xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ใหม่มุ่งรัฐบาลผสมผู้พิพากษาค้าน7ประเด็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปช.เริ่มถกร่างรัฐธรรมนูญ"บวรศักดิ์"การันตี ไร้พิมพ์เขียว มุ่งออกแบบการเมืองใหม่ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สกัดรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม ยอมรับระบบเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลผสม แต่มีวิธีป้องกันให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มั่นใจความขัดแย้งวุ่นวายกว่า 10 ปี ต้องจบลง ด้วยการสร้างความปรองดองอย่างมีระบบ ไม่ใช่มุ่งแต่การนิรโทษฯ ขณะที่ ผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล ติงร่าง รธน.ใหม่ใน 7 ประเด็น ค้านเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกในองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หวั่นเปิดทางแทรกแซงศาล พร้อมเสนอคดีอาญานักการเมืองอุทธรณ์ได้ในหลักเกณฑ์เดียวกับการอุทธรณ์คดีทั่วไป แต่ต้องยื่นด้วยตัวเอง


เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ ( 20เม.ย.) มีการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 ) ซึ่งคณะกรรมาธิการกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานต่อที่ประชุมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความคิดเห็นของสปช. ถึง 90% แม้ถ้อยคำอาจต่างกันบ้าง แต่หลักการ และสาระสำคัญยังอยู่ ส่วนถ้อยคำที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น ยืนยันว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่มีการปกปิด ไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพู ตามที่มีการกล่าวอ้าง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ 4 ข้อ คือ 1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2. การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3. หนุนสังคมให้เป็นธรรม 4.นำชาติสู่สันติสุข

ที่ผ่านมาการเลือกตั้งทุกรูปแบบของไทย เอาแบบมาจากฝรั่งทั้งสิ้น ทั้งแบบเขตเดียวคนเดียว ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เรานำมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล และสร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี จนเกิดเผด็จการเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาลที่สยายปีกไปแทรกแซงองค์กรตรวจสอบ ตลอดจนสื่อมวลชน อันเป็นที่มาของความขัดแย้งร้าวลึกทุกวันนี้ เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้วิธีการเลือกตั้งแบบฝรั่ง กลายเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลอำนาจนิยมแบบไทย มีการใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะมีเสียงข้างมาก เข้าทำนอง อำนาจเป็นของข้าคนเดียว

"การออกแบบระบบการเมืองใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องหันมาใช้มาตรการ 2 ทาง คือ 1. ทำให้รัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาดเป็นเผด็จการเพราะอำนาจนิยมอีกต่อไป 2. ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่เพื่อคานกับการเมืองภาคนักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากเกินจริงเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ของเยอรมนี ที่เยอรมนี เคยใช้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการแบบฮิตเลอร์ ขึ้นมาอีก โดยให้มี ส.ส.ในระดับพอดีต่อความนิยมของประชาชน ไม่ใช่ได้เสียงมากเกินพอดี"

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า แม้ระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลผสม นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล แต่กมธ.ยกร่างฯ มีมาตรการคุ้มกันมาลดความเสี่ยง ด้วยการกำหนดมาตรการต่างๆ อาทิ 1. ห้ามการควบรวมพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง เพื่อเลี่ยงระบบนอมินี 2. ห้ามส.ส.ลาออกไปอยู่พรรคอื่นแลกเงิน 3. ห้ามส.ส.เป็นรมต.ในเวลาเดียวกัน เพื่อลดความอหังการของรมต.ไม่ให้ต่อรองกับรัฐบาล เพราะหากถูกปลด ก็ไม่สามารถเป็นส.ส. เพื่อมาสั่นคลอนรัฐบาลได้อีก 4. กำหนดให้นายกฯ ขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อส่งสัญญาณถึง ส.ส.ว่า ถ้าก่อความวุ่นวายเพื่อต่อรองกับรัฐบาล ก็จะยุบสภาจริงๆ ไม่ใช่แค่ขู่ 5. กำหนดให้รัฐบาลแถลงว่า ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณานั้นเป็นการไว้วางใจรัฐบาล ถ้าส.ส.ต้องการต่อรอง และบีบรัฐบาลในการพิจารณากฎหมายสำคัญไม่ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง กฎหมายดังกล่าวก็จะผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หรือถ้ามีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมง และรัฐบาลชนะโหวตร่างกฎหมายนั้น ก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวการณ์ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลอย่างที่เคยเกิดในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2511-2514 ขณะเดียวกันก็ห้ามรัฐบาลใช้มาตรการเกิน 1 ครั้ง ในสมัยประชุม เพื่อไม่ให้มาตรการนี้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่สุจริต และต้องการทำตัวเป็นเผด็การ 6. กำหนดให้การลงมติไม่ไว้วางใจ ให้นับเฉพาะคะแนนไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ประธานถามอีกว่า ใครไว้วางใจ หรือใครงดออกเสียง เพื่อป้องกันพรรคร่วมรัฐบาลหักหลังกันเอง เหมือนที่ผ่านมา คือ ไม่ยกมือสนับสนุน

"มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักความคุ้มกันของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นมาตรการของประเทศไทยแท้ ไม่มีในเยอรมัน เพราะนักการเมืองเยอรมัน ไม่มีวัฒนธรรมการเมืองเหมือนนักการเมืองไทย ดังนั้นการเรียกระบบเลือกตั้งนี้ว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน จึงไม่ถูกต้อง"

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังยกภาคพลเมืองให้มีความเข้มแข็ง เพื่อถ่วงดุลภาคการเมืองของนักการเมืองในหลายทาง อาทิ การเพิ่มสิทธิ เสรีภาพ ให้ประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมการเป็นพลเมืองในระดับชาติ ท้องถิ่น โดยเฉพาะการมีสมัชชาพลเมืองจังหวัด สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบนักการเมือง การให้ประชาชนเป็นผู้จัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนที่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้จัด

"ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต แล้วจึงแลหน้าไปสร้างอนาคตให้ลูกหลาน ความขัดแย้งวุ่นวายกว่า 10 ปี จึงต้องจบลงด้วยการสร้างความปรองดองอย่างมีระบบ ไม่ใช่มุ่งแต่การนิรโทษกรรม ต้องมีการหาสาเหตุ ข้อเท็จจริง ของความขัดแย้ง เจรจากับคู่ขัดแย้งอย่างมีระบบ หาคนผิดมาดำเนินคดี และกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ใช่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และสำนึกผิดแล้วออกไป โดยการอภัยโทษ เยียวยาผู้เสียหาย เมื่อเกิดความเป็นธรรมขึ้น ความขัดแย้งก็จะยุติลง อะไรที่ดีในรัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เก็บไว้หมด กล่าวได้ว่า บทบัญญัติที่ดี 70% ในรัฐธรรมนูญปี 50 ยังมีอยู่ในร่างฉบับนี้ มาตรฐานของรัฐธรรมนูญนี้ต้องไม่ต่ำกว่าปี 40 และ ปี 50 ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ในอนาคต ขณะเดียวกัน ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะพยายามอย่างสุดความสามารถ ในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่า ร่างนี้ยังไม่สมบูรณ์ 100% ดังนั้น การรับฟังความเห็นของสปช. และประชาชนทั่วประเทศ จึงเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ หวังว่า การรับฟังความเห็น 7 วันนี้ จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด" นายบวรศักดิ์ กล่าว

มุ่งแก้ปัญหาการเมืองก่อนปี 57

นายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอภิปรายในส่วนของ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี ว่าในการสร้างการเมืองที่ใสสะอาด และสมดุลนั้น หลักสำคัญก็คือ การเมืองที่ใสสะอาด เป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แต่ประเด็นที่มีการพูดจากันมากก็คือ ระบบรัฐสภานำมาใช้นั้น มีการยอมรับว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพทางการเมือง และวัฒนธรรมของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทางกมธ. ยกร่างฯมีโจทย์ที่จะต้องแก้ไขคือ จะต้องแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนเดือนพ.ค.57 ซึ่งเป็นกรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นประเด็นที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก หลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญนี้ คือการที่มีผู้นำมีอำนาจมากเกินไป จนมีการใช้อำนาจโดยมิชอบจนนำไปสู่การเกิดการเมืองแบบเผด็จการรัฐสภา

นอกจากนี้ การขยายตัวของการใช้อำนาจที่มิชอบในการบริหารราชการบ้านเมือง จนกระทั่งก่อให้เกิดการขยายตัวของการใช้นโยบายที่ผิดพลาด นำความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศชาติรวมทั้งการคอร์รัปชัน ที่มีการแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง

สร้างแนวคิดใหม่ป้องกันการซื้อเสียง

ทั้งนี้ ประเด็นที่จะต้องแก้ไข ที่จะทำให้การเมืองใสสะอาดนั้น ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมีประวัติและพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ต้องมีพฤติกรรมไม่เคยหลีกเลี่ยงภาษี โดยต้องมีหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นพลเมืองที่ดี ไม่เคยเพิกเฉยต่อหน้าที่ และไม่เคยกระทำผิดทางอาญา จนถึงคำพิพากษาถึงจำคุก หรือพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี เป็นต้น และยังมีบทบัญญัติในภาคนี้อีกไม่น้อย ที่พูดถึงคุณธรรม จริยธรรม ที่กำหนดเพื่อให้ผู้นำทางการเมืองจะต้องทำคำนึงถึงประโยชน์ของของชาติ ไม่คำนึงประโยชน์ส่วนตัว

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. มีการปรับระบบใหม่ คือ ระบบสัดส่วนแบบผสม ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบนี้ เป็นการสะท้อนความต้องการอย่างถูกต้องของพลเมือง ในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนการแก้ปัญหาในการซื้อเสียงนั้น จะต้องสร้างแนวความคิดใหม่ ให้แก่ผู้เลือกตั้ง และผู้สมัคร ว่า การเลือกตั้งไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่เป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ของผู้เลือกตั้งที่สำคัญ

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น มีรูปแบบที่แตกต่างจาก ส.ส. โดยมีการแบ่งที่มาของส.ว. ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เลือกกันเองในส่วนของอดีตข้าราชการ การสรรหาของกลุ่มวิชาชีพ และการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดจากผู้สมัครที่ได้รับการกลั่นกรองคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่าง ส.ส. และ ส.ว.
ส่วนเรื่องของคณะรัฐมนตรีนั้น ถ้ายึดหลักในระบบรัฐสภา ก็ถือว่า นายกรัฐมนตรี ก็จะถูกเลือกโดยสภาฯ แต่ในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดลงไปว่า ผู้ที่ได้รับเลือกจะมาจากส.ส. เท่านั้น

"เป็นการเปิดกว้างมากขึ้น อยู่กับความต้องการของ ส.ส. ว่าจะต้องการแบบใด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤตเกิดขึ้นอีก ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า หากเลือกจาก ส.ส.ใช้เสียงเพียงแค่กึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเลือกจากคนนอก ต้องใช้เสียง 2 ใน 3ของสภา ซึ่งความสมดุลในอำนาจระหว่าง ครม. กับ สภาฯ นั้น ได้มีมาตรการบางประการ ที่ป้องกันไม่ให้เกิดความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ซึ่งจะเกิดจากการเลือกตั้งแบบ MMP เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากรัฐบาลแพ้ผลโหวต อายุของส.ส. ก็จะหมดไป และให้มีการเลือกตั้งใหม่ สุดท้ายนักการเมืองยังต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ และภาคพลเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด"

ดึงคู่ขัดแย้งสามฝ่ายรู้รักสามัคคี

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึง ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการปฏิรูป และการปรองดองว่า การสร้างความปรองดอง เริ่มจากการสร้างความเข้าใจของ 3 ฝ่าย คือ แดง เหลือง และฝ่ายที่สาม ให้เกิดความรู้รักสามัคคี นอกจากนั้นยังได้วางกลไกต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ สร้างระบบเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสม เพราะจะใช้ระบบเดิม ใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่ามีการพิจารณาจากเหตุความวุ่นวายในอดีต ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหากเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียว แล้วนำพรรคเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองเข้าร่วม และจะมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวนั้น เป็นไปได้ยากมาก ฉะนั้นจึงอยากขอให้สมาชิก สปช. สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อสร้างความปรองดอง ระหว่างพรรคการเมือง และความปรองดองระหว่างสี

"ภาคใต้จะไม่เป็นของประชาธิปัตย์ ภาคเหนือ อีสาน จะไม่เป็นของเพื่อไทย ทั้งหมด กรุงเทพฯ ไม่เป็นของปชป. เกือบหมด ระบบนี้จะสร้างความปรองดอง ระหว่างกัน นานเหลือเกินที่กลายเป็นมายาคติว่า แต่ละภาคผูกขาดอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ระบบผสม จะทำให้ได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้น " นายเอนก กล่าว

นอกจากนี้จะเกิดความปรองดองระหว่างตัวแทนของประชาชนในการเลือก ส.ว. เพราะจะมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่ง จะมาจากตัวแทนวิชาชีพ อดีตข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร กล่าวคือ จะได้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละกลุ่มเข้าร่วมการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา เพราะ ส.ว. สามารถเสนอกฎหมายได้ด้วย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ให้อำนาจของประชาชนมากขึ้น ประชาชนไม่ใช่เจ้าของประชาธิปไตยเพียง 4 นาที ที่ให้อำนาจนักการเมือง 4 ปี อีกต่อไป แต่ประชาชนจะมีอำนาจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านเวทีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และการลงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ฉะนั้น การให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น จะเป็นการปรองดองระหว่างประชาชน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะในอดีตประชาชนสามารถแสดงบทบาทได้ทางเดียว คือ การเดินสู่ท้องถนน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดการปรองดอง ในอีกมิติหนึ่ง

วอน สปช. หนุนให้เกิดรัฐบาลผสม

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมเสริมสร้างการปรองดองแห่งชาติ เพื่อดูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และเสนอกฤษฎีกาอภัยโทษ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับทุกคน ให้เห็นถึงความแตกต่างส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่สามารถพูดว่า ประเทศไทยเกิดสันติสุขได้โดยฝ่ายเดียว ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันให้ข้อคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นเอาไว้ การไม่บัญญัติรายละเอียดเพื่อเป็นการเปิดช่องให้สปช.ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอวิธีการ ในส่วนดังกล่าว

" ประเด็นท้ายสุด การปฏิรูป คือการปรองดอง นานเหลือเกินที่เรามีความขัดแย้ง ระหว่างข้าราชการ ประชาชน นักการเมือง หวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริง " นายเอนก กล่าว

ห้ามเนรเทศคนสัญชาติไทย

นายปกรณ์ ปรียากรณ์ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ชี้แจงถึง ภาคสิทธิพลเมืองที่จะเสริมสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ ในหมวดที่ 2 ประชาชน ส่วนที่หนึ่ง ความเป็นพลเมือง และหน้าที่ของพลเมืองที่กำหนดให้ประชาชนชาวไทย มีฐานะเป็นพลเมือง และมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พลเมืองมีหน้าที่ไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยคุ้มครองสิทธิ์ของทารก และแม่ รวมถึงประชาชนให้เข้าถึงการบริหารสาธารณสุขจากรัฐโดยทัดเทียมทั่วถึง และมีมาตรฐาน

ในกรณีทีได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขของรัฐ จะได้รับการชดเชยความเสียหายนั้นด้วย รวมถึงการวางมาตรฐานด้านการศึกษาที่ให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายการศึกษาโดยการสนับสนุนของรัฐทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จาก 12 ปี เป็น 15 ปี พร้อมยังคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของพลเมืองให้รับค่าจ้างเป็นธรรม มีสวัสดิการและหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด

ที่สำคัญ ห้ามไม่ให้รัฐเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทย ในส่วนของสิทธิชุมชน ซึ่งถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ให้สิทธิพลเมืองในชุมชนปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อมของชุมชนทั้งยังสามารถตรวจสอบและรับทราบการดำเนินการของรัฐที่มีผลกระทบต่อพลเมืองและชุมชนนั้นด้วย

ตั้งฉายารธน.ฉบับ "น้ำพริกปลาทู"

จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายในบททั่วไป ภาค 1 มีทั้งสิ้น 7 มาตรา โดยสาระเป็นการวางหลักการสำคัญ ของประเทศ อาทิ ประเทศไทย ถือเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกได้ , ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข , พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ศาล โดยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ครม. และศาล รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งนี้ ประชาชนย่อมได้อยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน ขณะที่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด และกำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็น ให้สิทธิสภาฯ, วุฒิสภา, รัฐสภา ครม. ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้บังคับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. อภิปรายชื่มชมการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ได้วางบทบัญญัติ เพื่อแก้ปัญหาในอดีตเพื่ออนาคตของประเทศ โดยได้ให้ฉายาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอต่อ สปช. ว่า เป็นฉบับน้ำพริกปลาทู คือ มีความเหมาะสมกับสังคมไทย นอกจากนั้นได้ขอให้กมรรมาธิการยกร่างฯ กล้าที่จะพิสูจน์ ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการทำประชามติ แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้วิจารณ์ โดยส่วนตัวเชื่อว่า หากดำเนินการจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนกับรัฐธรรมนูญ ที่ทุกตัวอักษรเขียนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และอนาคตของคนไทย

หวั่น ม. 64 กระทบบิ๊กโปรเจกต์

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. อภิปราย ว่า ตนเกรงว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ มาตรา 64 ว่าด้วยการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยบุคคลซึ่งมิได้มีส่วนได้เสีย (EIA,HIA)อาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ และโครงการใหญ่ๆ จะช้าลง และมีข้อสังเกตว่า การทำ EIS และ HIA ตามรัฐธรรมนูญนี้ ห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ทำ แต่ในความจริง ผู้ประกอบก็คือ คนที่จ้างให้ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดการศึกษา ถามว่า ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้จริง ใครจะเป็นผู้จัดทำ ดังนั้นจึงขอให้กรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้ง

นายสยุมพร ลิ่มไทย กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนประเด็นสิทธิพลเมืองไว้มาก ซึ่งหลายข้อจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 64 การมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งเคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาแล้ว แต่ไม่เกิดผลในการรับรองสิทธิของประชาชน เพราะไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องออกมาภายหลัง

ดังนั้น สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่สามารถนำไปบังคับให้เกิดผลทางปฏิบัติได้ ก็ไม่มีประโยชน์ จึงฝากกรรมาธิการยกร่างฯ ให้เขียนรัฐธรรมนูญที่ต้องมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังด้วย

สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้( 21 เม.ย.) จะเป็นการอภิปรายในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี มีสมาชิกแจ้งความจำนงขออภิปราย รวมทั้งสิ้น 113 คน และมีส่วน สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูป แจ้งความจำนงค์อภิปรายรวม 13 คณะ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาการอภิปรายในภาคดังกล่าวจำนวน 2 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 21-22 เม.ย.

ผู้พิพากษาติงร่าง รธน.ใหม่7ประเด็น

ในวันเดียวกันนี้ (20เม.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุมร่วม ระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาความเห็นของผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล ประมาณ 427 คน ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลของที่ประชุมว่า ที่ประชุมก.ต. และก.บ.ศ. ยังมีความเห็นแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใน 7 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 225 ที่บัญญัติเกี่ยวกับองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หรือตุลาการ ซึ่งตามวรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ จากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ ซึ่งเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการของศาล ซึ่งแต่เดิมกำหนดสัดส่วนให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไว้เพียง 2 คน ดังนั้น หากร่างใหม่บัญญัติไว้ดังกล่าว แล้วมีการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนในส่วนนี้ จะกระทบทำให้เกิดการแทรกแซงของ ก.ต. ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคล และกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษา หรือตุลาการได้ เนื่องจากอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นอัตราส่วนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการได้ อันอาจมีผลทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซง รวมตลอดถึงให้คุณให้โทษ แก่ผู้พิพากษา หรือตุลาการจนสามารถใช้อิทธิพลอันเกิดจากการแทรกแซงนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงผลของคดีให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังอาจกระทบกระเทือนต่อการอำนวยการยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ มีเพียงสองคนซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม และทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างเพียงพอแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพียง 2 คน ก็สืบเนื่องจากหลักการที่ต้องการให้มีคนนอกเข้ามารับฟังการดำเนินงานของศาลยุติธรรม ไม่ใช่เข้ามาเป็นสัดส่วนเหมือนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นอกจากนั้น การกำหนดให้ ก.ต.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ก็เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากก.ต. เป็นผู้ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคล ก็จะต้องอาศัยผู้ที่สั่งสมประสบการณ์ และมีความต่อเนื่องในการทำงานย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ราชการมากกว่า โดยที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏว่า การดำรงตำแหน่งของ ก.ต.ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ประชุมเสียงข้างมาก จึงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในมาตรานี้

ประเด็นที่ 2 การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตาม มาตรา 222 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์ อย่างน้อย 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของศาลยุติธรรม และศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปี และให้กรรมการเลือกประธานกรรมการเองนั้น ที่ประชุมเห็นว่า เดิมประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งประธานศาลฎีกาถือว่า ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในทางคดี แต่เข้ามาช่วยวินิจฉัยทางวิชาการที่เป็นการตีความข้อกฎหมายเพื่อชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล และมีผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น เพราะการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจตุลาการ โดยหลักควรเป็นเรื่องที่ศาลที่เกี่ยวข้องพิจารณาวินิจฉัยปัญหากันเอง ล่าสุดแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศส ก็มีการแก้ไขกฎหมายให้กรรมการมีองค์ประกอบเฉพาะผู้พิพากษา หรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยตัดสัดส่วนของรัฐมนตรียุติธรรมให้ออกจากคณะกรรมการ

ดังนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการนั้น จะทำให้มีคนนอกเข้ามารับทราบและล่วงรู้เกี่ยวกับสำนวนคดี จึงควรกำหนดให้องค์ประกอบคณะกรรมการมาจากผู้พิพากษาและตุลาการที่เกี่ยวข้องเป็นหลักตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในส่วนนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วนในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการตีความเจตนารมณ์ผิด เพราะการชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นการตรวจสอบเรื่องในสำนวน จึงไม่ควรให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 3 ร่างมาตรา 240 เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในศาลฎีกา แต่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ของสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ผู้ต้องคดี มีสิทธิอุทธรณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั้นศาล ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงตั้งข้อสังเกตการณ์ยื่นอุทธรณ์ว่า เดิมรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้ผู้ต้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ในประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องปรากฏว่าเป็นหลักฐานใหม่ และมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ก็น่าจะเป็นการกำหนดที่มีข้อจำกัดเกินไป จึงเห็นควรว่า การยื่นอุทธรณ์น่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ในคดีทั่วไป คือ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยไม่ต้องถึงขนาดมีหลักฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ แต่ผู้ต้องคดีที่ต้องการยื่นอุทธรณ์ไม่ว่าตัวจะอยู่ในประเทศ หรือหลบหนีไปต่างประเทศจะต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง

ประเด็นที่ 4 มาตรา 241 ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งตาม (1) กำหนดให้ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ว่าจะให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจดังกล่าวด้วยหรือไม่

ดังนั้น จึงอยากให้เพิ่มถ้อยคำให้ชัดเจนว่าให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ

นอกจากนี้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง กำหนดให้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดเฉพาะวิธีพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคไว้ด้วย ทำให้คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิอย่างมาก จึงควรบัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกาได้ด้วย

ประเด็นที่ 5 เรื่องหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ตามมาตรา 219 วรรคหก ที่กำหนดให้การลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา ซึ่งเดิมก.ต. ที่ได้รับการเลือกจากผู้พิพากษาทุกระดับชั้นจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยได้อยู่แล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะมีการกำหนดให้อุทธรณ์การลงโทษวินัยไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงอีก ซึ่งเดิมศาลฎีกาทำหน้าที่พิพากษาคดี ดังนั้น จะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไปตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลสูงสุดที่ผู้พิพากษาและตุลาการนั้นสังกัดอยู่แต่ในระบบของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการทำงานคนละหน้าที่ ถือเป็นการทำงานที่ผิดฝั่งผิดฝา ที่ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีทั่วไปมาพิจารณาโทษทางวินัย ซี่งมี ก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 6 เรื่องการกำหนดระยะเวลาของกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 218 วรรคสอง จะกำหนดให้ศาลกำหนดระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนพิจารณาของศาลเอาไว้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยตามแนวคิดดังกล่าว แต่ขอให้มีการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนของศาลเท่านั้น จึงอยากให้ตัดคำว่าศาลออกไป โดยใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแทน

ส่วนวรรคสาม ที่กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาต้องให้ความร่วมมือกับศาล แต่ในคดีมีผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาหลายฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ คู่ความ คู่กรณี ทนายความ จึงควรบัญญัติคำเหล่านี้เพิ่มไปด้วย

สำหรับตามวรรคสี่ กำหนดหลักการเรื่องการแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ที่ประชุมเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี แต่การกำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำพิพากษาและคำสั่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะนั้น ทำให้เกิดข้อกังหาว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะ ในที่ประชุมจึงเห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่จะถือว่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะไว้ โดยควรเพิ่มเติมข้อความในวรรคสี่ว่า “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ประเด็นที่ 7 เรื่องอายุของผู้พิพากษา หรือตุลาการ มาตรา 226 วรรคสอง กำหนดให้ผู้พิพากษา หรือตุลาการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์นั้น ที่ประชุมเห็นพ้องด้วย แต่ต้องการให้เขียนถ้อยคำชัดเจนลงไปว่า การสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี จากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แล้วสามารถไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนอายุ 70 ปีบริบูรณ์ และควรกำหนดให้ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครใจไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้

นอกจากนี้ ที่ข้อสังเกตว่า ตามที่มีกระแสข่าวให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วย เพราะผู้พิพากษาอาวุโส เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ทำให้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาพิจารณาเสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็ว ส่วนศาลชั้นต้นก็มีการตั้งผู้พิพากษาอาวุโสเป็นหัวหน้าองค์คณะอยู่แล้ว รวมทางอธิบดี และรองอธิบดีศาลจะตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนจะอ่านให้คู่ความฟัง ดังนั้น จึงควรให้มีผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกชั้นศาล

"เหตุผลที่ต้องประชุมวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเราพยายามยึดถือ และยึดมั่นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และศาล ดังนั้น จึงต้องแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเรื่องใด แต่ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ต้องการให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง”เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น