xs
xsm
sm
md
lg

ชงส.ส.-ส.ว. โหวตนายกฯ ไม่เอาเลือกครม.ตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ไพบูลย์" หนุนแนวคิดนายกฯมาจากการโหวตของ ส.ส.-ส.ว. ไม่เอาแบบเดิมที่ให้สภาผู้แทนฯเป็นคนเลือก หวั่นปัญหาซ้ำรอยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง "ประสาร" ขวางแนวคิดเลือกตั้ง ครม.โดยตรง ห่วงปัญหาซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ผิดหลักถ่วงดุลอำนาจ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสปช. เปิดเผยว่า คณะกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะมีการประชุมกันในระหว่างวันที่1-3 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยขณะนี้มี 3 แนวทางที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย

1. การให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนที่เคยทำในอดีต 2. ให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน และ 3.ให้สภาฯ และวุฒิสภาประชุมร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดในการให้สภาฯ เป็นฝ่ายเลือกนายกฯ เหมือนในอดีต เพราะจะทำให้ปัญหากลับไปสู่แบบเดิมในอดีตอีก และจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จึงคิดว่าแนวทางในการให้ ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกัน น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะมาจากการพิจารณาจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เพียงฝ่ายเดียว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า แนวทางทางที่สอง ที่ให้มีการเลือกนายกฯโดยตรง เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ตัดปัญหาระบบพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่คิดว่า แนวทางที่สาม คือแนวทางที่ดีที่สุด

** ไม่เอาเลือกตั้งครม.โดยตรง

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ด้านการเมือง ในฐานะคณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณี คณะอนุกมธ.ชุดโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และองค์กรอิสระ ภายใต้คณะกมธ. ปฏิรูปการเมือง ที่มี นายนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เตรียมเสนอระบบการเลือกตั้ง แบบเลือกครม.โดยตรงจากประชาชน (Cabinet List) โดยจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่ คณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง ในวันที่ 1-2 ธ.ค.นี้ ก่อนสรุปเสนอความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรธน. ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิด เรื่อง Cabinet Listเพราะจะกลายเป็นประเด็นร้อน และอาจไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่อง Check and Balance (หลักถ่วงดุลอำนาจ) รวมทั้งปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ตนเห็นว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอ Cabinet List และชนะเลือกตั้งได้นั้น จะต้องมี

1. ทุนขนาดใหญ่ที่ใช้จ่ายทั้งการบริหารจัดการ การรณรงค์เลือกตั้ง และการซื้อเสียงอปท.ทั่วประเทศ ที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองที่เป็นจริง

2. เป็นพรรคที่มีความสามารถในการจัดการในระดับสูง 3. เป็นพรรคที่มีเครือข่ายระบบอุปถัมภ์อย่างกว้างขวาง

4. เป็นพรรคที่มีอานุภาพในการใช้สื่อ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีคนดีคนใดที่จะเอาทุนและตัวเองเข้ามาสมบุกสมบันกับการหาเสียงมหาโหดที่มีหายนะเป็นที่หมาย

นายประสาร กล่าวต่อว่า ปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าพรรคชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล กับพรรคชนะเลือกส.ส. เป็นพรรคเดียวกัน จะตรวจสอบกันอย่างไร และถ้าเกิดเป็นคนละพรรค จะทำงานกันอย่างไร จึงมีแนวโน้มทั้งเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าในอดีต และมีแนวโน้มมุ่งหน้าโค่นรัฐบาลลูกเดียว "การออกแบบการเลือกตั้ง หรือการเข้าสู่อำนาจตามรูปแบบ วิธีการเดิม ต้องเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่ลดบทบาทของทุนและระบบอุปถัมภ์ หาไม่แล้วประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย คือไปไม่พ้นจากเผด็จการของทุนอัปรีย์ นำสู่การปล้นชาติซ้ำ แล้วประชาชนต้องใช้ส้นตีนอีก ตามมาด้วยรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์" แกนนำอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ระบุ

** เลือกตั้งยึดปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุคณะกรรมาธิการพิจารณากรอบจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 กล่าวว่า ในที่ประชุมที่มี นายสุจิต บุญบงการ ประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการหารือประเด็นการมีผู้นำการเมืองที่ดี ระบบผู้แทนที่ดี โดยมีการเสนอรูปแบบการจัดการเลือกตั้ง การนับผลคะแนนเลือกตั้งส.ส. ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ ระบบเขต รูปแบบใหม่ โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในโมเดลเลือกตั้งจากต่างประเทศ โดยตนได้เสนอรูปแบบของเยอรมัน เพราะวิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนมีค่า ไม่ถูกตัดทิ้ง รวมถึงจำนวนผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองจะสอดคล้องต่อเสียงประชาชน พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้น เพราะระบบการนับคะแนน จะคิดจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทย ทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ ปี 50 ที่เป็นระบบแบบแถมให้พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่าไร ก็ให้ไปรวมกับสัดส่วนที่ได้จากบัญชีรายชื่อทั้งหมด แต่ระบบนี้จะคิดจำนวนผู้แทนฯ จากระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก และที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ ขายเสียง จากการเลือกตั้งได้ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับแนวทางของตน และเตรียมจัดทำเอกสารนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณา ในวันที่ 12 - 13 ธ.ค.นี้ และคิดว่าคณะกรรมาธิการยกร่าง น่าจะตอบรับแนวทางที่ทางอนุกรรมาธิการฯได้ทำเสนอไป

**ผลักดันความเสมอภาคชาย-หญิง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภาค กล่าวในเวทีเสวนา "ความเสมอภาคหญิง-ชาย ในรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ" ที่เครือข่ายองค์กรสตรีหลายองค์กรร่วมกันจัดขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าควรมีการหารือว่า จะทำอย่างไรให้มีการบรรจุเรื่องความเสมอภาคหญิง-ชายไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน รวมทั้งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการผลักดัน ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

ขณะที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่ายังคงมีความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย จึงเป็นเรื่องสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคหญิง-ชาย ด้วยการยอมรับในบทบาทของสตรี รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ

นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสมาชิกสปช. กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีสตรีถูกเอาเปรียบและถูกทำร้าย รวมทั้งมีอำนาจการตัดสินใจที่น้อยกว่าชาย อีกทั้ง สัดส่วนของสตรีที่เข้ามามีบทบาทในสังคมยังมีน้อยเห็นได้จากจำนวนสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสปช.ที่มีจำนวนชายมากกว่า นอกจากนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ยังมีปัญหา เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้สตรีมีความเสมอภาค ดังนั้น เห็นว่าการปฎิรูปบทบาทสตรีต้องให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมทุกด้าน

ทั้งนี้ วงเสวนาได้ข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการผลักดันเรื่องความเสมอภาคชาย หญิง อาทิ การกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้หญิงมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศ ระบบผู้แทนฯ และผู้นำการเมืองที่ดีต้องกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกัน และมีมาตราพิเศษ สนับสนุนให้สตรีเป็นผู้แทนฯ และผู้นำการเมืองที่ดี ส.ส. และ ส.ว.ต้องมีสัดส่วนของหญิง-ชายเท่าเทียมกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น