xs
xsm
sm
md
lg

Here Comes the Sun…ดวงตะวันโผล่มาแล้ว! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ในวันแรกของการทำงานราชการประจำปีใหม่ 2558 นี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ในโครงการที่เรียกว่า “โครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win)” ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี”

ผมยังไม่ทราบว่าผลการประชุมจะออกมาในรูปใด แต่เรียนตามตรงว่าผมรู้สึกตื่นเต้นต่อแนวความคิดของโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะผมเองก็มีโอกาสได้รับทราบ และร่วมแลกเปลี่ยนทั้งแนวคิด และรายละเอียดมาพอสมควร

สาระสำคัญของโครงการนี้ก็คือ การอนุญาตให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และอาคารสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วเชื่อมต่อไฟฟ้าที่ตนผลิตเองได้เข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ได้อย่างเสรีโดยไม่มีการจำกัดจำนวน พร้อมกับลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคที่ไม่จำเป็นอีกมากมาย เช่น ยกเลิกใบอนุญาต รง.4 การขออนุญาตต่อเติมอาคาร เป็นต้น

ในฐานะที่ผมได้ติดตาม และผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2547 ภายหลังจากการได้ร่วมการประชุมพลังงานงานหมุนเวียนโลกที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ความรู้สึกของผมก็คงไม่ต่างไปจากที่ปรากฏในเนื้อเพลง Here Comes the Sun ของวง The Beatles ซึ่งแต่งโดย George Harrison เมื่อปี 2512 ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงของวงที่โด่งดังมากไปทั่วโลกในยุคนั้น

ยิ่งผมได้ทราบมาว่า ในช่วงที่แต่งเพลงนี้ผู้แต่งกำลังมีความทุกข์ส่วนตัวหลายเรื่องประดังประดาเข้ามา ผมจึงรู้สึกดื่มด่ำในเนื้อเพลงบางวรรคที่ว่า “มันเป็นฤดูหนาวที่ยาวนานและรู้สึกโดดเดี่ยว (a long, cold, lonely winter)” “แม้เวลาเพียงฤดูกาลเดียวแต่รู้สึกราวกับมันเนิ่นนานนับหลายปี”

ผมเองเคยตั้งชื่อบล็อกว่า “หวันตั้งดาน” ในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อหลายปีก่อนก็เพราะจำความชีวิตวัยเด็กในชนบทได้ว่า ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยในตอนดึกที่ปราศจากยา และหมอรักษา ชีวิตจึงขึ้นอยู่กับความหวังว่าเมื่อไหร่ดวงตะวัน หรือ “หวัน”ในภาษาปักษ์ใต้จะขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อได้ไปหายาหรือตามหมอมารักษาแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่รอคอย แต่มันช่างยาวนานเสียเหลือเกินในความรู้สึกของคนที่กำลังมีความทุกข์

ผมขอโทษที่ต้องเกริ่นเรื่องนี้มาค่อนข้างยาว แต่มันมีความสำคัญ และเป็นความหวังที่สำคัญไม่เพียงแต่ของบุคคลรายใดรายหนึ่งเท่านั้น แต่มันเป็นความหวังเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติทั้งโลกจริงๆ เลยทีเดียวครับ

โลกของเรากำลังตกอยู่ในความทุกข์ยากอย่างรอบด้านซึ่งเมื่อย้อนหลังไปเพียง 60 ปีก่อนจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ ทั้งด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงอย่างรวดเร็วทั้งบนบก และในทะเล ในขณะที่ด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมกำลังขยายกว้างมากขึ้นทุกปีจนเกือบจะระเบิดเป็นสงครามที่ใช้อาวุธกันอยู่แล้วสาเหตุที่สำคัญก็คือ การกำหนดนโยบายพลังงานอย่างผิดพลาดของชาวโลกที่ถูกครอบงำโดยคนส่วนน้อย จำนวน 1%

ขอเรียนย้ำเชิงข้อมูลอีกครั้งนะครับว่า “พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้น เท่ากับพลังงานจากแสงของดวงตะวันที่ส่องมาถึงผิวโลกเพียงแค่ 8 นาทีเท่านั้น” 

บัดนี้ ความสามารถทางเทคโนโลยีของมนุษย์เพื่อจะเก็บเกี่ยวพลังงานดังกล่าวได้มาถึงเรียบร้อยแล้ว หลายประเทศได้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าเยอรมนี สหรัฐอเมริกา รวมทั้งออสเตรเลียและประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ก็สูงขึ้นแบบลบสถิติโลกปีละหลายครั้ง

เชื่อไหมครับว่า ในรัฐออสเตรเลียใต้ ซึ่งมีแสงแดดในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 4 ของหลังคาบ้านจะมีการติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง (เพิ่มขึ้นจาก 6 ปีก่อนถึง 5 เท่าตัว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ใน 2 หลังคาภายในปี 2020) ส่วนไฟฟ้าที่เหลือใช้สามารถขายผ่านระบบสายส่ง ดังที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังจะนำเสนอให้รัฐบาลนี้ดำเนินการในทันทีที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปเร็ว นั่นเอง
มีประเด็นในรายละเอียดมากมายที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องนำเสนอเป็นแนวทางให้รัฐบาลชุดนี้นำไปปฏิบัติ แต่ในที่นี้ผมจะขอลองนำเสนอตามความคิดเห็นของผมเองซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจและได้สอบถามมาหลายครั้งแล้ว แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้ตอบ

คำถามรวมๆ ส่วนใหญ่ก็คือ (1) ควรจะติดตั้งขนาดเท่าใด (2) ผลิตไฟฟ้าได้เท่าใด และ (3) เมื่อไหร่จะได้ทุนคืน เป็นต้น

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมไม่อยากจะตอบคำถามนี้เลย เพราะตราบใดที่ทางการไฟฟ้าฯ ไม่ยอมอนุญาตให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าได้เข้ากับระบบไฟฟ้าที่มาจากเสาไฟฟ้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทบจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะนอกจากจะต้องสิ้นเปลืองแบตเตอรี่แล้ว ไฟฟ้าที่ได้ก็ยังไม่สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศ หรือหม้อต้มน้ำด้วยไฟฟ้าได้

มาบัดนี้ ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้บอกแก่ที่ประชุมว่า อนุญาตให้มีการเชื่อมต่อเพื่อให้ไฟฟ้าจาก 2 ระบบให้ไหลไปมาหาสู่กันได้แล้ว หรือหากไฟฟ้าที่เราผลิตเองจากหลังคามีเหลือ ก็สามารถไหลย้อนเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ได้ โดยเจ้าของบ้านไม่มีความผิด แต่ยังคงไม่มีการจ่ายเงินเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่เราผลิตได้จนเหลือใช้ (แต่ยังคงคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในระดับเดิม)

แต่สิ่งที่ทาง สปช.จะเสนอในคราวนี้ก็คือให้มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ด้วย คือ แทนที่จะให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อเพียงอย่างเดียว ต่อไปนี้ให้เจ้าของบ้านหรืออาคารที่มีความพร้อมสามารถเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ผลิตไปพร้อมกัน ถ้าผลิตได้มากกว่าที่ใช้เองจนเหลือแล้ว ก็สามารถส่งส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบสายส่งเพื่อขายได้เลย หรือหากที่ผลิตไม่พอใช้ก็สามารถดึงไฟฟ้าจากระบบสายส่งมาเสริมได้โดยสรุปก็คือ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้านได้ และเป็นการสร้างรายได้โดยตรง (หากมีไฟฟ้าเหลือใช้)

ระบบแบบนี้เรียกว่า Net Metering ซึ่งจะคิดบัญชีกันก็ตอนที่มีการบันทึกการใช้ไฟฟ้าจากมิเตอร์ในแต่ละรอบเดือน

ประเด็นที่ท่านผู้อ่านสนใจ ก็อยู่ในคำถามรวมๆ 3 ข้อดังกล่าว

คำถามแรก ควรจะติดตั้งขนาดเท่าใดจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องทราบเสียก่อนว่า โดยเฉลี่ยในบ้านนี้ใช้ไฟฟ้าเดือนละเท่าใด

ผมขอสมมติว่า บ้านหลังหนึ่งใช้ไฟฟ้าเดือนละ 450 หน่วย (สำหรับชนชั้นกลางหลังละ 2-3 คน) ซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้า จำนวน 2,026 บาท หรือปีละ 5,400 หน่วย คิดเป็นเงิน (รวมค่าเอฟทีและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ปีละ 24,319 บาท หรือเฉลี่ยในราคาหน่วยละ 4.50 บาท (รวมค่าบริการปีละ 459 บาทด้วย หากไม่รวมค่าบริการก็ประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วย)

จากข้อมูลพบว่า ระบบโซลาร์เซลล์ (ชนิดหนึ่ง) ขนาด 5 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 6,935 หน่วย นั่นคือ เรามีเหลือเพื่อขายจำนวนปีละ 1,535 หน่วย

เนื่องจากอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 25 ปี (หรือมากกว่า) ซึ่งโดยปกติค่าไฟฟ้าจะขึ้นราคาเกือบทุกปี ดังนั้น เราควรจะคิดค่าไฟฟ้าทั้งที่เราประหยัดเองได้ และทั้งที่เราขายส่วนที่เหลือออกไปด้วย ตามราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามผมทันไหมครับ กรุณาอ่านช้าๆ ใจเย็นๆ และคิดตามไปด้วยนะครับ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

เมื่อผมสืบค้นข้อมูลในอดีต ตั้งแต่ปี 2543 จนถึง 2556 (รวม 14 ปี) พบว่า ค่าไฟฟ้า และค่าเอฟทีขึ้นราคาเฉลี่ยปีละ 4.44% (จาก 1.7301 เป็น 4.19 บาทต่อหน่วย) โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้ กฟน.และ กฟภ.ในราคาเฉลี่ยเมื่อปี 2556 เท่ากับ 3.02 บาทต่อหน่วย

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะแย้งว่า ที่ว่าอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในต้นปี 2558 ค่าเอฟทีจะลดถึง 10 สตางค์ต่อหน่วย ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เป็นการเมืองระหว่างประเทศชั่วคราว (ซึ่งแปลกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา) แต่อดีต 14 ปีซึ่งยาวนานพอสมควรเป็นอย่างที่ปรากฏในข้อมูลที่อ้างแล้ว และราคาน้ำมันดิบก็เคยลดลงมากกว่าในปัจจุบันนี้เสียอีกแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ แต่คราวนี้ยาวผิดวิสัยของพ่อค้า

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมขอสรุปว่าได้ตอบคำถาม 2 ข้อแรก (ในเรื่องติดขนาดเท่าใด ได้ไฟฟ้าเท่าใด) ไปแล้วนะครับ อ้าว! ถ้าไม่เชื่อก็ลองย้อนไปดูอีกรอบ คงเหลือข้อที่ 3 ซึ่งจะยุ่งยากสักนิด (คือเรื่องจำนวนเงินลงทุน และผลตอบแทน นานกี่ปีจึงจะคุ้มทุน) แต่ผมมีผลการคำนวณไว้ดังตารางแล้วโดยมีสมมติฐานดังนี้

ในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านจะขายให้แก่ กฟน.และ กฟภ.ผมลองสมมติดังนี้ครับ คือ

(1) ในช่วง 10 ปีแรก ให้การไฟฟ้าฯ ทั้ง 2 แห่งมีกำไรหน่วยละ 0.75 บาท นั่นคือ สำหรับบ้าน 1 หลัง ทางการไฟฟ้าฯ จะมีกำไรหลังละ 1,151 บาทต่อปี

(2) ในช่วง 15 ปีหลัง ให้การไฟฟ้าฯ ทั้ง 2 แห่งมีกำไรหน่วยละ 1 บาท โดยมีกำไรหลังละ 1,535 บาทต่อปี

ประเด็นต้นทุนในการติดตั้ง

เรื่องนี้บางท่านอาจจะมีความเห็นต่าง แต่ผมขอสมมติ (แล้วค่อยให้เหตุผลในภายหลัง) ว่ามี 2 ราคาคือ ชุดละ 250,000 บาทและ 300,000 บาท เมื่อเรานำเงินมาลงทุนติดตั้งระบบ เราจะสูญเสียดอกเบี้ยจากที่เคยฝากธนาคารในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ผลการคำนวณเป็นไปตามตารางข้างล่าง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
 

 
ถ้าลงทุน 2.5 แสนบาท จะคุ้มทุนในปีที่ 10 โดยที่ผลประโยชน์สะสมที่เกิดจากการไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าภายในบ้าน (994,697 บาท) และรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เหลือสะสม (248,214 บาท) รวม 2 รายการก็ 1.2 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นเงินฝากธนาคารก็ได้ร้อยละ 10 ต่อปี แต่ถ้าลงทุน 3.0 แสนบาท จะคุ้มทุนในปีที่ 12 หรือได้ร้อยละ 8 ต่อปี

ผลประโยชน์ที่การไฟฟ้าได้รับ

การไฟฟ้าฯ กฟน. หรือ กฟภ.จะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1,382 บาท หรือรวม 34,550 บาท ตลอด 25 ปี

“แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะได้ผลประโยชน์อะไร?” 

คำตอบก็คือ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อมารองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีก (คือ ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน) ซึ่งเกิดขึ้นในตอนกลางวันเพียงช่วงสั้นๆ วันละประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น การสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อตอบสนองในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการลงทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทน แต่ก็ต้องลงทุนเพื่อรักษาระบบไฟฟ้าให้มั่นคง ดังนั้น การลดพีคลงมาจึงมีผลประโยชน์มาหาศาลต่อ กฟผ.

ผลประโยชน์ที่สังคมไทยได้รับ

ไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตได้ขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 1 หลัง ใน 1 ปี เท่ากับสามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 65,189 ลูกบาศก์ฟุต (ก๊าซ 9.4 ลูกบาศก์ฟุตผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย-สืบค้นจากรายงานของ กฟผ.)

จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่า ในปี 2554 มีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรวม 0.997 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้น ถ้ามีการติดตั้ง จำนวน 1 ล้านหลังคาเรือน ก็สามารถลดการใช้ก๊าซได้ถึง 6.5%

จำนวนผู้ติดตั้งหนึ่งล้านหลังคาอย่าคิดว่าเยอะนะครับ เพราะปัจจุบันชาวออสเตรเลียทั้งประเทศจำนวนประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ได้ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้วประมาณ 2 ล้านหลังคาเรือน แล้วประเทศไทยเราละมีจำนวนถึง 22 ล้านหลัง

ถ้าทำได้ดังนี้ สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีบ่นๆ ในรายการคืนวันศุกร์

โดยสรุป จากตัวเลขที่ผมสมมติขึ้นจากฐานความจริงที่มีอยู่ ผมว่าผลจากโครงการ Quick Win จะนำไปสู่ Win-Win เกม กล่าวคือ

การไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 ฝ่ายก็ได้ประโยชน์ ผู้ติดตั้งก็ได้ประโยชน์จากเงินลงทุน แทนที่จะได้ผลตอบแทนร้อยละ 3 จากการฝากธนาคาร เพิ่มมาเป็น 8-10% แม้กู้ธนาคารมาลงทุนก็พอจะคุ้ม

จะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของหลังคาบ้านมาเป็นเจ้าของธนาคารเสียเองก็ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดสภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งรอบๆ โรงไฟฟ้า และลดผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซในภาคอีสานที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ลดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ที่เป็นแหล่งอาหารทะเล และการท่องเที่ยวนี่ยังไม่นับถึงการจ้างงาน และการกระจายรายได้อีกเป็นจำนวนมาก

ผมว่านี่คือ Win-Win เกมที่แท้จริง ยกเว้นพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลเท่านั้นที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง

ต้นทุนการลงทุนควรเป็นเท่าใดกันแน่

ผมมีแหล่งข้อมูลที่จะนำเสนอทั้งจากต่างประเทศ และจากการติดตั้งจริงในเมืองไทยครับ

ตารางข้างล่างนี้เป็นของประเทศออสเตรเลียซึ่งไม่เท่ากันใน แต่ละรัฐขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐ
 

 
จากข้อมูลพบว่า ต้นทุนต่อวัตต์จะลดลงตามขนาดการติดตั้ง กล่าวคือ ขนาดยิ่งใหญ่ขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง

จากตารางถ้าติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ จะมีต้นทุนเฉลี่ย (ทั้งประเทศ) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เท่ากับ 1.42 ดอลลาร์ (ผมไม่แน่ใจว่าเป็นออสเตรเลียดอลลาร์ หรือสหรัฐดอลลาร์ แต่ขอสมมติว่าเป็นอเมริกันดอลลาร์ซึ่งแพงกว่า)

ดังนั้น ต้นทุนทั้งระบบสำหรับ 5 กิโลวัตต์ จะประมาณ 234,726 บาท (1 ดอลลาร์ = 33.06 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาตัวล่างที่ผมเสนอ

นอกจากนี้ มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ถ้าใช้ไฟฟ้า 60% ของที่ผลิตเองได้จะทำให้การติดตั้งในเมือง Darwin (ซึ่งมีแดดแรงที่สุด) และเมือง Hobart (ซึ่งมีแดดน้อยที่สุด) จะถึงจุดคุ้มทุนในเวลา 5 และ 7 ปีเศษตามลำดับ (หมายเหตุ ขึ้นอยู่กับราคาค่าไฟฟ้าด้วย)

อนึ่ง ข้อมูลจากประเทศออสเตรเลีย และท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ แห่งวัดป่าศรีแสงธรรม ระบุตรงกันว่า อุปกรณ์สำคัญคือ อินเวอร์เตอร์ (ราคา 5 กิโลวัตต์ ประมาณ 38,000 บาท) มีอายุประกัน 5 ปี แต่อาจจะใช้ได้จริงนานถึง 5-10 ปี นี่คือต้นทุนที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในการคำนวณในตารางของผมแต่ก็ไม่ได้ทำให้ระยะเวลาคุ้มทุนต้องเปลี่ยนไป

สำหรับต้นทุนในการติดตั้งในประเทศไทย พบว่า ที่โรงเรียนศรีแสงธรรม (จังหวัดอุบลราชธานี) ติดตั้งโดยการซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเองขนาด 6 กิโลวัตต์ บนดาดฟ้าอาคาร ในราคา 1.8 แสนบาท ไม่รวมค่าแรง และที่ยึดแผ่น ข้อมูลในช่วง 2 เดือนที่ผ่าน มาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ผมนำมาคำนวณประมาณ 5%

ข้อมูลจากนี้ “หมอขันนอต” ในจังหวัดเชียงใหม่ (ค้นได้จากกูเกิล ซึ่งผมเคยเขียนถึง) ได้ลงทุนนำเข้าแผงจากประเทศจีนด้วยตนเอง เมื่อรวมต้นทุนทั้งหมด (ยกเว้นค่าแรงเพราะคุณหมอทำเอง) จำนวน 2.49 แสนบาท สำหรับขนาด 6.7 กิโลวัตต์ ซึ่งก็ต่ำราคาที่ผมนำมาลองคิด

เพื่อนผมอีกคนหนึ่ง (ทำเองเช่นเดียวกัน) ลงทุนขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาประมาณเกือบ 1 แสนบาทเท่านั้น โดยสรุป ผมค่อนข้างมั่นใจว่า หากเรารู้จักแสวงหา และรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราจะมีกำลังใจและสามารถหาของดีราคาถูกมาใช้ได้

สรุป

ผมขอสรุปโดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่จะไม่เปิดประเด็นใหม่ 3 ข้อต่อไปนี้

(1) รัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้แก่นักธุรกิจการไฟฟ้าฯ ขนาดใหญ่ โดยการไม่เก็บภาษีนำเข้า ไม่เก็บภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 8 ปี คำถามคือ ดังนั้น รัฐบาลจะลดภาษีอุปกรณ์ให้แก่รายเล็กๆ บนหลังคาบ้านตนเองลงได้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอินเวอร์เตอร์ซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ผมไม่ทราบว่า เป็นเพราะภาษี หรือเพราะกำไรอันเกินควรของพ่อค้าในประเทศไทย

(2) บทเรียนจากประเทศเยอรมนี (ซึ่งสรุปโดย Dr.Hermann Scheer ผู้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ว่า เป็นวีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว อดีตนักการเมืองชาวเยอรมนีที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายที่นำประเทศมาสู่ความสำเร็จ) ว่าประชาชนคือพันธมิตรที่ดีที่สุดในการผลักดันเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้ ดังนั้น ประชาชนจึงควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือกันเอง

(3) เป็นบทสรุปเพิ่มเติมจากข้อ 2 เช่นเดิมครับ คือ รัฐบาลต้องมีความคิดที่ถูกต้อง (ตอนนี้มาได้สวยแล้ว It’s allright ตามเพลง Here Comes the Sun) อย่ามัวแต่แก้ตัว อย่าดีแต่ปาก แต่ต้องมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพ่อค้าฟอสซิลลงมา

อ้อ ประชาชนเองก็อย่างอมืองอเท้าด้วยครับ การทำให้คนอื่นตื่นรู้คือหน้าที่ของเรา คือภาระที่มีเกียรติของพลเมือง แล้วขอแถมท้ายด้วยเนื้อเพลงที่เขียนด้วยลายมือของผู้ประพันธ์เอง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ข้างล่างนี้
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น