xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินบทความในรอบปี 2557 และมองไปข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อถึงวาระสิ้นปี สำนักข่าวต่างๆ มักจะมีธรรมเนียมการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี ในบทความนี้ผมก็คิดเช่นเดียวกันครับ พร้อมกับขอมองไปข้างหน้าด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเด็นที่ผมให้ความสนใจซึ่งรวมถึงเรื่องพลังงาน ตลอดจนความล้มเหลวของการเมืองภาคตัวแทนและความก้าวหน้าของการเมืองภาคประชาชนขอเริ่มต้นบทความที่ผมเขียนก่อนนะครับ

ทั้งๆ ที่ผมตั้งใจจะเขียนทุกสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วผมทำได้เพียง 45 ชิ้นจาก 52 สัปดาห์ นั่นคือผมทำได้ร้อยละ 87 ที่ขาดหายไปก็มีเหตุผลทั้งนั้น เป็นเหตุผลที่เข้าข้างตัวเองมั่งและจำเป็นจริงๆ มั่ง

ถ้าแบ่งเป็นหมวดหมู่คร่าวๆ พบว่า ประเด็นที่มากที่สุดคือเรื่องนโยบายพลังงานโดยรวมจำนวน 13 ชิ้น ผมมองประเด็นพลังงานที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความเป็นประชาธิปไตย ผมสรุปว่าหัวใจของประชาธิปไตยกับหัวใจของการจัดการพลังงานอยู่ที่เดียวกัน

นั่นคือ อยู่ที่การยึดหลักการ “คุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์” คือ

หนึ่ง มนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างอิสระและเท่าเทียมกันและควรจะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นอิสระให้มากที่สุด ไม่ว่าจะปราศจากยาเสพติด สิ่งมอมเมา การก่อหนี้สิน การประกอบอาชีพ รวมถึงการไม่เป็นทาสของพ่อค้าพลังงานผูกขาด

สอง การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนซึ่งถือเป็นคุณค่าระดับพื้นฐานที่สุด ที่สูงไปกว่านั้นก็คือคุณค่าที่ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม

ประเด็นที่ผมเขียนมากรองลงมาคือ เรื่องโซลาร์เซลล์จำนวน 10 ชิ้น ซึ่งผมได้นำเสนอถึงความสำเร็จในต่างประเทศ ทั้งหลักการและกลไกการปฏิบัติ รวมถึงตัวอย่างจากโรงเรียนศรีแสงธรรมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกกว่าที่การไฟฟ้าขายปลีกให้กับผู้ใช้ในครัวเรือน

ประเด็นที่เขียนมากอันดับสาม คือ การให้สัมปทานปิโตรเลียมจำนวน 7 ชิ้น ผมได้แสดงหลักฐานเชิงตัวเลขที่ทางกรมเชื้อเพลิงพลังงานนำมาเผยแพร่ ในแต่ละปี พบว่าบริษัทที่รับสัมปทานปิโตรเลียมได้กำไรมหาศาล คือได้ผลตอบแทนสุทธิถึงร้อย 117 ของเงินลงทุน หรืออย่างต่ำ 90% ในช่วง 5 ปีมานี้

ในขณะที่ข้าราชการระดับสูงกลับบอกกับประชาชนไทยมาตลอดว่า “แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก ขุดยาก ต้นทุนสูงรัฐบาลได้ผลตอบแทนมากกว่าเอกชนและกำลังจะหมดแล้ว”

ด้านหนึ่งผมรู้สึกโกรธแค้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้นทุนสูงที่ไหนกัน เพราะกำไรสุทธิถึงกว่า 100% แต่อีกด้านหนึ่งผมก็รู้สึกเศร้ากับภาคประชาชนที่ไม่ช่วยกันขยายผลให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ตื่นรู้ในเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ ผมชอบคำตอบของศาสตราจารย์นอม ชอมสกีที่ตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ว่า อยากให้สื่อนำเสนออะไร ท่านตอบว่า “เสนอความจริงที่สำคัญ” ที่ไม่สำคัญถึงจะเป็นความจริงก็ไม่ต้องนำเสนอ ชัดสุดๆ สั้นสุดๆ แต่คนเรามองข้ามกัน

ผมรู้สึกว่าประเด็นที่ภาคสังคมออนไลน์นำมาเสนอ ยังเป็นประเด็นที่เบลอ ไม่ชัดเจน ไม่แหลมคม ทำไมไม่เจาะไปที่ “การปล้นทรัพยากร” มีธุรกิจใดบ้างที่ลงทุนปีละ 1.4 แสนล้านบาท พอรุ่งปีขึ้นมีกำไรสุทธิถึง 1.8 แสนล้านบาทและมากขึ้นตลอดในช่วงที่น้ำมันราคาสูงขึ้น

สำหรับสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุหรือทีวี ผมหมดหวังมานานแล้ว

ประเด็นถัดมาของบทความผมคือ เรื่องการจัดการกิจการไฟฟ้า 4 ชิ้น เรื่องแนวคิดในการพัฒนาที่ผมเรียกว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น” อีก 4 ชิ้น นอกจากนี้เป็นเรื่องอื่นๆ ที่จัดหมวดหมู่ไม่ได้จำนวน 7 ชิ้น

ในด้านจำนวนผู้อ่าน พบว่าโดยเฉลี่ยแต่ละบทความมีผู้อ่าน 4,095 คน (บทความที่มากที่สุด 12,604 คน น้อยที่สุด 589 คน) มีผู้โหวตให้คะแนนเฉลี่ยชิ้นละ 21 คน คะแนนที่ได้ประมาณ 4.9 จากคะแนนเต็ม 5.0 ครับผมไม่ได้แก้ตัวนะครับ ผมได้รับการโหวตให้ได้ระดับ 1 จากพวกที่เข้ามา “ป่วน” จำนวน 1 ถึง 2 คนเป็นประจำในบางบทความที่ไปพาดพิงถึงผลประโยชน์ของบางหน่วยงาน

ในด้านการ “แชร์” บทความเพื่อให้โอกาสกับผู้อื่นอ่านด้วย โดยเฉลี่ยบทความละ 544 แชร์ ที่น่าแปลกใจมาก มีอยู่บทความหนึ่งที่มีคนแชร์ถึง 7 พันราย แต่มีผู้อ่านเพียง 7,946 คน แสดงว่ามีอยู่หลายพันรายที่แชร์ไปแล้วไม่มีคนอ่านเลยยกเว้นเจ้าตัวผู้แชร์เอง (หรือเผลอๆ ผู้แชร์ก็ไม่ได้อ่านจริง)

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของเอเอสทีวีภาคใต้ (http://www.manager.co.th/south/) ยังได้กรุณาเผยแพร่ต่อเป็นประจำ ถ้าคิดสัดส่วนของผู้อ่านระหว่างส่วนของภาคใต้กับส่วนของทั้งประเทศ พบว่าของภาคใต้แม้จะมีผู้อ่านน้อยกว่า แต่มีสัดส่วนค่อนข้างจะสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร อาจจะเป็นเพราะว่าผมมี “แฟน” ทางภาคใต้มากกว่า ขอขอบคุณผู้อ่านทุกภาคครับ

คราวนี้มาถึงประเด็น “มองไปข้างหน้า”

ผมขอมอง 3เรื่องครับ คือ

หนึ่ง เรื่อง โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าซึ่งผมเขียนถึงบ่อยกว่าเรื่องปิโตรเลียมด้วยเหตุผล 2 ประการคือ (1) ถึงแม้ว่าเราต่อสู้ให้ประเทศได้ผลประโยชน์จากการสัมปทานปิโตรเลียมที่มากกว่าบริษัทได้ตามที่เราต้องการ แต่การใช้พลังงานปิโตรเลียมอยู่ต่อไปก็จะทำให้เราไม่เคารพต่อหลักคุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ (ดังที่กล่าวแล้ว) อยู่ดี และ (2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้อุปกรณ์โซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งลดลงอย่างมากมาย อัตราการลดลงมากกว่าอัตราการลดของโทรศัพท์มือถือที่เราคุ้นเคยเสียอีก ราคาแพงโซลาร์ในปีนี้ประมาณ 1% ของราคาเมื่อ 30 ปีก่อน

แต่เราได้ถูกกลุ่มผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติกีดกันโดยนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นยุทธศาสตร์การต่อสู้ในประเด็นนโยบายพลังงานจึงยึดหลักคุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ และเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก

การแทนที่พลังงานชนิดเดิมด้วยพลังงานหมุนเวียน

และแถวหน้าที่เป็นไปได้มากที่สุดของพลังงานหมุนเวียนคือพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งผ่านทางโซลาร์เซลล์

หลักการทำงานของโซลาร์เซลล์เป็นหลักการเดียวกับที่พืชใช้ในการผลิตอาหารให้ตัวเขาเอง และให้บรรดาพวกสัตว์ทั้งหลายได้กินและได้ใช้เป็นพลังงาน

เป็นหลักการเดียวกันกับที่อัลเบิร์ต ไอส์ไตน์ ค้นพบจนนำไปสู่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี พ.ศ. 2465 (The Law of Photoelectric Effect)

การทำงานของโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องน้ำหล่อเย็น ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยเขม่าควัน พลังงานที่ใช้ก็มาจากดวงอาทิตย์สดๆ ทุกวัน ไม่ต้องขนส่งข้ามทวีป ในขณะที่พลังงานฟอสซิลทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

ที่สำคัญกว่านั้นที่วิศวกรในการผลิตลืมไปก็คือ กระบวนการต้มน้ำให้เป็นไอ ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อนหายไปกับอากาศทันทีถึง 40-60% ในขณะที่การผลิตจากโซลาร์เซลล์มีการสูญเสียพลังงานในขั้นตอนการแปลงกระแสตรงมาเป็นกระแสสลับเพียง 8% เท่านั้น

นักวิชาการบางท่านถึงกับกล่าวว่า “เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะเยอะมากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้เมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์” (หมายเหตุ กรุณาอย่าตีความว่าเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของบรรพชน แต่เราเคารพในวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีบรรพชนเป็นผู้คิดค้นก่อน)

ผมยังอยู่ในเรื่องที่หนึ่ง คือเรื่องโซลาร์เซลล์นะครับ

ขณะนี้ คณะกรรมาธิการพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังเสนอในสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เรียกว่า “การปฏิรูปเร็ว (Quick Win)” เพื่อให้มีการเปิด “โครงการโซลาร์รูฟอย่างเสรี” เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีและคสช.นำไปปฏิบัติให้เป็นจริงภายใน 1 ปีโดยการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ

ผมเองได้รับเชิญให้ไปให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง (ดังที่ผมได้เขียนเล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา

เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าการไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผมรู้สึกว่า “ท้องฟ้าเปิด” แล้วครับ

ขณะนี้ บ้านใดก็ตามสามารถต่อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์จากหลังคาบ้านของตนเองได้แล้ว แม้จะมีไฟฟ้าบางส่วนจากหลังคาย้อนไปสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า โดยไม่มีความผิดตามระเบียบเก่าของการไฟฟ้า (แต่ทั้งนี้ยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดิม)

แต่การไฟฟ้าฯ ยังไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ไหลย้อนเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ

คณะอนุกรรมการชุดนี้กำลังเสนอเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใด ในราคาที่การไฟฟ้าฯ ขายปลีก (ซึ่งแพงกว่า) หรือราคาขายส่ง (ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้การไฟฟ้าภูมิภาคและนครหลวงในราคาถูกกว่าเจ้าของบ้านเคยจ่าย) เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดกันต่อไป

ผมได้นำเสนอต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่า โรงเรียนมัธยมกว่า 3,700 โรงซึ่งติดโซลาร์เซลล์ในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวนมาก สามารถนำไปเป็นเงินเดือนครูเดือนละ 1 แสนบาทได้ถึง 2,200 คนตลอดไปนานถึง 25 ปี

สิ่งที่ผมรู้สึกเป็นห่วงอยู่ก็คือ เกรงว่าระเบียบที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามหลักการที่ดูสวยงาม เช่นอาจเอื้อประโยชน์ให้กับรายใหญ่ๆ มากเกินไป ในทำนองที่ใครคนหนึ่งพูดว่า “นางฟ้าอยู่ในหลักการ ซาตานอยู่ในรายละเอียด”

ดังนั้น ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่สามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์ควรจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่าให้เหมือนโครงการ “โซลาร์เซลล์ 800 ตำบล 800 เมกะวัตต์” ในรัฐบาลชุดก่อน ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการทุจริตกันในขั้นตอนใด

สอง เรื่องการเมืองในระบบตัวแทน

ผมสังเกตว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับที่มาของคณะรัฐมนตรี และของผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่การพูดถึงการเมืองภาคประชาชน ตลอดจนสิทธิของชุมชนเลย

ผมเคยเขียนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาก็ดี ในยุโรปก็ดีว่า การเมืองในระบบตัวแทนไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการ (ไม่ใช่ประชานิยม) การเพิ่มตำแหน่งงานให้ประชาชน แต่นโยบายของรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่ตอบสนอง แต่กลับให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองทั้งสิ้นการลดภาษีเงินได้ให้กับภาคธุรกิจ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีของอินเดียคนใหม่ซึ่งเป็นคนแรกที่เกิดภายหลังจากประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่เคยประกาศนโยบายเพื่อคนจนจนได้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ขณะนี้กำลังแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมให้สามารถทำลายสิ่งแวดล้มได้มากขึ้น

ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเมืองในระบบตัวแทนได้สะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลดน้อยลงทุกวัน

ปรากฏการณ์นี้มีหลักฐานชัดเจนในสถิติการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่เมื่อร้อยปีก่อนมีผู้ใช้สิทธิถึงกว่า 80-90% แต่ในยุคหลังๆ แค่ 50% ก็ลุ้นกันแทบแย่แล้ว

ล่าสุด เพื่อนที่กำลังให้ความรู้เรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจากญี่ปุ่นได้เล่าให้ฟังว่า การเลือกตั้งในประเทศญี่ปุ่นครั้งล่าสุด มีผู้มาใช้สิทธิต่ำมาก

เมื่อผมตั้งคำถามว่า “ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์หรือเปล่า” เธอทั้งสองตอบว่า “ไม่แน่ใจ แต่ต่ำมาก”
ในโอกาสที่เรากำลังจะปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ผมเรียนตามตรงว่า “เรามั่นใจแล้วหรือว่า เราจะไปทางไหนกัน และด้วยเหตุผลอะไร?”

เพราะผมเห็นที่เสนอบางเรื่อง เช่น กลัวการซื้อเสียงของ ส.ส.จึงให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริการโดยตรง อ้าว การเลือกฝ่ายบริการโดยตรงก็ซื้อเสียงได้เช่นเดียวกันนี่!

สามองค์กรระดับโลกแก้ปัญหามนุษยชาติไม่ได้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2557 ได้มีการประชุมระหว่างประเทศ 196 ชาติทั่วโลกที่ชื่อว่า “U.N Climate Change Conference” ที่กรุง Lima ประเทศเปรู ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมหลายพันคน นาน 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมข้อเสนอในการประชุมสหประชาชาติในปี 2015

จากการรายงานข่าวซึ่งปรากฏอยู่ในบทความชื่อ อนาคตที่น่าเศร้าของโลกเรา (The Sad Future of Our Plant) ซึ่งเขียนโดย Roberto Savio ประธานและผู้ก่อตั้ง Inter Press Service, IPS

ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของ Savio ที่ว่า “ระบบรัฐบาลร่วมของโลกในปัจจุบันได้ประจักษ์อย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่ในความสนใจร่วมของมนุษยชาติได้” (It is now official: the current inter-governmental system is not able to act in the interest of humankind.)

ทั้งๆ ที่ในการประชุมดังกล่าวได้มีผู้นำสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเป็นสองผู้ร่วมก่อมลพิษมากที่สุดในโลก แต่ร่างข้อตกลงในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่มีมาตรการบังคับแต่อย่างใด “สาระสำคัญคือให้แต่ละประเทศไปตัดสินใจเอาเองว่าจะลดมลพิษด้วยหลักของแต่ละประเทศ”

สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในที่นี้ก็คือ การเมืองในระบบตัวแทนกำลังล้มเหลวประเทศแล้วประเทศเล่า ทั้งยุโรปที่เป็นต้นแบบ สหรัฐอเมริกา จนลามมาถึงอินเดีย และญี่ปุ่นในทวีปเอเชียของเรา

พร้อมๆ กันนี้หน่ออ่อนๆ ของการเมืองภาคประชาชนก็ได้ผุดบังเกิดขึ้นทั่วโลก ข้อเสียมีอยู่อย่างเดียวคือประชาชนไม่รู้พลังที่แท้จริงของตนเอง และไม่รู้พลังงานของการสื่อสารในเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับโซลาร์เซลล์ความขยันของคนในสังคมออนไลน์จึงไปอยู่ประเด็นส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่

กรุณาอย่าคิดว่าผมจับแพะชนแกะนะเพื่อให้ลงกับพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่โซลาร์เซลล์ครับ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เพราะว่าโลกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้เพราะแสงอาทิตย์ครับ ลองให้พระอาทิตย์หายไปสักเดือนสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น แสงอาทิตย์นี่แหละที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดตามความเชื่อของมนุษย์ที่นำมาเป็นหลักในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ แต่ได้ถูกกลุ่มพ่อค้าลากไปสู่ความเป็นทาส ความไม่มีอสระภาพที่เป็นค่าสำคัญของมนุษย์

ภาพข้างล่างนี้คือข้อมูลแถมครับ ว่าประเทศอื่นๆ เขาก้าวหน้าไปถึงกันที่ว่า ทุกๆ 5 หลัง ติดแผงโซลาร์เซลล์หนึ่งหลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น