ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ 206 เสียง เห็นชอบโครงการปฏิรูปเร็ว ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟ แผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเสรี พบส่วนใหญ่สนับสนุน บางส่วนคัดค้านหวั่นไม่ปลอดภัย เป็นสายล่อฟ้า ไม่ควรให้ชาวบ้านเป็นหนูทดลอง “รสนา” ชี้ลดเหลื่อมล้ำ ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เอง ขายไฟฟ้าได้ด้วย คาดอนาคตราคาแผงจะถูกลง เป็นมิติใหม่ปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานในการประชุม ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win) เรื่องการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้า ด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร) ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน พิจารณาแล้วเสร็จ โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และอนุรักษ์พลังงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้ชี้แจงถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญในด้านพลังงาน เช่น รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน โดยจะต้องให้ประชาชนและชุมชนเป็นผู้ผลิตเพื่อใช้เองและจำหน่ายด้วย ซึ่งประชาชนต้องตระหนักว่า ตนเองเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตพลังงานและต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
ข้อเสนอที่จะให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีนั้น คือ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือตามพื้นที่ต่างๆ ของบ้านและอาคาร ซึ่งจะกำหนดให้เซลล์แสงอาทิตย์ อินเวอร์เตอร์ หรืออุปกรณ์วัสดุต่างๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบและมาตรฐานของการไฟฟ้าฯ โดยทางกระทรวงพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ และวิธีการให้เจ้าของบ้านและอาคารเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังจากการใช้ในบ้านและอาคารในระดับที่เหมาะสม และทางรัฐบาลจะต้องบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือแผนพีดีพี ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2579 และควรมีการลงทุนด้านสายส่งและสายจำหน่ายอย่างเหมาะสม รวมทั้ง ให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องดังกล่าวในด้านภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้เพื่อให้โครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยทางคณะกรรมาธิการจะได้นำข้อเสนอนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยสมาชิกฯ มีความเห็นว่า เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่สะอาด ซึ่งหากมีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จะลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมทั้งจะลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ จากการดำเนินก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในชุมชนต่างๆ มีการเสนอให้ขยายโครงการดังกล่าวไปยังหน่วยงานราชการ รวมทั้งขอให้ทางธนาคารของภาครัฐสนับสนุนเงินทุนสำหรับประชาชนที่มีความสนใจที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบางรายมีความเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าว อาจจะสร้างความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะโครงสร้างของบ้านทั่วไปไม่ได้ออกแบบให้ติดอุปกรณ์ต่างๆ บนหลังคาและมีความกังวลว่า แผงโซลาร์รูฟจะเป็นสื่อล่อฟ้าให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านได้ อีกทั้งไม่ควรให้ชาวบ้านเป็นหนูทดลองในโครงการนี้ ดังนั้น ควรที่จะให้มหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ที่มีความพร้อมทดลองก่อนที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน ชี้แจงว่า ทางกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิรูปเร่งด่วนนั้น ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหลังคาเรือน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานที่มีอยู่ทั่วถึงและกระจายในทุกพื้นที่ โดยไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของผูกขาดได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเรื่องโซลาร์รูฟนั้น ถือเป็นการกระจายอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจและกระจายความเป็นเจ้าของพลังงานแทนที่จะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว ซึ่งถือเป็นการรณรงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนทางหนึ่ง ส่วนของกังวลว่าในอนาคตการดำเนินการดังกล่าว จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงนั้น ตนเห็นว่าถ้ามีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ราคาของแผงโซลาร์รูฟก็น่าจะมีราคาลดลง และกระบวนการตามโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนประหยัด เพราะนอกจากจะลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นๆ ได้ด้วย ถือเป็นมติใหม่ในการปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยตามข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นจะทำการส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องการกำหนดให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกต่างอภิปรายสนับสนุน เพราะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 แล้วที่ต้องการให้มีองค์กรอิสระผู้บริโภค เพื่อให้มีการถ่วงดุล และคานอำนาจในส่วนของการคุ้มครองกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง หลังจากที่สมาชิก สปช.อภิปรายสนับสนุนให้ตั้งองค์กรดังกล่าวอย่างกว้างขวางเป็นเวลา 2.30 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 215 ต่อ 2 เสียง เพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคนำไปยกร่างเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ภายใน 30 วันต่อไป