xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ลดวาระประธานศาล ถวายสัตย์ รัชทายาท-ผู้แทนฯ ได้ ห้ามอัยการนั่งบอร์ด รสก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เลิศรัตน์” แถลงความคืบหน้าร่าง รธน. ลดวาระประมุขศาลเหลือ 4 ปี เว้นศาล รธน.-ทหาร ผู้พิพากษา-ตุลาการ-อัยการ เกษียณ 65 ปี แต่นั่งเป็นผู้อาวุโสต่อได้ถึง 70 ปี เปิดทางถวายสัตย์ก่อนรับตำแหน่งต่อ “รัชทายาท-ผู้แทนฯ” ได้เพื่อลดพระราชภาระ พร้อมห้าม “อัยการ” เป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ คงศาล รธน.ตามเดิม เปิดช่องคนนอกนั่งตุลาการฯ เพื่อความหลากหลาย



วันนี้ (20 ม.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวรายงานความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป ในอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหา โดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง สลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปี นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้เพิ่มเนื้อหา เกี่ยวกับก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ โดยในวรรคสามมีการเขียนเพิ่มว่า “พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้” เพื่อเป็นการลดพระราชภาระ

ส่วนการบริหารงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในมาตรา 9 กำหนดว่า องค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใด ต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาล ในสัดส่วนที่เหมาะสมและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นเป็นกรรมการ โดยกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาหรือตุลาการในชั้นศาลนั้น ซึ่งไม่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาก่อนให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 1 วาระ และบุคคลที่รับตำแหน่งไม่สามารถไปบริหารในศาลอื่นในเวลาเดียวกันได้

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาล อื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหาร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว ในส่วนของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่นนอกจากศาลทหาร ซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ในปีงบประมาณ แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนครบอายุ 70 ปีบริบูรณ์

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า เกี่ยวกับองค์กรอัยการ ในการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญให้พนักงานอัยการ มีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน และ คำสั่งชี้ขาดคดี เกี่ยวกับคำสั่งฟ้องไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา ไม่อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ฎีกาของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย ต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่งและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ด้วย และยังนำบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคสองของ พ.ร.บ.ข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วย โดยอนุโลม ซึ่งจะส่งผลให้เปลี่ยนเรียก ‘ พนักงาน อัยการ’เป็น ‘ข้าราชการอัยการ’และดำรงตำแหน่งถึง 65 ปีเท่านั้น แต่จะสามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการอัยการอาวุโส ได้จนถึงอายุ 70 ปี และข้าราชการอัยการต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฎิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกันหรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในลักษณะเดียวกัน ทั้งต้องไปประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฎิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานอัยการ ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้อัยการคนใดที่เข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ต้องพ้นจากหน้าที่ทันที

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ เห็นควรให้คงไว้ตามเดิม และมีจำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน จากเดิม 3 คน (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 3 คน จากเดิม 2 คน โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างน้อย1คน (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารภาครัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ จำนวน 2 คน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนี้จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอื่นเข้ามา เพื่อให้เกิดความหลากหลาย สำหรับคณะกรรมการสรรหา ในเบื้องต้นวางไว้ 5 ประเภท ประกอบด้วย (1) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนและเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน (2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา ส่วน (5) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน3 คน เลือกโดยวุฒิสภา สมัชชาพลเมือง ทาง กมธ.ยกร่างฯ ขอแขวนไว้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขว่าหากที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอ จะต้องส่งกลับไปเพื่อให้ดำเนินการเริ่มต้นสรรหาใหม่ จากเดิมที่มีการส่งชื่อกลับไป หากคณะกรรมการสรรหาฯ ยืนตามเดิมสามารถยื่นทูลเกล้าฯ ถวายได้ทันที



กำลังโหลดความคิดเห็น