xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หนุนติดตั้งโซลาร์รูฟ ลดเหลื่อมล้ำด้านพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวกับสมาชิกฯว่า ในระยะการทำงาน 1 ปีต่อจากนี้ไป ขอให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน เร่งดำเนินการรวบรวมทำแผนปฏิรูปทั้งระดับงานเร่งด่วน ,งานระยะปานกลาง อาทิ การแก้ไขกฎหมายระดับพ.ร.บ. หรือยกเลิก พ.ร.บ.บางฉบับ และงานระยะปฏิรูปที่ใช้เวลาเกินกว่า 1 ปี อาทิ การรื้อโครงสร้างและระบบ โดยแผนที่ได้ดำเนินการจะมีขั้นตอนอย่างไร แล้วเร่งส่งงานมายังสปช. ให้พิจารณา และขอให้สมาชิกร่วมมือกับกรรมาธิการฯ ดำเนินการงานตามเป้าหมายให้แล้วเสร็จ โดยวันที่ 8 ม.ค.นี้ ตนพร้อมคณะกรรมการประสานงานที่ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ , คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช. และ คณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 5 คณะ จะประชุมเพื่อเตรียมการระดมความเห็น ทำวิสัยทัศน์ในภาพรวมการปฏิรูป เบื้องต้นคาดว่า จะประชุมได้ก่อนสิ้นเดือนม.ค.นี้
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. หารือว่า ควรจะมีการเปิดประชุมเพื่อให้สมาชิกฯ อภิปรายในประเด็นการปฏิรูปเชิงระบบ และเชิงโครงสร้าง โดยใช้เวลา 2 วัน 2 คืน หรือ 3 วัน 3 คืน ก่อนที่จะเข้าสู่การประชุมเวิร์กชอป เพื่อพูดคุยประเด็นวิสัยทัศน์ กำหนดแผนปฏิบัติที่สำคัญ นอกจากนั้นสปช. ต้องออกไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิก สปช. หารือว่า ตนกังวลต่อประเด็นอายุการทำงานของสปช. แต่ที่ผ่านมาการทำงานของสปช. ยังไม่สะท้อนภาพรวมงานปฏิรูป ดังนั้นขอเสนอให้ภายในสัปดาห์นี้ กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 ชุด ต้องจัดประชุมเพื่อเรียงลำดับงานปฏิรูปในแต่ละเรื่องว่า ประเด็นใดอยู่ในประเภทความเร่งด่วน , เป็นแผนภายใน 1 ปี และ แผนระยะยาว จากนั้นให้นำเสนอต่อวิป สปช. ให้จัดลำดับเรื่องที่ต้องพิจารณาเร่งด่วน ผ่านการสอบถามตามแบบสำรวจความเห็นจากสมาชิก สปช.
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน ประธานสปช. คนที่ 1 ฐานะประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้ส่งเอกสารเป็นรายงานการประชุมของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ มายังสปช. ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้ว ซึ่งตนได้กำชับให้ทำสำเนาแจกกับสมาชิก สปช. ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.นั้น ได้เปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ได้ร่วมรับฟังด้วย นอกจากนั้นแล้ว ตนเตรียมหารือกับที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า หากการพิจารณาในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ, หมวดสิทธิ เสรีภาพ และการปฏิรูป ที่เป็นข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปชุดต่างๆ จะเชิญกมธ.ชุดนั้นๆ เข้าร่วมประชุมด้วย
" ข้อเสนอที่สปช.ส่งมานั้น ต้องสกัดเอาแก่น บางทีก็นำคำมาเขียนเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญใหม่ยาวเกินไป อย่างไรก็ตามยินดี และเต็มใจให้สมาชิก สปช. เข้าร่วมรับฟังการพิจารณา" นายบวรศักดิ์ กล่าว

** สปช.หนุนติดตั้งโซลาร์รูฟ

นอกจากนี้ ที่ประชุมสปช.ยังได้พิจารณาข้อเสนอโครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win) เรื่องการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้า ด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร ) ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน พิจารณาแล้วเสร็จ
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และอนุรักษ์พลังงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้ชี้แจงถึงข้อเสนอดังกล่าว ว่า ทางคณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญในด้านพลังงาน เช่น รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และส่งเสริมให้มีการผลิต และใช้พลังงานหมุนเวียน โดยจะต้องให้ประชาชน และชุมชนเป็นผู้ผลิตเพื่อใช้เองและจำหน่ายด้วย ซึ่งประชาชนต้องตระหนักว่า ตนเองเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ผลิตพลังงาน และต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ซึ่งข้อเสนอที่จะให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีนั้น คือ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือตามพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน และอาคาร ซึ่งจะกำหนดให้เซลล์แสงอาทิตย์ อินเวอร์เตอร์ หรืออุปกรณ์วัสดุต่างๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบและมาตรฐานของการไฟฟ้าฯ โดยทางกระทรวงพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ และวิธีการให้เจ้าของบ้านและอาคารเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังจากการใช้ในบ้านและอาคารในระดับที่เหมาะสม และทางรัฐบาลจะต้องบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือแผนพีดีพี ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2579 และควรมีการลงทุนด้านสายส่งและสายจำหน่ายอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องดังกล่าวในด้านภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้เพื่อให้โครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยทางคณะกรรมาธิการจะได้นำข้อเสนอนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาด หากมีการดำเนินการจะลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมทั้งจะลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ จากการดำเนินก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในชุมชนต่างๆ มีการเสนอให้ขยายโครงการดังกล่าวไปยังหน่วยงานราชการ รวมทั้ง ขอให้ทางธนาคารของภาครัฐ สนับสนุนเงินทุนสำหรับประชาชนที่มีความสนใจที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบางรายมีความเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าว อาจจะสร้างความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะโครงสร้างของบ้านทั่วไปไม่ได้ออกแบบให้ติดอุปกรณ์ต่างๆ บนหลังคาและมีความกังวลว่า แผงโซลาร์รูฟ จะเป็นสื่อล่อฟ้าให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านได้ อีกทั้งไม่ควรให้ชาวบ้านเป็นหนูทดลองในโครงการนี้ ดังนั้น ควรที่จะให้มหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ที่มีความพร้อมทดลองก่อนที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ชี้แจงว่า ทางกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิรูปเร่งด่วนนั้น ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหลังคาเรือน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานที่มีอยู่ทั่วถึง และกระจายในทุกพื้นที่ โดยไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของผูกขาดได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเรื่องโซลาร์รูฟนั้น ถือเป็นการกระจายอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจ และกระจายความเป็นเจ้าของพลังงาน แทนที่จะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว ซึ่งถือเป็นการรณรงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนทางหนึ่ง
ส่วนของกังวลว่าในอนาคตการดำเนินการดังกล่าว จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงนั้น ตนเห็นว่า ถ้ามีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ราคาของแผงโซลาร์รูฟ ก็น่าจะมีราคาลดลง และกระบวนการตามโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนประหยัด เพราะนอกจากจะลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นๆได้ด้วย ซึ่งถือเป็นมติใหม่ในการปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยตามข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นจะทำการส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

**ปัดข้อเสนอพระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีวาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติ และพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยก่อนเข้าสู่วาระ ที่ประชุมได้ให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ล่าสุดทาง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่ได้จากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง จากเดิมได้มีผู้เสนอให้มี ส.ส.เขต จำนวน 200 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน แต่ได้ข้อยุติที่จำนวน ส.ส.ทั้งหมด 450 คน มาจาก ส.ส.แบ่งเขต 250 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน ส่วนข้อเสนอการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต และไม่ควรมีส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังเห็นว่า ควรเปิดให้ที่มาส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองได้ ขณะที่ระบบการคำนวณที่มา ส.ส. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำแนวทางการแบ่งภาค และเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นต้นแบบในการเลือกตั้ง ส.ส.ตามแบบประเทศเยอรมนี
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ผ่าน มาล้วนมีต้นเหตุมาจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการ และเสนอให้พระภิกษุสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อเลือกบุคคลที่มีคุณธรรม แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการทำหน้าที่ซ้ำซ้อน กับอนุกรรมาธิการที่มีอยู่จำนวนมาก โดยที่ประชุมเห็นควรให้เป็นความรับผิดชอบของ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไก และระบบเลือกตั้ง พร้อมกับเข้าสู่วาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมให้ความเห็น ซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง
กำลังโหลดความคิดเห็น