนหลัง องค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาสุจริต ทำให้แบ่งแยกไปกันใหญ่ แต่รัฐบาลปัจจุบัน แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเกิดให้ความปรองดอง ดังนั้น ต้องมาดูรัฐธรรมนูญจัดทำใหม่

นายโภคินกล่าวว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องว่าปัญหาเกิดจากอะไร เกิดจากระบบ ตัวบุคคล หรือตัวกฎหมาย ด้านแรกเป็นปัญหาที่ตัวคนหรือตัวบทกฎหมาย ต้องประกอบกันไป ถ้าเป็นกฎหมายไม่ดีก็แก้กันไป ถ้าเป็นปัญหาตัวคนก็ไม่ต้องไปแก้กฎหมายมาก เพราะจะตอกย้ำความแตกแยก ปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญจะ 20 กว่าฉบับ แต่ที่สหรัฐฯมีฉบับเดียวใช้มา 200 กว่าปี ดังนั้นจำเป็นต้องช่วยกันคิดและหาคำตอบ นอกจากนี้ ส่วนตัวอยากเสนอหลักการใหญ่ๆ ให้ยึดรัฐธรรมนูญ 40 เป็นหลัก แต่หากมีตรงไหนไม่ดีก็แก้ไขกันไป ส่วนเรื่องจิตสำนึก แม้เขียนในรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้ และนิรโทษกรรมทำไม่ได้ ต้องยึดถือในเรื่องของประเพณีการปกครอง แม้ปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ด้วยระบบประชาธิปไตย และการเรียนประชาธิปไตยไม่ได้มาจากโรงเรียนอย่างเดียว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาทุกอย่างของประเทศ

นายโภคินกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ขึ้นอยู่กับ กมธ.จะว่าอย่างไร แต่ต้องยึดประชาธิปไตย และทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ส่วนข้อเสนอให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เหลือ 5 ปี นั้น ส่วนตัวไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ แต่องค์กรอิสระคงต้องถูกตรวจสอบจากศาลในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังถูกตรวจสอบ อีกทั้งควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ตนมีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรจะมาจากพรรคการเมืองและ ส.ส.ควรจะต้องสังกัดพรรคการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น