xs
xsm
sm
md
lg

Here Comes the Sun…ดวงตะวันโผล่มาแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในวันแรกของการทำงานราชการประจำปีใหม่ 2558 นี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ในโครงการที่เรียกว่า “โครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win)”ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี”

ผมยังไม่ทราบว่าผลการประชุมจะออกมาในรูปใด แต่เรียนตามตรงว่าผมรู้สึกตื่นเต้นกับแนวความคิดของโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะผมเองก็มีโอกาสได้รับทราบและร่วมแลกเปลี่ยนทั้งแนวคิดและรายละเอียดมาพอสมควร

สาระสำคัญของโครงการนี้ก็คือการอนุญาตให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและอาคารสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วเชื่อมต่อไฟฟ้าที่ตนผลิตเองได้เข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ได้อย่างเสรีโดยไม่มีการจำกัดจำนวน พร้อมกับลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคที่ไม่จำเป็นอีกมากมาย เช่น ยกเลิกใบอนุญาต รง.4 การขออนุญาตต่อเติมอาคาร เป็นต้น

ในฐานะที่ผมได้ติดตามและผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2547 ภายหลังจากการได้ร่วมการประชุมพลังงานงานหมุนเวียนโลกที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ความรู้สึกของผมก็คงไม่ต่างไปจากที่ปรากฏในเนื้อเพลง Here Comes the Sun ของวง The Beatles ซึ่งแต่งโดย George Harrison เมื่อปี 2512 ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงของวงที่โด่งดังมากไปทั่วโลกในยุคนั้น

ยิ่งผมได้ทราบมาว่าในช่วงที่แต่งเพลงนี้ ผู้แต่งกำลังมีความทุกข์ส่วนตัวหลายเรื่องประดังประดาเข้ามา ผมจึงรู้สึกดื่มด่ำในเนื้อเพลงบางวรรคที่ว่า “มันเป็นฤดูหนาวที่ยาวนานและรู้สึกโดดเดี่ยว (a long, cold, lonely winter)” “แม้เวลาเพียงฤดูกาลเดียวแต่รู้สึกราวกับมันเนิ่นนานนับหลายปี”

ผมเองเคยตั้งชื่อบล็อกว่า “หวันตั้งดาน” ในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อหลายปีก่อนก็เพราะจำความชีวิตวัยเด็กในชนบทได้ว่าต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยในตอนดึกที่ปราศจากยาและหมอรักษา ชีวิตจึงขึ้นอยู่กับความหวังว่าเมื่อไหร่ดวงตะวันหรือ “หวัน” ในภาษาปักษ์ใต้จะขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อได้ไปหายาหรือตามหมอมารักษาแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่รอคอย แต่มันช่างยาวนานเสียเหลือเกินในความรู้สึกของคนที่กำลังมีความทุกข์

ผมขอโทษที่ต้องเกริ่นเรื่องนี้มาค่อนข้างยาว แต่มันมีความสำคัญและเป็นความหวังที่สำคัญไม่เพียงแต่ของบุคคลรายใดรายหนึ่งเท่านั้น แต่มันเป็นความหวังเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติทั้งโลกจริงๆ เลยทีเดียวครับ

โลกของเรากำลังตกอยู่ในความทุกข์ยากอย่างรอบด้านซึ่งเมื่อย้อนหลังไปเพียง 60 ปีก่อนจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ทั้งด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงอย่างรวดเร็วทั้งบนบกและในทะเล ในขณะที่ด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมกำลังขยายกว้างมากขึ้นทุกปีจนเกือบจะระเบิดเป็นสงครามที่ใช้อาวุธกันอยู่แล้วสาเหตุที่สำคัญก็คือการกำหนดนโยบายพลังงานอย่างผิดพลาดของชาวโลกที่ถูกครอบงำโดยคนส่วนน้อยจำนวน 1%

ขอเรียนย้ำเชิงข้อมูลอีกครั้งนะครับว่า “พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้น เท่ากับพลังงานจากแสงของดวงตะวันที่ส่องมาถึงผิวโลกเพียงแค่ 8 นาทีเท่านั้น”

บัดนี้ ความสามารถทางเทคโนโลยีของมนุษย์เพื่อจะเก็บเกี่ยวพลังงานดังกล่าวได้มาถึงเรียบร้อยแล้ว หลายประเทศได้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าเยอรมนี สหรัฐอเมริกา รวมทั้งออสเตรเลียและประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ก็สูงขึ้นแบบลบสถิติโลกปีละหลายครั้ง

เชื่อไหมครับว่า ในรัฐออสเตรเลียใต้ซึ่งมีแสงแดดในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 4 ของหลังคาบ้านจะมีการติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง (เพิ่มขึ้นจาก 6 ปีก่อนถึง 5 เท่าตัว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ใน 2 หลังคาภายในปี 2020) ส่วนไฟฟ้าที่เหลือใช้สามารถขายผ่านระบบสายส่ง ดังที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังจะนำเสนอให้รัฐบาลนี้ดำเนินการในทันทีที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปเร็ว นั่นเอง

มีประเด็นในรายละเอียดมากมายที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องนำเสนอเป็นแนวทางให้รัฐบาลชุดนี้นำไปปฏิบัติ แต่ในที่นี้ผมจะขอลองนำเสนอตามความคิดเห็นของผมเองซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจและได้สอบถามมาหลายครั้งแล้ว แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้ตอบ

คำถามรวมๆ ส่วนใหญ่ก็คือ (1) ควรจะติดตั้งขนาดเท่าใด (2) ผลิตไฟฟ้าได้เท่าใด และ (3) เมื่อไหร่จะได้ทุนคืน เป็นต้น

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมไม่อยากจะตอบคำถามนี้เลย เพราะตราบใดที่ทางการไฟฟ้าฯ ไม่ยอมอนุญาตให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าได้เข้ากับระบบไฟฟ้าที่มาจากเสาไฟฟ้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทบจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะนอกจากจะต้องสิ้นเปลืองแบตเตอร์รี่แล้ว ไฟฟ้าที่ได้ก็ยังไม่สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศหรือหม้อต้มน้ำด้วยไฟฟ้าได้

มาบัดนี้ ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้บอกกับที่ประชุมว่า อนุญาตให้มีการเชื่อมต่อเพื่อให้ไฟฟ้าจาก 2 ระบบให้ไหลไปมาหาสู่กันได้แล้ว หรือหากไฟฟ้าที่เราผลิตเองจากหลังคามีเหลือ ก็สามารถไหลย้อนเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ได้ โดยเจ้าของบ้านไม่มีความผิด แต่ยังคงไม่มีการจ่ายเงินเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่เราผลิตได้จนเหลือใช้ (แต่ยังคงคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในระดับเดิม)

แต่สิ่งที่ทาง สปช.จะเสนอในคราวนี้ก็คือให้มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ด้วย คือแทนที่จะให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อเพียงอย่างเดียว ต่อไปนี้ให้เจ้าของบ้านหรืออาคารที่มีความพร้อมสามารถเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไปพร้อมกัน ถ้าผลิตได้มากกว่าที่ใช้เองจนเหลือแล้ว ก็สามารถส่งส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบสายส่งเพื่อขายได้เลย หรือหากที่ผลิตไม่พอใช้ก็สามารถดึงไฟฟ้าจากระบบสายส่งมาเสริมได้โดยสรุปก็คือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้านได้ และเป็นการสร้างรายได้โดยตรง (หากมีไฟฟ้าเหลือใช้)

ระบบแบบนี้เรียกว่า Net Metering ซึ่งจะคิดบัญชีกันก็ตอนที่มีการบันทึกการใช้ไฟฟ้าจากมิเตอร์ในแต่ละรอบเดือน

ประเด็นที่ท่านผู้อ่านสนใจ ก็อยู่ในคำถามรวมๆ 3 ข้อดังกล่าว

คำถามแรก ควรจะติดตั้งขนาดเท่าใดจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องทราบเสียก่อนว่า โดยเฉลี่ยในบ้านนี้ใช้ไฟฟ้าเดือนละเท่าใด

ผมขอสมมติว่า บ้านหลังหนึ่งใช้ไฟฟ้าเดือนละ 450 หน่วย (สำหรับชนชั้นกลางหลังละ 2-3 คน) ซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจำนวน 2,026 บาท หรือปีละ 5,400 หน่วย คิดเป็นเงิน (รวมค่าเอฟทีและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ปีละ 24,319 บาทหรือเฉลี่ยในราคาหน่วยละ 4.50 บาท (รวมค่าบริการปีละ 459 บาทด้วย หากไม่รวมค่าบริการก็ประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วย)

จากข้อมูลพบว่า ระบบโซลาร์เซลล์ (ชนิดหนึ่ง) ขนาด 5 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 6,935 หน่วย นั่นคือเรามีเหลือเพื่อขายจำนวนปีละ 1,535 หน่วย

เนื่องจากอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 25 ปี (หรือมากกว่า) ซึ่งโดยปกติค่าไฟฟ้าจะขึ้นราคาเกือบทุกปี ดังนั้น เราควรจะคิดค่าไฟฟ้าทั้งที่เราประหยัดเองได้และทั้งที่เราขายส่วนที่เหลือออกไปด้วย ตามราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามผมทันไหมครับ กรุณาอ่านช้าๆ ใจเย็นๆ และคิดตามไปด้วยนะครับ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

เมื่อผมสืบค้นข้อมูลในอดีต ตั้งแต่ปี 2543 จนถึง 2556 (รวม 14 ปี) พบว่าค่าไฟฟ้าและค่าเอฟทีขึ้นราคาเฉลี่ยปีละ 4.44% (จาก 1.7301 เป็น 4.19 บาทต่อหน่วย) โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้ กฟน.และ กฟภ.ในราคาเฉลี่ยเมื่อปี 2556 เท่ากับ 3.02 บาทต่อหน่วย

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะแย้งว่า ที่ว่าอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในต้นปี 2558 ค่าเอฟทีจะลดถึง 10 สตางค์ต่อหน่วย ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เป็นการเมืองระหว่างประเทศชั่วคราว (ซึ่งแปลกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา) แต่อดีต 14 ปีซึ่งยาวนานพอสมควรเป็นอย่างที่ปรากฏในข้อมูลที่อ้างแล้ว และราคาน้ำมันดิบก็เคยลดลงมากกว่าในปัจจุบันนี้เสียอีกแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ แต่คราวนี้ยาวผิดวิสัยของพ่อค้า

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมขอสรุปว่าได้ตอบคำถาม 2 ข้อแรก (ในเรื่องติดขนาดเท่าใด ได้ไฟฟ้าเท่าใด) ไปแล้วนะครับ อ้าว! ถ้าไม่เชื่อก็ลองย้อนไปดูอีกรอบ คงเหลือข้อที่ 3 ซึ่งจะยุ่งยากสักนิด (คือเรื่องจำนวนเงินลงทุนและผลตอบแทน นานกี่ปีจึงจะคุ้มทุน) แต่ผมมีผลการคำนวณไว้ดังตารางแล้วโดยมีสมมติฐานดังนี้

ในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านจะขายให้กับ กฟน.และ กฟภ.ผมลองสมมติดังนี้ครับ คือ

(1) ในช่วง 10 ปีแรก ให้การไฟฟ้าฯ ทั้ง 2 แห่งมีกำไรหน่วยละ 0.75 บาท นั่นคือสำหรับบ้าน 1 หลัง ทางการไฟฟ้าฯ จะมีกำไรหลังละ 1,151 บาทต่อปี

(2) ในช่วง 15 ปีหลัง ให้การไฟฟ้าฯ ทั้งสองแห่งมีกำไรหน่วยละ 1 บาท โดยมีกำไรหลังละ 1,535 บาทต่อปี

ประเด็นต้นทุนในการติดตั้ง

เรื่องนี้บางท่านอาจจะมีความเห็นต่าง แต่ผมขอสมมติ (แล้วค่อยให้เหตุผลในภายหลัง) ว่ามี 2 ราคาคือ ชุดละ 250,000 บาทและ 300,000 บาท เมื่อเรานำเงินมาลงทุนติดตั้งระบบ เราจะสูญเสียดอกเบี้ยจากที่เคยฝากธนาคารในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ผลการคำนวณเป็นไปตามตารางข้างล่าง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ถ้าลงทุน 2.5 แสนบาทจะคุ้มทุนในปีที่ 10 โดยที่ผลประโยชน์สะสมที่เกิดจากการไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าภายในบ้าน (994,697 บาท) และรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เหลือสะสม (248,214 บาท) รวม 2 รายการก็ 1.2 ล้านบาทถ้าคิดเป็นเงินฝากธนาคารก็ได้ร้อยละ 10 ต่อปี แต่ถ้าลงทุน 3.0 แสนบาทจะคุ้มทุนในปีที่ 12 หรือได้ร้อยละ 8 ต่อปี

ผลประโยชน์ที่การไฟฟ้าได้รับ

การไฟฟ้าฯ กฟน. หรือ กฟภ.จะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1,382 บาท หรือรวม 34,550บาท ตลอด 25 ปี

“แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะได้ผลประโยชน์อะไร?”

คำตอบก็คือ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อมารองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีค (คือช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน) ซึ่งเกิดขึ้นในตอนกลางวันเพียงช่วงสั้นๆ วันละประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น การสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อตอบสนองในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการลงทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทน แต่ก็ต้องลงทุนเพื่อรักษาระบบไฟฟ้าให้มั่นคง ดังนั้นการลดพีคลงมาจึงมีผลประโยชน์มาหาศาลต่อ กฟผ.

ผลประโยชน์ที่สังคมไทยได้รับ

ไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตได้ขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 1 หลัง ใน 1 ปี เท่ากับสามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 65,189 ลูกบาศก์ฟุต (ก๊าซ 9.4 ลูกบาศก์ฟุตผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย-สืบค้นจากรายงานของ กฟผ.)

จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่าในปี 2554 มีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรวม 0.997 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้น ถ้ามีการติดตั้งจำนวน 1 ล้านหลังคาเรือน ก็สามารถลดการใช้ก๊าซได้ถึง 6.5%

จำนวนผู้ติดตั้งหนึ่งล้านหลังคาอย่าคิดว่าเยอะนะครับ เพราะปัจจุบันชาวออสเตรเลียทั้งประเทศจำนวนประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ได้ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้วประมาณ 2 ล้านหลังคาเรือน แล้วประเทศไทยเราละมีจำนวนถึง 22 ล้านหลัง

ถ้าทำได้ดังนี้ สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีบ่นๆ ในรายการคืนวันศุกร์

โดยสรุป จากตัวเลขที่ผมสมมติขึ้นจากฐานความจริงที่มีอยู่ ผมว่าผลจากโครงการ Quick Win จะนำไปสู่ Win-Win เกมกล่าวคือ

การไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 ฝ่ายก็ได้ประโยชน์ ผู้ติดตั้งก็ได้ประโยชน์จากเงินลงทุน แทนที่จะได้ผลตอบแทนร้อยละ 3 จากการฝากธนาคาร เพิ่มมาเป็น 8-10% แม้กู้ธนาคารมาลงทุนก็พอจะคุ้ม

จะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของหลังคาบ้านมาเป็นเจ้าของธนาคารเสียเองก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการลดสภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งรอบๆ โรงไฟฟ้าและลดผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซในภาคอีสานที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ลดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ที่เป็นแหล่งอาหารทะเลและการท่องเที่ยวนี่ยังไม่นับถึงการจ้างงานและการกระจายรายได้อีกเป็นจำนวนมาก

ผมว่านี่คือ Win-Win เกมที่แท้จริง ยกเว้นพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลเท่านั้นที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง

ต้นทุนการลงทุนควรเป็นเท่าใดกันแน่?

ผมมีแหล่งข้อมูลที่จะนำเสนอทั้งจากต่างประเทศและจากการติดตั้งจริงในเมืองไทยครับ

ตารางข้างล่างนี้เป็นของประเทศออสเตรเลียซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละรัฐขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐ

จากข้อมูลพบว่า ต้นทุนต่อวัตต์จะลดลงตามขนาดการติดตั้ง กล่าวคือขนาดยิ่งใหญ่ขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง

จากตารางถ้าติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์จะมีต้นทุนเฉลี่ย (ทั้งประเทศ) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เท่ากับ 1.42 ดอลลาร์ (ผมไม่แน่ใจว่าเป็นออสเตรเลียดอลลาร์หรือสหรัฐดอลลาร์ แต่ขอสมมติว่าเป็นอเมริกันดอลลาร์ซึ่งแพงกว่า)

ดังนั้น ต้นทุนทั้งระบบสำหรับ 5 กิโลวัตต์จะประมาณ 234,726 บาท (1 ดอลลาร์ = 33.06 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาตัวล่างที่ผมเสนอ

นอกจากนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ถ้าใช้ไฟฟ้า 60% ของที่ผลิตเองได้จะทำให้การติดตั้งในเมือง Darwin (ซึ่งมีแดดแรงที่สุด) และเมือง Hobart (ซึ่งมีแดดน้อยที่สุด) จะถึงจุดคุ้มทุนในเวลา 5 และ 7 ปีเศษตามลำดับ (หมายเหตุ ขึ้นอยู่กับราคาค่าไฟฟ้าด้วย)

อนึ่ง ข้อมูลจากประเทศออสเตรเลียและท่านพระครูวิมลปัญญาคุณแห่งวัดป่าศรีแสงธรรมระบุตรงกันว่า อุปกรณ์สำคัญคือ อินเวอร์เตอร์ (ราคา 5 กิโลวัตต์ ประมาณ 38,000 บาท) มีอายุประกัน 5 ปี แต่อาจจะใช้ได้จริงนานถึง 5-10 ปี นี่คือต้นทุนที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในการคำนวณในตารางของผมแต่ก็ไม่ได้ทำให้ระยะเวลาคุ้มทุนต้องเปลี่ยนไป

สำหรับต้นทุนในการติดตั้งในประเทศไทย พบว่าที่โรงเรียนศรีแสงธรรม(จังหวัดอุบลราชธานี) ติดตั้งโดยการซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเองขนาด 6 กิโลวัตต์บนดาดฟ้าอาคาร ในราคา 1.8 แสนบาท ไม่รวมค่าแรงและที่ยึดแผ่น ข้อมูลในช่วง 2 เดือนที่ผ่าน มาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ผมนำมาคำนวณประมาณ 5%

ข้อมูลจากนี้ “หมอขันน็อต” ในจังหวัดเชียงใหม่ (ค้นได้จากกูเกิ้ล ซึ่งผมเคยเขียนถึง) ได้ลงทุนนำเข้าแผงจากประเทศจีนด้วยตนเอง เมื่อรวมต้นทุนทั้งหมด (ยกเว้นค่าแรงเพราะคุณหมอทำเอง) จำนวน 2.49 แสนบาทสำหรับขนาด 6.7 กิโลวัตต์ ซึ่งก็ต่ำราคาที่ผมนำมาลองคิด

เพื่อนผมอีกคนหนึ่ง (ทำเองเช่นเดียวกัน) ลงทุนขนาด 3 กิโลวัตต์ในราคาประมาณเกือบ 1 แสนบาทเท่านั้น โดยสรุป ผมค่อนข้างมั่นใจว่า หากเรารู้จักแสวงหา และรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราจะมีกำลังใจและสามารถหาของดีราคาถูกมาใช้ได้

สรุป

ผมขอสรุปโดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่จะไม่เปิดประเด็นใหม่ 3 ข้อต่อไปนี้

(1) รัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับนักธุรกิจการไฟฟ้าฯ ขนาดใหญ่ โดยการไม่เก็บภาษีนำเข้า ไม่เก็บภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 8 ปี คำถามคือ ดังนั้น รัฐบาลจะลดภาษีอุปกรณ์ให้กับให้กับรายเล็กๆ บนหลังคาบ้านตนเองลงได้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอินเวอร์เตอร์ซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะภาษีหรือเพราะกำไรอันเกินควรของพ่อค้าในประเทศไทย

(2) บทเรียนจากประเทศเยอรมนี (ซึ่งสรุปโดย Dr. Hermann Scheer ผู้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ว่าเป็นวีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว อดีตนักการเมืองชาวเยอรมนีที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายที่นำประเทศมาสู่ความสำเร็จ) ว่าประชาชนคือพันธมิตรที่ดีที่สุดในการผลักดันเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้ ดังนั้น ประชาชนจึงควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือกันเอง

(3) เป็นบทสรุปเพิ่มเติมจากข้อ 2 เช่นเดิมครับ คือ รัฐบาลต้องมีความคิดที่ถูกต้อง (ตอนนี้มาได้สวยแล้ว It’s allright ตามเพลง Here Comes the Sun) อย่ามัวแต่แก้ตัว อย่าดีแต่ปาก แต่ต้องมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพ่อค้าฟอสซิลลงมา

อ้อ ประชาชนเองก็อย่างอมืองอเท้าด้วยครับ การทำให้คนอื่นตื่นรู้คือหน้าที่ของเรา คือภาระที่มีเกียรติของพลเมือง แล้วขอแถมท้ายด้วยเนื้อเพลงที่เขียนด้วยลายมือของผู้ประพันธ์เอง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ข้างล่างนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น