xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินบทความในรอบปี 2557 และมองไปข้างหน้า / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่วับซ้อย
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 

เมื่อถึงวาระสิ้นปี สำนักข่าวต่างๆ มักจะมีธรรมเนียมการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี ในบทความนี้ผมก็คิดเช่นเดียวกันครับ พร้อมกับขอมองไปข้างหน้าด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อประเด็นที่ผมให้ความสนใจ ซึ่งรวมถึงเรื่องพลังงาน ตลอดจนความล้มเหลวของการเมืองภาคตัวแทน และความก้าวหน้าของการเมืองภาคประชาชน ขอเริ่มต้นบทความที่ผมเขียนก่อนนะครับ

ทั้งๆ ที่ผมตั้งใจจะเขียนทุกสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วผมทำได้เพียง 45 ชิ้น จาก 52 สัปดาห์ นั่นคือ ผมทำได้ร้อยละ 87 ที่ขาดหายไปก็มีเหตุผลทั้งนั้น เป็นเหตุผลที่เข้าข้างตัวเองมั่ง และจำเป็นจริงๆ มั่ง

ถ้าแบ่งเป็นหมวดหมู่คร่าวๆ พบว่า ประเด็นที่มากที่สุดคือ เรื่องนโยบายพลังงานโดยรวม จำนวน 13 ชิ้น ผมมองประเด็นพลังงานที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความเป็นประชาธิปไตย ผมสรุปว่า หัวใจของประชาธิปไตยกับหัวใจของการจัดการพลังงานอยู่ที่เดียวกัน

นั่นคือ อยู่ที่การยึดหลักการ “คุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์” คือ

หนึ่ง มนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างอิสระ และเท่าเทียมกันและควรจะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นอิสระให้มากที่สุด ไม่ว่าจะปราศจากยาเสพติด สิ่งมอมเมา การก่อหนี้สิน การประกอบอาชีพ รวมถึงการไม่เป็นทาสของพ่อค้าพลังงานผูกขาด

สอง การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนซึ่งถือเป็นคุณค่าระดับพื้นฐานที่สุด ที่สูงไปกว่านั้นก็คือ คุณค่าที่ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม

ประเด็นที่ผมเขียนมากรองลงมาคือ เรื่องโซลาร์เซลล์ จำนวน 10 ชิ้น ซึ่งผมได้นำเสนอถึงความสำเร็จในต่างประเทศ ทั้งหลักการและกลไกการปฏิบัติ รวมถึงตัวอย่างจากโรงเรียนศรีแสงธรรมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกกว่าที่การไฟฟ้าฯ ขายปลีกให้แก่ผู้ใช้ในครัวเรือน

ประเด็นที่เขียนมากอันดับสาม คือ การให้สัมปทานปิโตรเลียม จำนวน 7 ชิ้น ผมได้แสดงหลักฐานเชิงตัวเลขที่ทางกรมเชื้อเพลิงพลังงานนำมาเผยแพร่ในแต่ละปี พบว่า บริษัทที่รับสัมปทานปิโตรเลียมได้กำไรมหาศาล คือ ได้ผลตอบแทนสุทธิถึงร้อย 117 ของเงินลงทุน หรืออย่างต่ำ 90% ในช่วง 5 ปีมานี้

ในขณะที่ข้าราชการระดับสูงกลับบอกต่อประชาชนไทยมาตลอดว่า “แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก ขุดยาก ต้นทุนสูง รัฐบาลได้ผลตอบแทนมากกว่าเอกชน และกำลังจะหมดแล้ว” 

ด้านหนึ่งผมรู้สึกโกรธแค้นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้นทุนสูงที่ไหนกัน เพราะกำไรสุทธิถึงกว่า 100% แต่อีกด้านหนึ่งผมก็รู้สึกเศร้าต่อภาคประชาชนที่ไม่ช่วยกันขยายผลให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ตื่นรู้ในเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ ผมชอบคำตอบของศาสตราจารย์นอม ชอมสกี ที่ตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ว่า อยากให้สื่อนำเสนออะไร ท่านตอบว่า “เสนอความจริงที่สำคัญ” ที่ไม่สำคัญถึงจะเป็นความจริงก็ไม่ต้องนำเสนอ ชัดสุดๆ สั้นสุดๆ แต่คนเรามองข้ามกัน

ผมรู้สึกว่าประเด็นที่ภาคสังคมออนไลน์นำมาเสนอ ยังเป็นประเด็นที่เบลอ ไม่ชัดเจน ไม่แหลมคม ทำไมไม่เจาะไปที่ “การปล้นทรัพยากร” มีธุรกิจใดบ้างที่ลงทุนปีละ 1.4 แสนล้านบาท พอรุ่งปีขึ้นมีกำไรสุทธิถึง 1.8 แสนล้านบาท และมากขึ้นตลอดในช่วงที่น้ำมันราคาสูงขึ้น

สำหรับสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือทีวี ผมหมดหวังมานานแล้ว

ประเด็นถัดมาของบทความผมคือ เรื่องการจัดการกิจการไฟฟ้า 4 ชิ้น เรื่องแนวคิดในการพัฒนาที่ผมเรียกว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น” อีก 4 ชิ้น นอกจากนี้เป็นเรื่องอื่นๆ ที่จัดหมวดหมู่ไม่ได้จำนวน 7 ชิ้น

ในด้านจำนวนผู้อ่าน พบว่า โดยเฉลี่ยแต่ละบทความมีผู้อ่าน 4,095 คน (บทความที่มากที่สุด 12,604 คน น้อยที่สุด 589 คน) มีผู้โหวตให้คะแนนเฉลี่ยชิ้นละ 21 คน คะแนนที่ได้ประมาณ 4.9 จากคะแนนเต็ม 5.0 ครับผมไม่ได้แก้ตัวนะครับ ผมได้รับการโหวตให้ได้ระดับ 1 จากพวกที่เข้ามา “ป่วน” จำนวน 1 ถึง 2 คนเป็นประจำในบางบทความที่ไปพาดพิงถึงผลประโยชน์ของบางหน่วยงาน

ในด้านการ “แชร์” บทความเพื่อให้โอกาสแก่ผู้อื่นอ่านด้วย โดยเฉลี่ยบทความละ 544 แชร์ ที่น่าแปลกใจมาก มีอยู่บทความหนึ่งที่มีคนแชร์ถึง 7 พันราย แต่มีผู้อ่านเพียง 7,946 คน แสดงว่ามีอยู่หลายพันรายที่แชร์ไปแล้วไม่มีคนอ่านเลยยกเว้นเจ้าตัวผู้แชร์เอง (หรือเผลอๆ ผู้แชร์ก็ไม่ได้อ่านจริง)

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของเอเอสทีวีภาคใต้ (http://www.manager.co.th/south/) ยังได้กรุณาเผยแพร่ต่อเป็นประจำ ถ้าคิดสัดส่วนของผู้อ่านระหว่างส่วนของภาคใต้กับส่วนของทั้งประเทศ พบว่า ของภาคใต้แม้จะมีผู้อ่านน้อยกว่า แต่มีสัดส่วนค่อนข้างจะสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร อาจจะเป็นเพราะว่าผมมี “แฟน” ทางภาคใต้มากกว่า ขอขอบคุณผู้อ่านทุกภาคครับ

คราวนี้มาถึงประเด็น “มองไปข้างหน้า”

ผมขอมอง 3 เรื่องครับ คือ

หนึ่ง เรื่อง โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าซึ่งผมเขียนถึงบ่อยกว่าเรื่องปิโตรเลียมด้วยเหตุผล 2 ประการคือ (1) ถึงแม้ว่าเราต่อสู้ให้ประเทศได้ผลประโยชน์จากการสัมปทานปิโตรเลียมที่มากกว่าบริษัทได้ตามที่เราต้องการ แต่การใช้พลังงานปิโตรเลียมอยู่ต่อไปก็จะทำให้เราไม่เคารพต่อหลักคุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ (ดังที่กล่าวแล้ว) อยู่ดี และ (2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้อุปกรณ์โซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งลดลงอย่างมากมาย อัตราการลดลงมากกว่าอัตราการลดของโทรศัพท์มือถือที่เราคุ้นเคยเสียอีก ราคาแพงโซลาร์ในปีนี้ประมาณ 1% ของราคาเมื่อ 30 ปีก่อน

แต่เราได้ถูกกลุ่มผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติกีดกันโดยนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในประเด็นนโยบายพลังงานจึงยึดหลักคุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ และเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก

การแทนที่พลังงานชนิดเดิมด้วยพลังงานหมุนเวียน

และแถวหน้าที่เป็นไปได้มากที่สุดของพลังงานหมุนเวียนคือ พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งผ่านทางโซลาร์เซลล์

หลักการทำงานของโซลาร์เซลล์เป็นหลักการเดียวกับที่พืชใช้ในการผลิตอาหารให้ตัวเขาเอง และให้บรรดาพวกสัตว์ทั้งหลายได้กิน และได้ใช้เป็นพลังงาน

เป็นหลักการเดียวกันกับที่อัลเบิร์ต ไอส์ไตน์ ค้นพบจนนำไปสู่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี พ.ศ.2465 (The Law of Photoelectric Effect)


การทำงานของโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องน้ำหล่อเย็น ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยเขม่าควัน พลังงานที่ใช้ก็มาจากดวงอาทิตย์สดๆ ทุกวัน ไม่ต้องขนส่งข้ามทวีป ในขณะที่พลังงานฟอสซิลทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

ที่สำคัญกว่านั้นที่วิศวกรในการผลิตลืมไปก็คือ กระบวนการต้มน้ำให้เป็นไอ ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อนหายไปกับอากาศทันทีถึง 40-60% ในขณะที่การผลิตจากโซลาร์เซลล์มีการสูญเสียพลังงานในขั้นตอนการแปลงกระแสตรงมาเป็นกระแสสลับเพียง 8% เท่านั้น

นักวิชาการบางท่านถึงกับกล่าวว่า “เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะเยอะมากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้เมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์” (หมายเหตุ กรุณาอย่าตีความว่าเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของบรรพชน แต่เราเคารพในวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีบรรพชนเป็นผู้คิดค้นก่อน)

ผมยังอยู่ในเรื่องที่หนึ่ง คือ เรื่องโซลาร์เซลล์นะครับ

ขณะนี้คณะกรรมาธิการพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังเสนอในสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เรียกว่า “การปฏิรูปเร็ว (Quick Win)” เพื่อให้มีการเปิด “โครงการโซลาร์รูฟอย่างเสรี” เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีและ คสช.นำไปปฏิบัติให้เป็นจริงภายใน 1 ปีโดยการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ

ผมเองได้รับเชิญให้ไปให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง (ดังที่ผมได้เขียนเล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา

เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าการไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผมรู้สึกว่า “ท้องฟ้าเปิด” แล้วครับ

ขณะนี้บ้านใดก็ตามสามารถต่อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์จากหลังคาบ้านของตนเองได้แล้ว แม้จะมีไฟฟ้าบางส่วนจากหลังคาย้อนไปสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า โดยไม่มีความผิดตามระเบียบเก่าของการไฟฟ้า (แต่ทั้งนี้ยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดิม)

แต่การไฟฟ้าฯ ยังไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ไหลย้อนเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ

คณะอนุกรรมการชุดนี้กำลังเสนอเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใด ในราคาที่การไฟฟ้าฯ ขายปลีก (ซึ่งแพงกว่า) หรือราคาขายส่ง (ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้การไฟฟ้าภูมิภาค และนครหลวงในราคาถูกกว่าเจ้าของบ้านเคยจ่าย) เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดกันต่อไป

ผมได้นำเสนอต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่า โรงเรียนมัธยมกว่า 3,700 โรง ซึ่งติดโซลาร์เซลล์ในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวนมาก สามารถนำไปเป็นเงินเดือนครูเดือนละ 1 แสนบาท ได้ถึง 2,200 คน ตลอดไปนานถึง 25 ปี

สิ่งที่ผมรู้สึกเป็นห่วงอยู่ก็คือ เกรงว่าระเบียบที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามหลักการที่ดูสวยงาม เช่นอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่รายใหญ่ๆ มากเกินไป ในทำนองที่ใครคนหนึ่งพูดว่า “นางฟ้าอยู่ในหลักการ ซาตานอยู่ในรายละเอียด” 

ดังนั้น ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่สามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์ควรจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่าให้เหมือนโครงการ “โซลาร์เซลล์ 800 ตำบล 800 เมกะวัตต์” ในรัฐบาลชุดก่อนที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการทุจริตกันในขั้นตอนใด

สอง เรื่องการเมืองในระบบตัวแทน

ผมสังเกตว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญต่อที่มาของคณะรัฐมนตรี และของผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่การพูดถึงการเมืองภาคประชาชน ตลอดจนสิทธิของชุมชนเลย

ผมเคยเขียนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาก็ดี ในยุโรปก็ดีว่า การเมืองในระบบตัวแทนไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็คือ ในขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการ (ไม่ใช่ประชานิยม) การเพิ่มตำแหน่งงานให้ประชาชน แต่นโยบายของรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่ตอบสนอง แต่กลับให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของผู้อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองทั้งสิ้น การลดภาษีเงินได้ให้แก่ภาคธุรกิจ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีของอินเดียคนใหม่ซึ่งเป็นคนแรกที่เกิดภายหลังจากประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่เคยประกาศนโยบายเพื่อคนจนจนได้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ขณะนี้กำลังแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมให้สามารถทำลายสิ่งแวดล้มได้มากขึ้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเมืองในระบบตัวแทนได้สะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลดน้อยลงทุกวัน

ปรากฏการณ์นี้มีหลักฐานชัดเจนในสถิติการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่เมื่อร้อยปีก่อนมีผู้ใช้สิทธิถึงกว่า 80-90% แต่ในยุคหลังๆ แค่ 50% ก็ลุ้นกันแทบแย่แล้ว

ล่าสุด เพื่อนที่กำลังให้ความรู้เรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จากญี่ปุ่น ได้เล่าให้ฟังว่า การเลือกตั้งในประเทศญี่ปุ่นครั้งล่าสุด มีผู้มาใช้สิทธิต่ำมาก

เมื่อผมตั้งคำถามว่า “ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์หรือเปล่า” เธอทั้งสองตอบว่า “ไม่แน่ใจ แต่ต่ำมาก”
 
ในโอกาสที่เรากำลังจะปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ผมเรียนตามตรงว่า “เรามั่นใจแล้วหรือว่า เราจะไปทางไหนกัน และด้วยเหตุผลอะไร?” 

เพราะผมเห็นที่เสนอบางเรื่อง เช่น กลัวการซื้อเสียงของ ส.ส.จึงให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรง อ้าว การเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงก็ซื้อเสียงได้เช่นเดียวกันนี่!

สามองค์กรระดับโลกแก้ปัญหามนุษยชาติไม่ได้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2557 ได้มีการประชุมระหว่างประเทศ 196 ชาติทั่วโลกที่ชื่อว่า “U.N Climate Change Conference” ที่กรุง Lima ประเทศเปรู ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมหลายพันคน นาน 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมข้อเสนอในการประชุมสหประชาชาติในปี 2015

จากการรายงานข่าวซึ่งปรากฏอยู่ในบทความชื่อ อนาคตที่น่าเศร้าของโลกเรา (The Sad Future of Our Plant) ซึ่งเขียนโดย Roberto Savio ประธานและผู้ก่อตั้ง Inter Press Service, IPS

ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของ Savio ที่ว่า “ระบบรัฐบาลร่วมของโลกในปัจจุบันได้ประจักษ์อย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่ในความสนใจร่วมของมนุษยชาติได้” (It is now official: the current inter-governmental system is not able to act in the interest of humankind.)

ทั้งๆ ที่ในการประชุมดังกล่าวได้มีผู้นำสูงสุดของสหรัฐอเมริกา และจีนซึ่งเป็นสองผู้ร่วมก่อมลพิษมากที่สุดในโลก แต่ร่างข้อตกลงในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่มีมาตรการบังคับแต่อย่างใด“สาระสำคัญคือ ให้แต่ละประเทศไปตัดสินใจเอาเองว่าจะลดมลพิษด้วยหลักของแต่ละประเทศ” 

สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในที่นี้ก็คือ การเมืองในระบบตัวแทนกำลังล้มเหลวประเทศแล้วประเทศเล่า ทั้งยุโรปที่เป็นต้นแบบ สหรัฐอเมริกา จนลามมาถึงอินเดีย และญี่ปุ่นในทวีปเอเชียของเรา

พร้อมๆ กันนี้หน่ออ่อนๆ ของการเมืองภาคประชาชนก็ได้ผุดบังเกิดขึ้นทั่วโลก ข้อเสียมีอยู่อย่างเดียวคือ ประชาชนไม่รู้พลังที่แท้จริงของตนเอง และไม่รู้พลังงานของการสื่อสารในเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับโซลาร์เซลล์ ความขยันของคนในสังคมออนไลน์จึงไปอยู่ประเด็นส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่

กรุณาอย่าคิดว่าผมจับแพะชนแกะนะเพื่อให้ลงกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่โซลาร์เซลล์ครับ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เพราะว่าโลกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้เพราะแสงอาทิตย์ครับ ลองให้พระอาทิตย์หายไปสักเดือนสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น แสงอาทิตย์นี่แหละที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดตามความเชื่อของมนุษย์ที่นำมาเป็นหลักในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ แต่ได้ถูกกลุ่มพ่อค้าลากไปสู่ความเป็นทาส ความไม่มีอิสรภาพที่เป็นค่าสำคัญของมนุษย์

ภาพข้างล่างนี้คือข้อมูลแถมครับ ว่าประเทศอื่นๆ เขาก้าวหน้าไปถึงกันที่ว่า ทุกๆ 5 หลัง ติดแผงโซลาร์เซลล์หนึ่งหลัง
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น