xs
xsm
sm
md
lg

รธน.เปิดช่องโหว่ กำเนิดทายาทอสูร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
รายงานการเมือง

เริ่มตั้งไข่วางโครงกันให้เห็นหน้าค่าตารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กันแล้ว หลัง “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ได้รับพิมพ์เขียวจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ชงข้อเสนอแนะต่างๆในการยกร่างกติกาประเทศฉบับถาวร

สปอตไลต์ส่องไปที่หมวดระบบการเลือกตั้ง และการเข้ามาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่บรรดา “นักเลือกตั้ง - คอการเมือง” จับตากันอย่างไม่กระพริบ เพราะนี่หมายถึงกติกาที่กำหนดกันขึ้นมาใหม่ ให้ “นักการเลือกตั้ง” ได้โลดเล่นกันในสนามใหม่

ซึ่งแน่นอนว่าการวางกติกาครั้งนี้มี “ธง” ในการออกแบบระบบการเลือกตั้งไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “แลนสไลด์” ปิดทาง “พรรคเพื่อแม้ว” โกย ส.ส. เข้าสภาฯได้ชนิดถล่มทลายและกลับมาเถลิงอำนาจได้เหมือนเดิมแน่

ล่าสุด “36 อรหันต์” คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติสอดคล้องกันว่าให้ใช้ “ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ที่ควรมี “ผู้แทน” ที่เป็นของประชาชนในเขตจังหวัดหรือการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ “ผู้แทน” ที่เป็นของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัดหรือการเลือกคือการเลือกตั้งแบบสัดส่วน

จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต 250 คน และแบบระบบสัดส่วนหรือปาร์ตีลิสต์ 200 คน รวม 450 คน ลดลงจากเดิมที่มี 500 ที่นั่ง หนีสมญานาม “สภาฯ (โจร) ห้าร้อย”

รูปแบบการได้ ส.ส. ก็ประยุกต์มาจาก “เยอรมันโมเดล” ที่ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” หนึ่งใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ “ค่ายเหลืองแดง” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเข้าประกวดเป็นผู้เสนอ

“เยอรมันโมเดล” ถือเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย มีขั้นตอนการคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่ผิดแผกไปจากเดิมพอสมควร เช่น “พรรค ก.” ได้คะแนนแบบบัญชีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 หรือได้จำนวน ส.ส. 45 คน และ “พรรค ก.” ยังชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอีก 45 เขต ผลก็คือ “พรรค ก.” จะมี ส.ส. ในสภาทั้งสิ้นเพียง 45 คนที่มาจากระบบเขตเท่านั้น

ขณะที่ “พรรค ข.” ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อคิดเป็นร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส. ที่ควรจะมี 45 คน แต่ “พรรค ข.” ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 30 เขต ผลก็คือ “พรรค ข.” จะมี ส.ส. 45 คน ที่มาจากแบบแบ่งเขต 30 คน แต่จะได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเข้ามาอีก 15 คน รวมเป็น 45 คน เช่นกัน

ซึ่งหาก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญนำระบบการเลือกตั้ง “เยอรมันโมเดล” มาใช้จริง ถือเป็นการวัดฝีมือของ “นครินทร์” เจ้าเก่า - คนเดิม ว่า จะมีกึ๋นเอาชนะ “พรรคสีแดง” ได้บ้างหรือไม่ เพราะหากจำกันได้ระบบการเลือกตั้งตาม “รัฐธรรมนูญ 2550” ก็เป็น “นครินทร์” ที่เป็นคนเสนอระบบการเลือกตั้ง เพื่อเอื้อให้กับ “พรรคสีฟ้า” แล้ว แต่ก็ยังแพ้ “พรรคสีแดง” อยู่ดี

ทว่าไฮไลต์กลับมาอยู่ที่จะมีการระบุว่า ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการทำงานในรัฐสภา ทำเอา 2 ขั้วการเมือง “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์” ออกมาประสานเสียงคีย์เดียวกันแบบไม่ได้นัดหมาย ส่ายหัวไม่เอาทันที

ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีบทเรียนมาแล้วที่ ส.ส. เร่ขายตัวหรือถูก “ตกเขียว” เป็นมือไม้ในสภาฯแลกกับ “ค่าหัว” ที่ได้รับจนกระเป๋าตุง เปิดโอกาสให้ใครที่มีเงินถุง-เงินถังสามารถได้เก้าอี้ ส.ส. มาต่อรองอำนาจกับบรรดา “พรรคการเมืองใหญ่” ได้ งานนี้มีถอนทุนกันสนุกสนาน

และเราอาจจะเห็นปรากฏการณ์ร่วมกลุ่มของ “ส.ส.ไร้สังกัด” เพื่อต่อรองตำแหน่งกับ “พรรคการเมืองใหญ่” ได้ง่ายดาย ซึ่งอาจจะมีบทบาทมากกว่า “พรรคการเมืองใหญ่” เสียอีก เพราะหากไม่พอใจขู่ย้ายขั้ว - เปลี่ยนข้าง ก็ยุบสภากันได้เกือบทุกวัน

อีกปมที่ถูกจับจ้องเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ตกผลึกว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูว่า จะไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือเป็น ส.ส.

ชั่วโมงนี้รู้กันดีว่า อาจจะมีการเขียน “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาเพื่อล็อคสเปคให้กับใครบางคน ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลตัวของ “บิ๊กตู่” เมื่อก่อนเดินนำหน้า แต่ตอนนี้เดินแถวหลัง แถมยังตัวเตี้ยกว่า ซึ่งเป็นคนที่คูณก็รู้ว่าใคร ได้อาศัยช่องทางดังกล่าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” ให้สมใจอยาก

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า “อำนาจ” ของบรรดา “บิ๊ก คสช.” ยังคงอยู่ อำนาจของรัฐบาลยังสามารถบังคับใช้ได้ หากเลือกตั้งก็ย่อมมีการเอื้อหนุนกันพอสมควร และหาก “บิ๊กตู่” ต้องการผลักดันใครสักคน คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะชูให้ประชาชนไว้ใจ

ส่วนในทางลับก็สามารถใช้ “อำนาจ” ของ “นายกรัฐมนตรี + หัวหน้า คสช.” บังคับผู้ใต้บังคับบัญชาให้เลือกคล้อยตามกันได้ง่ายกว่าปลอกกล้วยเข้าปากด้วยซ้ำ

ผลเสียในระยะยาวจะเกิดขึ้นทันที เพราะอย่าลืมว่าหากปล่อยให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง “นายกรัฐมนตรี” ไม่ต้องเป็น ส.ส.- ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง หากมี “นายทุน” รวยบรรลัยอยากลงมาคลุกฝุ่นการเมืองเข้ามาเสวยอำนาจ ก็สามารถใช้ “พลังดูด” ส.ส.โหวตให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้สบายเช่นกัน

การร่าง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ ในโหมดของระบบการเลือกตั้งจึงมีความเสี่ยงไม่ใช่น้อย หากคิดจะปูทางให้ใครบางคนที่อยากเป็น “นายกรัฐมนตรี” จนตัวสั่น-หางสั่น

แน่นอนว่าอำนาจของ “ปลายกระบอกปืน” ในตอนนี้สามารถเอื้อหนุนใส่พานทองให้ได้ แต่ใครจะไปรู้บางที “อำนาจเงิน” มักจะทำอะไรได้มากกว่าที่คาดคิดไว้

“ทายาทอสูร” คงเกิดกันพรึ่บพรั่บ ดีไม่ดีอาจจะเกิด “ทักษิณ 2” อาจจะเกิด “ทักษิณ 3” ที่มีทรัพย์สมบัติ - เงิน - ทอง - บารมี มากกว่า “นช.ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้ หากถึงวันนั้นการเข้ามาเก็งกำไรเพื่อหาเงินทุนคืนคงกลับมาอีก

หากคิดจะเดินเกม - วางหมาก เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง มีหวังต้องพังกันอีกรอบ รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ที่น้ำท่วมบ้าน “บิ๊กตู่” มีหวัง “เสียของ” และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมี “รัฐประหาร” ครั้งต่อไป!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น