ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อศาลยุติธรรม โดยคณะกรรมตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ.มีมติเห็นแย้งกับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 7 ประเด็น” โดยเห็นว่ากฎหมายใหม่นี้อาจมีผลทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงผลของคดีเพื่อให้ตอบสนองส่วนตน ตลอดจนให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและตุลาการได้
“นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์” โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อหวังให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะช่วยให้ศาลได้เป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง ไม่ถูกครอบงำทางการเมือง และประชาชนได้รับความยุติธรรมมากที่สุด
เพราะเหตุใดศาลยุติธรรมจึงมีมติโต้แย้งการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
เรื่องเริ่มจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในภาคสาม เรื่องหลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจหลัก แบ่งออกเป็นหลายหมวด
ส่วนที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรมจะอยู่ในหมวดที่ 1 คือ หมวดทั่วไป และส่วนที่สาม ศาลยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรมก็ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด พบว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมนั้น มีบทบัญญัติบางประการที่จะกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีส่วนที่เป็นผู้แทนจากชั้นศาลต่างๆ มาประชุมและสรุปร่วมกัน พบว่าประเด็นที่มีปัญหาหรือเป็นประเด็นสำคัญนั้นมีทั้งหมด 7 ประเด็น เราจึงอยากโต้แย้งและแนะนำประเด็นนี้ต่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการแก้ไขต่อไป
7 ประเด็นที่เป็นปัญหานี้มีอะไรบ้าง เริ่มจากประเด็นแรก มาตรา 218 เรื่องการกำหนดระยะเวลาของกระบวนพิจารณา
ตามมาตรา 218 นี้ได้กำหนดว่า การดำเนินการพิจารณาของศาลจะต้องมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งในวรรคสามยังกำหนดอีกว่าคู่ความ คู่กรณี และทนายความมีหน้าที่ให้ความร่วมมือแก่ศาล ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่าในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีเฉพาะศาลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินความยุติธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานอัยการ เพราะฉะนั้น ตามมาตรา 218 วรรคสองที่กำหนดว่าการดำเนินพิจารณาของศาลจะต้องมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ แต่อันที่จริงแล้วความล่าช้าสามารถเกิดได้จากทุกขั้นตอน เช่น จากตำรวจ จากทนายความ จากขั้นตอนและลูกความเอง ฉะนั้นจึงไม่ควรจำกัดระยะเวลาในชั้นศาลเท่านั้น แต่ควรกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอน ก็จะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเร็วขึ้น
ประการที่สองคือ ตามวรรคสาม กำหนดให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ให้ความร่วมมือต่อศาล การระบุไว้แต่เพียงว่าคู่ความ คู่กรณีและทนายความนั้น เรามองว่ายังมีส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นน่าจะกำหนดเพิ่มว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม เช่น เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการ ก็ควรจะให้ความร่วมมือต่อศาลด้วย เพื่อเป็นการร่วมมือกัน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
ประการที่สามคือ ตามวรรคสี่ กำหนดไว้เกี่ยวกับหลักการให้เหตุผลในการวินิจฉัยว่าจะต้องแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัย ต้องอ่านโดยเปิดเผย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และถ้าเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณะจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วย เรื่องนี้ปัญหาคือว่าการดำเนินพิจารณาจะต้องมีคู่ความ ซึ่งการกำหนดให้เรื่องเกี่ยวประโยชน์สาธารณะ โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อาจจะกระทบต่อสิทธิของคู่ความ ทางศาลยุติธรรมจึงเห็นว่าน่าจะให้กฎหมายบัญญัติไว้ด้วยในกรณีที่จะถือว่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ เราจึงเสนอว่าในส่วนท้ายของวรรคนี้ น่าจะเพิ่มเติมคำว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เนื่องจากเราเห็นว่ากฎหมายที่จะร่างนี้มีคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ขึ้นมา ก็ควรมีคำนิยามของคำว่าประโยชน์สาธารณะว่าคืออะไร และการที่จะเข้ามาสู่ประโยชน์สาธารณะนั้น จะสามารถทำได้อย่างไร ฉะนั้น น่าจะมีกฎหมายลูกที่บัญญัติรองรับในส่วนนี้ไว้
ประเด็นที่สอง มาตรา 219 ซึ่งเกี่ยวกับหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออะไร
เพื่อให้เห็นภาพ ต้องเรียนก่อนว่าในทั่วโลกจะมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ คือ จะมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อมาพิจารณา คณะกรรมการนี้ในส่วนของศาลยุติธรรม เราเรียกว่าคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพราะฉะนั้นในการพิจารณาเรื่องลงโทษทางวินัย เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา ก็จะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องวินัยเรามีกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งก็จะเริ่มตั้งแต่การสอบสวนข้อเท็จจริงในขั้นต้นก่อน หลังจากนั้นจึงจะสอบสวนทางวินัย แล้วจึงจะพิจารณาโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หลังจากคณะกรรมการมีความเห็นอย่างไรแล้ว ได้รับโทษแล้ว ผู้นั้นสามารถขอให้ทบทวน คือ ไปขอต่อคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ถ้าคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมยืนยันว่าไม่ทบทวน เขาก็สามารถอุทธรณ์ต่อ ก.ต. คือ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ซึ่งในส่วนนี้ศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วย เพราะว่าศาลฎีกามีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี การให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา จึงทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไป
ปกติหน่วยงานที่ดูแลบุคลากรศาลยุติธรรมก็คือ ก.ต. และเราก็มีระบบตรวจสอบและระบบอุทธรณ์อยู่แล้วอย่างที่ผมเรียนให้ทราบ เพราะฉะนั้น น่าจะใช้ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเหมาะสมดีอยู่แล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร
ประเด็นที่สาม มาตรา 222 เรื่องการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ตรงนี้ขอเรียนให้ทราบว่า ปัจจุบันเมื่อมีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาล เช่น ถ้ามีคดีความที่เกิดขึ้น และมีข้อสงสัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง หรืออยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม เมื่อไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็จะมีกรรมการวินิจฉัยชุดหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด และหัวหน้าสำนักตุลาการทหาร นอกจากนั้นก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกสามคน ซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกหนึ่งคน ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองเลือกหนึ่งคน ที่ประชุมศาลทหารเลือกอีกหนึ่งคน รวมเป็นหกคน และในหกคนนี้ก็จะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้เป็นตุลาการอีก รวมเป็นเจ็ดคน เพื่อร่วมกันพิจารณา แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์อย่างน้อยสามคน แต่ไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับทำหน้าที่คราวละหนึ่งปี
แล้วยังให้ประธานศาลที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการ เมื่อประธานศาลที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการ ก็จะมีอยู่สองคน สมมติว่าศาลปกครองกับศาลยุติธรรม ก็จะมีประธานศาลปกครองกับประธานศาลยุติธรรม ส่วนกรรมการก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์อีกอย่างน้อยสามคนไม่เกินห้าคน แล้วทั้งหมดมาเลือกเป็นประธาน ซึ่งประธานก็จะเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ประเด็นนี้จะทำให้ประธานจากทั้งสองศาลเสมือนเป็นคู่กรณีกัน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่ใช่การตัดสินคดี แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดเท่านั้นเอง
จะเห็นได้ว่าจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่างจากหลักการในต่างประเทศ เพราะหลักการในต่างประเทศถือว่าอำนาจนี้เป็นของตุลาการในการพิจารณาว่าคดีไหนจะอยู่ในอำนาจของศาลไหน เพราะฉะนั้น เราเลยเห็นว่ารัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานก็เหมาะสมอยู่แล้ว แล้วการที่กำหนดให้ศาลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ปัจจุบันมีศาลปกครองและศาลทหาร ก็เหมาะสมอยู่แล้ว ฉะนั้นระบบเดิมน่าจะเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่น่าจะปรับเปลี่ยนให้ประธานศาลฎีกาเป็นเพียงกรรมการ และให้ประธานศาลปกครองเข้ามาเป็นกรรมการ ก็จะเกิดข้อโต้แย้ง เพราะมันจะเหมือนคู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่น่าจะเหมาะสม
ประเด็นที่สี่ มาตรา 225เรื่ององค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการ
อันนี้เป็นการกำหนดสัดส่วนใหม่ มาตรา 225 กำหนดว่าผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ ตรงนี้เรียนว่าจำนวนของผู้ทรงคุณวุฒิจะมีผลต่อการลงมติของ ก.ต .ถูกต้องไหมครับ เพราะยิ่งจำนวนมาก การลงคะแนนก็อาจจะเทไปทางใดทางหนึ่ง
จากกฎหมายเดิมที่ผ่านมา ผู้ทรงคุณวุฒิจะมีเพียงสองคน โดยเลือกมาจากวุฒิสภา ซึ่งเดิมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เนื่องจากการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอก เราเรียกว่า ก.ต. บุคคลภายนอก เราถือว่า ก.ต. บุคคลภายนอกเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับประชาชนอยู่แล้ว การกำหนดไว้จำนวนสองคน จึงถือว่าเหมาะสม อย่าลืมที่ผมเรียนว่า ก.ต. มีอำนาจให้คุณให้โทษผู้พิพากษาได้ สามารถแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาได้ด้วย ฉะนั้น ถ้าอัตราส่วนของคนนอกมาก การให้คุณให้โทษผู้พิพากษาก็จะมีผล ถูกไหมครับ
เพราะการกำหนดสัดส่วนแบบนี้ อาจทำให้เกิดการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลและกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ เนื่องจากอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้นเป็นอัตราส่วนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการได้
แล้วถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่การเมืองเข้ามาครอบงำการเลือกบุคคลเข้ามาในศาล จะเกิดอันตรายและกระทบต่อประชาชนมาก เช่นอาจจะมีผลต่อทางคดี เพราะมีนักการเมืองเยอะแยะที่มีคดีการเมืองอยู่กับชั้นศาล เพราะฉะนั้น จึงเป็นจุดที่เราค่อนข้างจะกังวลมาก เรื่องการที่กำหนดเพิ่มอัตราส่วนของคนนอก ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียงสองคน เพราะการลงมติต่างๆของก.ต. ถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การลงโทษทางวินัย ให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษา แล้ว ก.ต. เป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระต่อทุกศาล
แล้วในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ไม่ได้กำหนดว่าผู้ทรงคุณวุฒินี้จะต้องมาจากไหน บอกเพียงว่าต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องมีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการ คือสรุปว่าถ้ากรรมการมีเท่าไหร่ ผู้ทรงคุณวุฒิก็ไม่ควรน้อยกว่าหนึ่งในสาม ทีนี้จึงมองว่าถ้าผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนมาก การลงมติหรือการดำเนินการอะไรก็จะมีปัญหา
นอกจากนั้น การกำหนดให้กรรมการสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวก็เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากกรรมการเป็นผู้ที่รับเลือกจากผู้พิพากษาหรือตุลาการ และการทำหน้าที่หากสามารถสั่งสมประสบการณ์และมีความต่อเนื่องในการทำงาน ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ราชการมากกว่า
ประเด็นที่ห้า มาตรา 226 เรื่องอายุของผู้พิพากษาหรือตุลาการ
เรื่องนี้ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาทำงานจนถึงอายุ 70 คือ เกษียณ 70 ปี แล้วก็จะมีอีกระบบหนึ่งที่เรียกว่าผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งปัจจุบันผู้พิพากษาอายุ 60 ปี สามารถขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ แล้วทีนี้ตามร่างรัฐธรรมนุญฉบับใหม่เสนอให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการเกษียณจากผู้บริหารคือ ตำแหน่งที่ประจำเมื่ออายุ 65 ปี แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสไปจนอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ตรงนี้เราเห็นด้วยว่าไม่มีปัญหา แต่ทางเราอยากจะขอเพิ่มระบบเดิมเข้าไปคือ อายุ 60 ปี ก็สามารถเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ และขอให้สามารถอยู่ได้ทุกชั้นศาลด้วย
เนื่องจากในร่างกฎหมายนี้ กรรมาธิการบางท่านเห็นว่าผู้พิพากษาอาวุโสน่าจะอยู่เฉพาะศาลชั้นต้นเท่านั้น แต่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม ต้องเรียนว่าผู้พิพากษาอาวุโสเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 ตอนนั้นเขาต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศาลชั้นต้น อยากให้ได้ผู้พิพากษาที่มีความรู้ความสามารถไปช่วย เขาเลยกำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปอยู่ศาลชั้นต้น ต่อมาทางเราเห็นว่าการที่ผู้พิพากษาอาวุโสอายุมากแล้ว ประสบการณ์สูง ควรจะให้ท่านเลือกได้ว่าจะอยู่ศาลไหน เช่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ซึ่งก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะสั่งสมประสบการณ์ในการสั่งสมมาจะมาเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
อีกอย่างปัจจุบันเรามีระบบผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ระบบหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลชั้นต้น หมายความว่าผู้พิพากษาอาวุโส 10 กว่าปี เราจะส่งออกไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ อีกครั้งหนึ่ง แล้วถึงเวลาก็ค่อยขยับเข้ามา ฉะนั้น ในศาลต่างจังหวัดจึงไม่ได้มีแค่หัวหน้าศาล แต่จะมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษา เช่น ถ้าศาลนั้นมีหัวหน้าศาลคนหนึ่ง มีผู้พิพากษาอีกหกคน จะต้องเป็นหัวหน้าคณะชั้นต้นอีกสามคน แล้วก็เป็นผู้พิพากษาอีกสามคน ดังนั้นสามคนที่เป็นหัวหน้าคณะชั้นต้นกับผู้พิพากษาที่เป็นหัวหน้าศาล อันนี้จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น และหัวหน้าศาลก็จะต้องมีประสบการณ์สั่งสมมายาวนาน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตอนนี้เรามีระบบแบบนี้ ที่ทำให้ผู้พิพากษาหมุนเวียนไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ทำให้ผู้มีความรู้ความสามารถกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้พิพากษาอาวุโสลงไปอยู่ในศาลชั้นต้นอย่างเดียวอีก จึงขอเสนอเพิ่มว่าผู้พิพากษาอาวุโสนี้ควรจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ทุกชั้นศาล
ประเด็นที่หก มาตรา 240 เรื่องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
เรื่องนี้แม้ว่าการกำหนดให้คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาจะทำให้เกิดข้อขัดข้องในการอุทธรณ์คำพิพากษา แต่การกำหนดดังกล่าวเป็นเพราะเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาลฎีกา ศาลยุติธรรมจึงไม่ขัดข้องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในลักษณะดังกล่าว แต่เห็นว่าควรพิจารณาหลักเกณฑ์รายละเอียดในกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการอุทธรณ์ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองด้วย
ตอนนี้ที่เกิดเสียงขึ้นมาก็คือ เรื่องการอุทธรณ์ เนื่องจากการอุทธรณ์ทำได้ยาก ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพราะไปกำหนดว่าให้อุทธรณ์ได้เฉพาะเมื่อมีข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ศาลยุติธรรมจึงเสนอว่าเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดข้อง ก็น่าจะไปกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมไว้ด้วย เช่น การอุทธรณ์ น่าจะกำหนดไปเลยว่าข้อเท็จจริงก็สามารถอุทธรณ์ คือ ก็คืออุทธรณ์ไปตามศาลฎีกานั่นแหละ เพราะศาลฎีกาถือเป็นศาลสูงสุด ก็ให้อุทธรณ์ในระบบศาลฎีกา
อีกทั้งทางศาลยุติธรรมยังเห็นว่าจำเป็นจะต้องให้จำเลยมายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง เพราะเมื่อจำเลยจะเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จำเป็นต้องพร้อมมายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง
ประเด็นที่เจ็ด มาตรา 241 เรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
เรื่องนี้รัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจเกี่ยวกับพิพากษาคดีเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะให้มีอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่
นึกออกไหมว่าเมื่อมีการเพิกถอนเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้มีกำหนดในประเด็นนี้ไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงอยากให้เขียนให้ชัดเจนเลยว่าจะให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในการสั่งหรือไม่ นอกจากนั้นในวรรคท้ายยังกำหนดว่าให้ที่ประชุมใหญ่ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ แต่ออกระเบียบได้เฉพาะวิธีพิจารณาและการพิพากษาคดีเท่านั้นเอง โดยไม่ได้บอกเรื่องสิทธิการอุทธรณ์เลย ทำให้คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ อย่าลืมว่าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเพิกถอนการเลือกตั้ง เรื่องการยื่น บัญชี จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน มันกระทบกับสิทธิเสรีภาพของคู่ความ อย่างไรก็ตาม น่าจะให้โอกาสเขาในการอุทธรณ์ ฉะนั้น ศาลยุติธรรมจึงเห็นว่าน่าจะเพิ่มบทบัญญัติในส่วนนี้ไว้ด้วย
คิดว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาอย่างไรในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมจึงออกมาแบบนี้
ผมคิดว่าเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือต้องการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม เราอยากจะให้ผู้ร่างรับธรรมนูญได้ฟังผู้ปฏิบัติด้วย เพราะผู้ปฏิบัติจะมองเห็นปัญหา รวมทั้งมองเห็นว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรแล้ว ปัญหาต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เราไม่ได้โต้แย้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะเราพร้อมจะเปลี่ยนแปลง ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนให้ดีขึ้น เราเพียงแต่ติงในบางประเด็นเท่านั้นเอง จึงไม่ได้หมายความว่าศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยกับทุกประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ คือ เราเห็นด้วยในบางส่วน แต่บางส่วนที่เราคิดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อความอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เราก็อยากจะเรียกร้องว่าในส่วนนั้น ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ขอให้ฟังทางศาลยุติธรรม ลองทบทวนดูอีกสักครั้งหนึ่งว่าประเด็นต่างๆที่เราเสนอไปทั้ง 7 ประเด็นนั้น ผลดีผลเสียจะเป็นอย่างที่เราคาดไว้หรือไม่
ประเด็นไหนที่ศาลยุติธรรมกังวลมากที่สุด ใช่มาตรา 225 หรือไม่
จริงๆ แล้วทุกประเด็นที่ทางศาลไม่เห็นชอบด้วย มีความสำคัญทุกประเด็น แต่ประเด็นหลักๆ ก็จะอยู่ที่มาตรา 225 เพราะในร่างนี้เปิดช่องว่างในเรื่องผู้ทรงคุณวุฒิไว้ ระบุแต่เพียงสั้นๆ ว่าไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นการระบุกว้างๆ เท่านั้นเอง ทำให้เรากังวลว่าผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นใครและจะมาดำเนินการกับศาลอย่างไรบ้าง
ต้องเข้าใจว่า ก.ต. เป็นองค์กรที่ประกันความอิสระของทุกศาล มีอำนาจในการโยกย้ายแต่งตั้ง การลงโทษทางวินัย มันทำให้ผู้พิพากษาหวั่นไหวได้ เพราะฉะนั้น มติของก.ต.ถือเป็นเรื่องสำคัญ และการดำเนินงานของก.ต. ที่ผ่านมา เรียนเลยว่าไม่เคยมีปัญหา จะเห็นเลยว่าเราลงโทษข้าราชการผู้ใหญ่ และหลายครั้งก็เรียกว่าเด็ดขาดในการพิจารณา การแต่งตั้งโยกย้ายของเราก็โปร่งใส เรามีระบบที่ให้การตรวจสอบได้ ดังนั้น เราเชื่อว่าระบบ ก.ต. ของเราดีอยู่แล้ว และตอนที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้มีคนนอกเข้ามาสองคน ก็น่าจะเหมาะสม เพราะเป็นตัวเชื่อมโยงต่อประชาชน แล้วการที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ระบุว่าผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ก็ถือว่าเยอะเกินไปและอาจมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้าย การลงโทษผู้พิพากษา
ทีนี้ถามว่า ถ้าเกิดต่อไปในอนาคตการเมืองเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ ทางการเมืองก็สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาได้ แล้วเวลาลงคะแนนล่ะ แล้วถ้าฝ่ายการเมืองมีคดีกับศาลล่ะ ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งที่ไปมีคดีกับนักการเมือง ประเด็นนี้จึงน่าเซ็นซิทีฟมาก
แล้วก็มีเรื่องของมาตรา 226 ที่เราขอเรื่องผู้พิพากษาอาวุโสว่าน่าจะเป็นระบบเดิมก็คือ ขอให้ใส่ไปด้วยว่าอายุ 60 ปี ก็สามารถขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ และขอให้อยู่ได้ในทุกชั้นศาล
หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายตามที่ศาลยุติธรรมเสนอไป คิดว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง
อย่างที่ผมเรียนว่าบางส่วนเกี่ยวกับงานบริหารงานบุคคล ซึ่งเกี่ยวกับความเป็นอิสระของศาล บางส่วนเกี่ยวกับประชาชนโดยตรง เช่น การเร่งรัดการพิจารณาคดี บางส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิของคู่ความ เช่น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา ถ้าสมมติไม่ได้มีการปรับปรุง ยังคงยืนยันตามข้อโต้แย้งตามเดิม ผลเสียก็จะไปตกอยู่ที่ประชาชนและคู่ความ เพราะประเด็นต่างๆ เราในฐานะผู้ปฏิบัติ จึงเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแน่ๆ
รู้สึกอย่างไรที่มีคนมองว่า ทางผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาเข้ามาแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างศาลให้ต่างไปจากเดิม
ผมไม่ทราบถึงเจตนาผู้ร่างว่าเป็นอย่างไร แต่เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้น่าจะมีปัญหาอย่างไรบ้าง เลยพยายามชี้แจง และพยายามให้เห็นว่าจะเป็นปัญหาอย่างไร ประเด็นไหนควรจะเป็นอย่างไรบ้างเท่านั้นเอง
ทางผู้พิพากษาและตุลาการมีความรู้สึกไหมว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของศาล
เรากังวลว่า การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ถือว่าสูงสุดของประเทศ จะทำให้การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนไม่ได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ หรือกำหนดให้เร่งรัดเฉพาะศาล ทั้งที่ความจริงมันน่าจะไปด้วยกัน
แล้วการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คนร่างก็ไม่ได้มาปรึกษาเราก่อน เราก็เลยไม่ทราบว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญถึงออกไปในลักษณะอย่างนั้น แต่เมื่อเราเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อประชาชน เราก็ไม่สบายใจ เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่าจะเกิดปัญหา จึงได้เสนอ 7 ประเด็นหลักๆ ที่อยากให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกไป
ต่อไปเราคงจะต้องมีการประชุมอีก เพื่อเราจะได้ดูประเด็นรองลงไป ดูว่ามีประเด็นไหนที่ยังมีปัญหาอยู่ และทางเราอยากจะแสดงเหตุผลให้แก่ผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้นำไปพิจารณา ข้อเสนอ 7 ประเด็นนี้เป็นเพียงเบื้องต้น ดังนั้น หลังจากนี้คงจะมีการหารือในรายละเอียดอื่นๆ ต่อไปอีก
ภาพ ศิวกร เสนสอน