ตั้งแต่แม่น้ำสายสุดท้ายอย่าง “36 อรหันต์ทองคำ” คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แตกแขนงออกมา และเริ่มสตาร์ทขับเคลื่อนกันมาสักพัก ต่อเนื่องมาจนถึงการตั้งอนุกรรมาธิการ (กมธ.) คณะต่างๆ ขึ้นมาอีก 10 คณะ แบ่งเป็นหมวดๆ เพื่อไปศึกษา ทำให้ช่วงที่ผ่านมา แนวความคิด ความคิดเห็นส่วนตัว และผลการศึกษาจากคณะต่างๆ หรืออนุกมธ.บางคน ทะลักออกมาราวกับเลือดไหลไม่หยุด
บางประเด็นกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ขานกล่าวกันเป็นกระแสสังคม บางประเด็นดูวิลิศมาหราไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย จนกลายเป็นปรากฎการณ์ “ไอเดียกระฉูด”
แต่แม้จะพรั่งพรูออกมามากมายขนาดไหน สุดท้ายตามกฎหมายแล้ว อนุกมธ.เหล่านี้ก็ทำได้เพียงแค่เสนอแนะ ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” เพราะคนชี้ขาดคือ “36 อรหันต์ทองคำ”
กระนั้นก็ดี ก็ไม่สามารถมองข้ามได้เสียทีเดียว เพราะแม้บางไอเดียที่เกิดขึ้นจะดูออกไปในเชิง “มโน” มากกว่าจับต้องได้ก็จริง แต่แนวความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เคยคิดเคยพูดกันมาแล้วหลายปี โดยเฉพาะมันออกมาจากคนที่มีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันแทบทั้งสิ้น
จนบางทีน่าสังเกตว่า การออกมานำเสนอแนวความคิดที่บางครั้งดู “สุดโต่ง” เกินไปออกอากาศ เปรียบเสมือนกับการโยนหินถามทาง หยั่งกระแสสังคมว่ามีผลตอบรับกับไอเดียนั้นๆ มากน้อยเพียงใด เพราะอย่างน้อยหากถูกต่อต้านมากๆ ก็สามารถอ้างได้ว่า อนุกมธ.เหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ แค่ทำหน้าที่ศึกษาเท่านั้น
แต่ขณะเดียวกัน หากไอเดียนั้นๆ ได้รับการตอบรับอย่างท้วมท้น นี่อาจจะเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งในการนำสิ่งที่ “มโน” ไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ด้วยการไปยัดใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยอ้างอิงว่ากระแสสังคมเห็นดีเห็นงาม ดังนั้น จึงไม่อาจสามารถมองข้ามได้เลย
เหมือนกรณีที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุ กมธ.จัดทำกรอบรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ออกมาจุดพลุเรื่องปมนิรโทษกรรม ที่มีทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุน หรือแม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่แนวความคิดของรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูตายเสียทีเดียว
สอดคล้องกับ “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ที่ไม่ขัดข้องหากทุกฝ่ายในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะคลอดออกมาแล้วค่อยมาว่ากันว่าจะทำด้วยวิธีการใดๆ ขณะเดียวกัน ยังเปิดประตูให้มีการโยนหินถามทางออกมาเยอะๆ ในรูปแบบสำเร็จรูปว่า จะนิรโทษกรรมให้ใคร จะนิรโทษกรรมในช่วงเวลาใด จะแยกคดีอย่างไร และจะออกเป็นรูปแบบไหน
ความเป็นจริงก็มีกระแสข่าวออกมาเหมือนกันว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลมีไอเดียนี้อยู่ ติดแค่ว่า จะนิรโทษกรรมแค่ต้นซอย กลางซอย หรือจะสุดซอยกันไป ยิ่งคนที่ออกมาตีเกราะเคาะไม้ครั้งนี้นามว่า “เอนก” ประเด็นดังกล่าวยิ่งมิอาจปล่อยผ่านได้เลย เพราะบุคคลนี้ถือเป็น “คีย์แมน” คนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หลายไอเดียของเขากำลังจะนำไปสู่การต่อยอดหลายประเด็น
ที่สำคัญ “เอนก” มีภาพลักษณ์ที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาวางตัวได้อย่างแยบยล ตลอดจน “เนติบริกรผู้น้อง” นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ซูฮกให้ ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วเรื่องดังกล่าวจะนำมาสู่รูปธรรมอย่างไร "เนติบริกรผู้พี่” อย่างนายวิษณุรู้ดี เพราะไม่ใช่งานยากสำหรับคนที่ร่างกฎหมายช่ำชอง
ขณะที่ประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งตามสูตร “เยอรมันโมเดล” ที่อนุกมธ.ชุด นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน และมีกูรูกฎหมายอย่าง นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นั่งอยู่ด้วยนั้น ฟังดูอาจสลับซับซ้อนเข้าใจยาก สำหรับบ้านเราถือว่า เป็น “ของใหม่” แต่ความจริงระบบเลือกตั้งแบบเก่าของไทยก็ใช้ของเยอรมันมาแบบ “ครึ่งใบ” อยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้จะเอากันแบบ “เต็มใบ” เลย
และถือว่า ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจับต้อง เพราะขณะนี้เสียงสนับสนุน โดยเฉพาะภาคส่วนวิชาการยกมือเชียร์กันค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในราย นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คนเสื้อแดงยังพอให้เครดิต หรือจะเป็นในรายของ “วิษณุ” ที่แม้จะแทงกั๊กว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่คอมเมนต์หมายเหตุติดปลายนวมไว้อย่างน่าสนใจ
นั่นคือ หากคนไทยทนความยุ่งยากเกี่ยวกับระบบได้ก็ไม่มีปัญหา คุ้มค่าที่จะทำ เพราะยังมีเวลาอีก 1 ปี ในการสร้างความเข้าใจ หนำซ้ำ อาจทดลองทำได้ 1 - 2 แห่งนำร่องก่อน
อย่างไรก็ดี หากแกะสาระสำคัญของ “เยอรมันโมเดล” เที่ยวนี้ จุดประสงค์หลักคือ การทำให้พรรคใหญ่อ่อนแอลง และทำให้พรรคขนาดเล็กเข็มแข็งขึ้น ทุกพรรคมีโอกาสมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ยึดติดแค่สองพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์” เหมือนที่แล้วมา
ตามยุทธศาสตร์โลกสวยลดกำลังพรรคใหญ่ด้วยกฎหมาย แต่จะได้ผลหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะหากถอดบทเรียนรัฐธรรมนูญปี2550 สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ต่อให้สร้างกฎเหล็กแค่ไหนก็ไม่สามารถตัดกำลัง “ระบอบทักษิณ” ลงไปได้ นั่นเป็นเพราะวันนี้ทุกอย่างมันฝังรากลึกไปในแนวความคิดคนไทย
ต่อให้ยุบพรรคไทยรักไทยก็เกิดพรรคพลังประชาชน ต่อให้ยุบพรรคพลังประชาขนก็เกิดพรรคเพื่อไทย และต่อให้ตัดแขนตัดขาพรรคเพื่อไทยจนหดสั้นด้วย “เยอรมันโมเดล” มีส.ส.จากพรรคได้ที่นั่งเพียงในจำนวนที่เขาจำกัดไว้ แต่นอมินีในระบอบทักษิณก็ยังมีโอกาสออกไปตั้งพรรคเล็กพรรคน้อยขึ้นมามากมายก่ายกองอีก จนสุดท้ายก็ไหลไปกองกันอยู่ในรัฐสภา เพียงแค่เปลี่ยนยี่ห้อและสังกัดใหม่เท่านั้น
ดูพรรคเพื่อไทย ดูพรรคชาติไทยพัฒนา ดูพรรคชาติพัฒนา ดูพรรคพลังชล แม้จะต่างชื่อเสียงเรียงนาม แต่ก็ไปบรรจบแพ็กกันในรัฐสภาอยู่ดีเหมือนที่แล้วมา ดังนั้น หากคลิ๊กที่ “เยอรมันโมเดล” จะทำให้เกิดพรรคนอมินีออกมาอีกพรึ่บ
บางทีอาจแยกกันตีในระบบแบ่งสัมปทาน อีสานพรรคหนึ่ง ภาคเหนือพรรคหนึ่ง ภาคกลางพรรคหนึ่ง กทม.พรรคหนึ่ง แต่มีจุดศูนย์รวมใหญ่แบบที่ทราบกันในฉากหลังคือ “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนเดิม
นอกจากนี้ “เยอรมันโมเดล” ยังจะทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในรัฐสภา เพราะการกระจายให้พรรคเล็กๆ เข้ามาจำนวนมากๆ บางทีบุคลากรเหล่านี้อาจเป็นตาสีตาสาที่ไหนก็ได้ที่เข้ามาแบบฟลุ๊กๆ โดยที่ประชาชนไม่ได้เทให้อย่างท่วมท้น
จุดนี้บางทีกมธ.อาจต้องตรึกตรองอย่างเข้มข้น มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเดจาวูฉายซ้ำ กับฉากไล่บี้กันที่ปลายเหตุเหมือนกับตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่
ที่สุดท้ายระบอบทักษิณก็ไม่ได้ตายไปจากสังคมอยู่ดี!!!