xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์การปฏิรูปศาลยุติธรรม (ตอนที่ 1) แนวคิดเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรม ที่มาจากฝ่ายการเมือง

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต. ศาลยุติธรรม) เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลมีหน้าที่แต่งตั้ง โยกย้าย และลงโทษทางวินัย แก่ผู้พิพากษาทุกระดับชั้น จึงต้องเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาจะต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงหรือกลั่นแกล้งด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม

แต่เดิมบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการตุลาการ (ก.ต.) จะต้องเป็นผู้พิพากษาเท่านั้น ต่อมา เมื่อมีการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดให้มี ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภา โดยอ้างว่าเพื่อให้ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการมีความเชื่อมโยงกับตัวแทนของประชาชน

ที่ผ่านมา ก.ต. 2 คน ซึ่งมาจากการสรรหาของวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ร่วมกับ ก.ต. ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาด้วยกัน โดยมีประธานศาลฎีกาทำหน้าที่เป็นประธาน ก.ต. โดยตำแหน่ง

การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษาจำนวน 13 คน กับ ก.ต. คนนอกที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภา จำนวน 2 คน ที่ผ่านมาก็ราบรื่นดีไม่มีอุปสรรคใด ๆ ไม่ว่าการทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับแต่งตั้งโยกย้ายหรือ การพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา ก็มีโปร่งใส ไม่มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งหรือช่วยเหลือผู้พิพากษาที่กระทำผิดทางวินัยข้าราชการตุลาการ

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ก.ต. ศาลยุติธรรม เคยลงโทษผู้พิพากษาระดับสูงถึงขั้นไล่ออกหรือให้ออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินมัวหมอง ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินก็ตาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อน คสช. จะทำการการปฎิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศชาติได้เกิดความวุ่นวายเพราะเหตุที่นักการเมืองและประชาชนแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง อันมีสาเหตุมาจากประชาชนชุมนุมประท้วงรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง

และต้นเหตุแห่งปัญหาข้างต้นส่วนหนึ่งเกิดจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมบางหน่วยงานไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่กลับรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยการบิดเบือนความยุติธรรม

แต่บุคลากรในหน่วยงานที่มีปัญหาดังกล่าวมิใช่ศาลยุติธรรม เพราะศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

ครั้นเมื่อจะมีการปฏิรูปประเทศกันในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย ศาลยุติธรรมกลับเป็นองค์กรที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงการปฏิรูป มากเสียกว่าหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมซึ่งสังคมรับรู้กันทั่วไปว่าเป็นส่วนสำคัญของปัญหาที่เกิดวิกฤติของชาติ

ในเมื่อสังคมก็ทราบดีว่า นักการเมืองไทยที่ผ่านมายังมีปัญหาวกวนอยู่กับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่บัดนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับให้ความสำคัญแก่ฝ่ายการเมือง โดยเชื้อเชิญให้เข้ามามีอิทธิพลในการแต่งตั้งโยกย้ายและให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทุกระดับชั้น ด้วยการมีมติกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้คณะกรรมการตุลาการมี ก.ต. คนนอกที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ก.ต. ที่มาจากผู้พิพากษา

และหากนักการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติก็อาจจะออกกฎหมายให้มี ก.ต. คนนอกครึ่งหนึ่งของจำนวน ก.ต.ทั้งหมดหรือมากกว่านั้นก็ย่อมทำได้ เพราะถือว่ามี ก.ต. คนนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

เชื่อว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายได้เห็นผลงานชิ้นนี้ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คงรู้สึกอึดอัดใจที่นักการเมืองจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาได้ด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัย โดยผ่าน ก.ต. คนนอกที่เป็นตัวแทนของนักการเมือง

จึงสงสัยว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว เท่ากับเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้แก่ฝ่ายการเมืองมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำอำนาจตุลาการด้วยการใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาได้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้ร้องขอแต่ประการใด

สงสัยว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อมูลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ว่า การที่มี ก.ต. คนนอกซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง 2 คน เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ที่ขัดขวางการทำหน้าที่ของ ก.ต. คนนอก จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน

และแนวคิดที่จะเพิ่มสัดส่วน ก.ต. คนนอกเช่นนั้น มีหลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามโครงสร้างใหม่จะเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม และจะไม่มีแทรกแซงหรือครอบงำอำนาจตุลาการจากฝ่ายการเมืองในวันข้างหน้า

ที่ผ่านมาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของฝ่ายตุลาการเป็นที่น่าเชื่อถือและแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรอื่นตลอดมา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญภายในองค์กรนี้ก็ควรต้องพิจารณาจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ และมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะต้องดีขึ้น

มิใช่เปลี่ยนแปลงเพียงเพื่อให้บุคคลภายนอก ไม่ว่านักวิชาการหรือนักการเมือง จะได้มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการตุลาการมากขึ้นเท่านั้น

และเมื่อแนวคิดเพิ่มคนนอกเข้ามาเป็น ก.ต. ศาลยุติธรรมข้างต้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงและครอบงำอำนาจตุลาการได้มากขึ้น

ดังนั้น หากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่อาจจะเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้ และผู้พิพากษาเกิดความหวั่นไหวต่ออิทธิพลของนักการเมืองที่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาได้ ศาลยุติธรรมก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายของประชาชนได้อีกต่อไป

ก็ได้แต่หวังว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติคงจะได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้างต้นขึ้นมาทบทวนอย่างจริงจัง และไม่เห็นชอบกับแนวคิดที่จะเพิ่มสัดส่วน ก.ต. คนนอกที่มาจากฝ่ายการเมืองในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น