xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งแบบเยอรมนีน่าสนใจอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ จะมีวิธีการอย่างไรให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายหลักที่เป็นไปเพื่อป้องกันการใช้อำนาจแบบเผด็จการรัฐสภา ที่ผู้ชนะกินรวบได้หมดและครอบงำเข้าไปได้ทุกภาคส่วนในประเทศ เหมือนที่ได้สร้างระบอบทักษิณขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

ตอนนี้ก็เริ่มมีแนวทางชัดเจนออกจากทั้งจากทางฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงสถาบันพระปกเกล้า ที่ประธานกรรมาธิการคืออาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยกุมบังเหียนอยู่ และหวังจะใช้เป็น “ถังความคิด” (Think tank) ของการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

แนวทางที่เริ่มเห็นภาพแล้ว คือเรื่องที่มาของสภาฯ กับคณะรัฐมนตรี ตอนนี้แย้มออกมาว่า ต่อไป ครม.กับสภาฯ น่าจะมีการเลือกตั้งแยกกัน และสภาผู้แทนราษฎรอาจจะใช้วิธีเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อแบบเยอรมนีเป็นต้นแบบ

ในที่นี้เห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีนั้น เป็นข้อเสนอที่ชัดเจน มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ และฟังดูน่าสนใจว่าจะแก้ปัญหาเดิมๆ ของระบบการเลือกตั้งที่ก่อปัญหาทางการเมืองมากว่า 10 ปีแล้วได้ จึงอยากนำความเห็นต่างๆ มาสรุปไว้ดังนี้

ระบบบัญชีรายชื่อนี้ ประเทศไทยเราเคยนำมาปรับใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แล้ว แต่เป็นแบบคู่ไปกับระบบเขตเดียวคนเดียว เป็นระบบลูกผสมซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่า พรรคที่ได้เสียงจากระบบเขตมากอยู่แล้ว ก็จะได้แถมเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเข้าไปอีก

อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า ระบบวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมนีจะทำให้ทุกคะแนนที่ลงนั้นมีค่า ไม่ถูกตัดทิ้ง พรรคขนาดกลางและเล็กมี โอกาสได้ ส.ส.มากขึ้นเพราะจะคิดจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก

อาจารย์ยกตัวอย่างว่า หากประเทศไทยมี ส.ส.ได้ 500 คน หากพรรค ก. ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อคิดเป็นร้อยละ 10 หรือได้จำนวน ส.ส. 50 คน และพรรค ก. ยังชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอีก 50 เขต ผลก็คือ พรรค ก. จะมี ส.ส.ในสภาฯ ทั้งสิ้นเพียง 50 คน ที่มาจากระบบเขตเท่านั้น แต่ในกรณีของพรรค ข. ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส.ที่ควรจะมี 50 คน แต่ชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 30 เขต ผลคือ พรรค ข.จะมีส.ส. 50 คน มาจากแบบแบ่งเขต 30 คน และจะได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 50 คน โดยระบบนี้จะคำนึงถึงผู้ที่ลงคะแนนเสียงในภาพรวมเป็นหลักเพื่อมาคำนวณหาสัดส่วน ส.ส.ที่ควรจะเป็น คือเท่ากับว่า พรรคการเมืองจะไม่ได้จำนวน ส.ส.มากไปกว่าจำนวนเสียงทั้งหมดในสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อให้

ระบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงเด็ดขาดได้ทั้งหมด เพราะไม่ใช่ว่ากวาดที่นั่งในระบบเขตไปแล้วจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแถมมาให้ด้วยจนครองที่นั่งเกือบเต็มสภาฯ

โดยนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง คือ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลือกตั้งเปรียบเทียบ ก็ให้ความเห็นสรุปได้ว่า การเลือกตั้งระบบนี้จะมีความสมเหตุสมผล เพราะถ้าดูตามสถิติจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งแบบนี้เช่นในการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อคือ48 % แต่ปรากฏว่าได้ที่นั่งในสภาฯ กว่า 53% ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนที่นั่งในสภาฯ เป็น 31% แต่ประชาชนที่เลือกประชาธิปัตย์ มีจำนวน 35 % ทำให้ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งน้อยกว่าเสียงของคนทั้งประเทศที่เลือกพรรคนี้ อาจกล่าวได้ว่าถือว่าพรรคเพื่อไทยได้กำไร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นขาดทุนจากวิธีการเลือกตั้งในระบบเดิม

ส่วนพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย หากนำมาเทียบกับกรณีการเลือกตั้งปี 2554 นั้น ที่ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ 4 % จะเห็นว่า จากจำนวนสมาชิกสภาฯ 500 คน พรรคภูมิใจไทยก็ควรจะได้ 19 ที่นั่ง แต่เมื่อระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ก็ไม่ได้ออกแบบให้ตัด ส.ส. ออก ดังนั้น ส.ส.ทั้ง 29 คนก็ยังเป็น ส.ส.อยู่ เพียงแค่พรรคพรรคภูมิใจไทยจะไม่ได้รับการจัดสรรในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเลยในระบบนี้

อาจารย์สิริพรรณจึงเห็นว่าระบบการคิดที่นั่งในสภาฯ จากระบบเลือกตั้งดังกล่าวมีความสมเหตุสมผล นำมาซึ่งการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ โดยพรรคใหญ่อันดับหนึ่งที่เคยได้ประโยชน์จากกลไกระบบเลือกตั้งที่นั่งในสภาฯ ของเขาจะลดลง เป็นการเกลี่ยคะแนนที่เขาเคยได้ประโยชน์จนเกินไปมาให้พรรคอันดับสองและลำดับรองๆ ลงมา ขึ้นอยู่กับว่าพรรคนั้นได้คะแนนนิยมทั้งประเทศมากหรือน้อย โดยถือว่าพรรคที่ได้คะแนนนิยมจากประชาชนทั้งประเทศมาก ก็จะได้ประโยชน์มาก เพราะถือว่าประชาชนทั้งประเทศเลือก ส่วนพรรคที่ได้ ส.ส.เขตเยอะ มีลักษณะอิงตัวบุคคลก็จะเสียเปรียบ

โดยรวมแล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางแบบเยอรมนีนี้ และเตรียมจัดทำเอกสารนำเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณากันต่อไป

ทั้งนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือ ทุกคะแนนจะมีความหมาย และทุกภาคส่วนมีโอกาสที่จะได้รับเลือก ส่วนข้อเสียจะมีความยุ่งยากไทยชินกับการเลือกตั้งที่คนได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะได้รับเลือกตั้ง แต่ระบบของเยอรมนีคนที่ได้ลำดับที่ 2 ก็อาจจะได้รับเลือกด้วยก็ได้ ซึ่งคนไทยอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้ยากมากจุดอ่อนอีกเรื่อง คือ การทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งจากการคิดคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ แต่ถ้าคิดว่าสามารถอดทนกับความยุ่งยากตรงนี้ได้ ระบบเยอรมนีนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ หากว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ยังมีเวลาอีกหนึ่งปี ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ อาจจะทดลองใช้ในบางพื้นที่ก่อนก็ได้

ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของเยอรมนีนี้จึงน่าสนใจ และเท่าที่ฟังๆ ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภาจากการครอบเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จและป้องกันการกลับมาของอะไรที่คล้ายระบอบทักษิณ ที่อาศัยความชอบธรรมเพียงเพราะมีที่นั่งในสภาฯ จำนวนมากได้ ซึ่งเราควรสนใจศึกษากันในรายละเอียดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น