สรุปความเห็นผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล เห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 7 ประเด็น ค้านเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกในองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หวั่นเปิดทางแทรกแซงศาล พร้อมเสนอคดีอาญานักการเมืองอุทธรณ์ได้ในหลักเกณฑ์เดียวกับการอุทธรณ์คดีทั่วไป แต่ต้องยื่นด้วยตัวเอง แนะเพิ่มถ้อยคำชัดเจนให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ หนุนผู้พากษาสิ้นอายุราชการตอน 65 และให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสถึงอายุ 70
ที่ห้องประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (20 เม.ย.) นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาความเห็นของผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล ประมาณ 427 คน ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อภิปรายระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. นี้ ก่อนลงมติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
ต่อมาเวลา 14.30 น. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงผลของที่ประชุมว่า ที่ประชุม ก.ต. และ ก.บ.ศ. ยังมีความเห็นแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเด็นหลัก 7 ประการ ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ที่บัญญัติเกี่ยวกับองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หรือตุลาการ ซึ่งตามวรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาล ซึ่งแต่เดิมกำหนดสัดส่วนให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไว้เพียง 2 คน ดังนั้น หากร่างใหม่บัญญัติไว้ดังกล่าว แล้วมีการออก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนในส่วนนี้จะกระทบทำให้เกิดการแทรกแซงของ ก.ต. ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลและกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษา หรือตุลาการได้ เนื่องจากอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นอัตราส่วนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการได้อันอาจมีผลทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซง รวมตลอดถึงให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการจนสามารถใช้อิทธิพลอันเกิดจากการแทรกแซงนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงผลของคดีให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังอาจกระทบกระเทือนต่อการอำนวยการยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกด้วย ในอดีตที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียงสองคนซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างเพียงพอแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพียง 2 คน ก็สืบเนื่องจากหลักการที่ต้องการให้มีคนนอกเข้ามารับฟังการดำเนินงานของศาลยุติธรรม ไม่ใช่เข้ามาเป็นสัดส่วนเหมือนร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นอกจากนั้น การกำหนดให้ ก.ต. ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ก็เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจาก ก.ต. เป็นผู้ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่ง ก.ต. ที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลก็จะต้องอาศัยผู้ที่สั่งสมประสบการณ์ และมีความต่อเนื่องในการทำงานย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ราชการมากกว่า โดยที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏว่าการดำรงตำแหน่งของ ก.ต. ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากจึงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในมาตรานี้
ประเด็นที่ 2 การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา 222 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปีและให้กรรมการเลือกประธานกรรมการเองนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเดิมประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งประธานศาลฎีกาถือว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งในทางคดี แต่เข้ามาช่วยวินิจฉัยทางวิชาการที่เป็นการตีความข้อกฎหมายเพื่อชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล และมีผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น เพราะการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจตุลาการ โดยหลักควรเป็นเรื่องที่ศาลที่เกี่ยวข้องพิจารณาวินิจฉัยปัญหากันเอง ล่าสุด แม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสก็มีการแก้ไขกฎหมายให้กรรมการมีองค์ประกอบเฉพาะผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยตัดสัดส่วนของรัฐมนตรียุติธรรมให้ออกจากคณะกรรมการ ดังนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการนั้นจะทำให้มีคนนอกเข้ามารับทราบและล่วงรู้เกี่ยวกับสำนวนคดี จึงควรกำหนดให้องค์ประกอบคณะกรรมการมาจากผู้พิพากษาและตุลาการที่เกี่ยวข้องเป็นหลักตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในส่วนนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วนในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการตีความเจตนารมณ์ผิด เพราะการชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นการตรวจสอบเรื่องในสำนวน จึงไม่ควรให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
นายภัทรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 3 ร่างมาตรา 240 เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในศาลฎีกา แต่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ของสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ผู้ต้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั้นศาล ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงตั้งข้อสังเกตการณ์ยื่นอุทธรณ์ว่า เดิมรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้ผู้ต้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องปรากฏว่าเป็นหลักฐานใหม่ และมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ก็น่าจะเป็นการกำหนดที่มีข้อจำกัดเกินไป จึงเห็นควรว่าการยื่นอุทธรณ์น่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ในคดีทั่วไป คือ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่ต้องถึงขนาดมีหลักฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ แต่ผู้ต้องคดีที่ต้องการยื่นอุทธรณ์ไม่ว่าตัวจะอยู่ในประเทศหรือหลบหนีไปต่างประเทศจะต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง
ส่วนประเด็นที่ 4 มาตรา 241 ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตาม (1) กำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่าจะให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจดังกล่าวด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากให้เพิ่มถ้อยคำให้ชัดเจนว่าให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ นอกจากนี้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง กำหนดให้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดเฉพาะวิธีพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคไว้ด้วย ทำให้คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิอย่างมาก จึงควรบัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกาได้ด้วย
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 5 เรื่องหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ตามมาตรา 219 วรรคหก ที่กำหนดให้การลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา ซึ่งเดิม ก.ต. ที่ได้รับการเลือกจากผู้พิพากษาทุกระดับชั้นจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยได้อยู่แล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการกำหนดให้อุทธรณ์การลงโทษวินัยไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงอีก ซึ่งเดิมศาลฎีกาทำหน้าที่พิพากษาคดี ดังนั้น จะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไปตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลสูงสุดที่ผู้พิพากษาและตุลาการนั้นสังกัดอยู่แต่ในระบบของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการทำงานคนละหน้าที่ ถือเป็นการทำงานที่ผิดฝั่งผิดฝา ที่ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีทั่วไปมาพิจารณาโทษทางวินัย ซี่งมี ก.ต. ที่ทำหน้าที่บริหารงานยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว
ขณะที่ประเด็นที่ 6 เรื่องการกำหนดระยะเวลาของกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 218 วรรคสอง จะกำหนดให้ศาลกำหนดระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนพิจารณาของศาลเอาไว้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยตามแนวคิดดังกล่าว แต่ขอให้มีการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนของศาลเท่านั้น จึงอยากให้ตัดคำว่าศาลออกไป โดยใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแทน ส่วนวรรคสาม ที่กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาต้องให้ความร่วมมือกับศาล แต่ในคดีมีผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาหลายฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ คู่ความ คู่กรณี ทนายความ จึงควรบัญญัติคำเหล่านี้เพิ่มไปด้วย สำหรับตามวรรคสี่ กำหนดหลักการเรื่องการแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ที่ประชุมเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี แต่การกำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำพิพากษาและคำสั่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะนั้น ทำให้เกิดข้อกังหาว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะ ในที่ประชุมจึงเห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่จะถือว่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะไว้ โดยควรเพิ่มเติมข้อความในวรรคสี่ว่า “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
นายภัทรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้าย เรื่องอายุของผู้พิพากษา หรือ ตุลาการ ตามมาตรา 226 วรรคสอง กำหนดให้ผู้พิพากษา หรือ ตุลาการ สิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์นั้น ที่ประชุมเห็นพ้องด้วย แต่ต้องการให้เขียนถ้อยคำชัดเจนลงไปว่าการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี จากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แล้วสามารถไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนอายุ 70 ปีบริบูรณ์ และควรกำหนดให้ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์สามารถสมัครใจไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้
นอกจากนี้ ที่ข้อสังเกตว่าตามที่มีกระแสข่าวให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วย เพราะผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ทำให้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาพิจารณาเสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็ว ส่วนศาลชั้นต้นก็มีการตั้งผู้พิพากษาอาวุโสเป็นหัวหน้าองค์คณะอยู่แล้ว รวมทั้งอธิบดี และรองอธิบดีศาลจะตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนจะอ่านให้คู่ความฟัง ดังนั้น จึงควรให้มีผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกชั้นศาล
“เหตุผลที่ต้องประชุมวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเราพยายามยึดถือและยึดมั่นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และศาล ดังนั้น จึงต้องแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเรื่องใด แต่ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ต้องการให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
ผู้สื่อข่าวเมื่อถามว่า นายดิเรก ประธานศาลฎีกา มีความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ท่านประธานศาลฎีกาก็ได้อยู่ในที่ประชุมด้วย ซึ่งท่านก็ได้รับทราบมติและความเห็นของที่ประชุมต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับศาลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน โดยในบางประเด็นศาลยังมีความเห็นแตกต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทางศาลจึงต้องมีการประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงจุดยืนว่ามีความเห็นด้วยหรือมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นไหนและอย่างไรบ้าง โดยหลังจากที่ประชุมได้สรุปมติความเห็นต่างนี้แล้ว ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะทำหนังสือเพื่อสรุปในประเด็นความเห็นที่แตกต่างไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่า หากศาลได้ยื่นข้อเสนอความเห็นต่างไปยัง สปช. แล้ว แต่ทาง สปช. ยืนยันตามร่างเดิม ไม่พิจารณาแก้ไขตามข้อเสนอของศาลจะดำเนินการอย่างไร นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตามหลักแล้วคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอภิปรายวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เพื่อลงมติจะรับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกหรือไม่ จึงยังสามารถดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ทัน โดยที่ประชุมของศาลได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ ยึดหลักเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หากมีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไขก็ควรจะต้องแก้ไข คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป
เมื่อถามว่า มีทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีความคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมคาดหวังว่า ทาง สปช. จะรับฟังข้อเสนอและความเห็นที่แตกต่างของทางสำนักงานศาลฯ ที่เห็นควรจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในบางประเด็น ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการและข้อกฎหมาย พร้อมทั้งชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นหากรัฐธรรมนูญมีการบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อศาลและการพิจารณาคดีของศาลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ถ้าหากจะให้ตนเข้าชี้แจงต่อ สปช. ก็พร้อมที่จะเข้าชี้แจงในทุกประเด็น
เมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุถึงการอุทธรณ์และการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นได้พูดถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยอย่างกว้างๆ ซึ่งไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมอาจจะร่างกฎหมายลูกเพื่อบัญญัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่วมทั้งในคดีเลือกตั้งด้วย ส่วนกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายในระยะเวลา 30 วัน
เมื่อถามว่าหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรรับอุทธรณ์หรือไม่ นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งทางศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะบัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาในการอุทธรณ์ ส่วนจะมีการตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่หรือจะใช้องค์คณะเดิมนั้น ก็คงจะต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ทางศาลเห็นว่าองค์คณะที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์นั้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับองค์คณะ 9 คนในการพิพากษาคดีดังกล่าว