xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปการเมือง ตีตกให้พระสงฆ์เลือกตั้ง โยนอนุฯ จัดการก่อนประชุมปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
กมธ.ปฏิรูปการเมือง ประชุมสร้างปรองดอง ห้ามสื่อฟัง “ไพบูลย์” สรุปเบื้องต้นข้อยุติส.ส. 450 คน มีทั้งแบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ มอบ “ปริญญา-นครินทร์” จัดทำแนวทางแบ่งภาค-เขตเลือกตั้ง ยึดโมเดลเยอรมนี เจ้าตัวชงพระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ถูกปัด โยนอนุ กมธ.ปฏิรูปกลไกและระบบเลือกตั้งพิจารณาแทน

วันนี้ (5 ม.ค.) การประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีวาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติ และพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยก่อนเข้าสู่วาระที่ประชุมได้ให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ล่าสุด ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่ได้จากคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง จากเดิมได้มีผู้เสนอให้มี ส.ส.เขต จำนวน 200 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน แต่ได้ข้อยุติที่จำนวน ส.ส.ทั้งหมด 450 คน มาจาก ส.ส.แบ่งเขต 250 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน ส่วนข้อเสนอการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต และไม่ควรมี ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังเห็นว่าควรเปิดให้ที่มา ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองได้ ขณะที่ระบบการคำนวณที่มา ส.ส. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำแนวทางการแบ่งภาคและเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมเดลต้นแบบในการเลือกตั้ง ส.ส.ตามแบบประเทศเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ผ่านมาล้วนมีต้นเหตุมาจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการ และเสนอให้พระภิกษุสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อเลือกบุคคลที่มีคุณธรรม แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนต่ออนุกรรมาธิการที่มีอยู่จำนวนมาก โดยที่ประชุมเห็นควรให้เป็นความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไกและระบบเลือกตั้ง พร้อมกับเข้าสู่วาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมให้ความเห็น ซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง


กำลังโหลดความคิดเห็น