xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์การปฏิรูปศาลยุติธรรม (ตอนที่ 2) สมควรบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลสูงกลับไปอยู่ศาลชั้นต้นหรือ?

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

ที่มาของผู้พิพากษาอาวุโส เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีบทบัญญัติบังคับให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นต้องนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ 2 คน ซึ่งแต่เดิมนั่งพิจารณาเพียงคนเดียว ทำให้ผู้พิพากษาในขณะนั้นมีจำนวนไม่เพียง จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น และเห็นว่าผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปี เป็นผู้มีประสบการณ์สูงสามารถทำหน้าที่เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นกับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นได้อีกด้วย จึงให้ผู้พิพากษาซึ่งมีอายุครบ 60 ปี แล้ว มีสิทธิรับราชการต่อไปได้จนถึงอายุ 70 ปี โดยให้ทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น

ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกยกเลิก ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และศาลยุติธรรมในขณะนั้นเห็นพ้องต้องกันว่า การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการ และเป็นการใช้บุคคลกรไม่เหมาะสมกับความรู้ความเชี่ยวชาญ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี โดยมีรายงานศึกษาวิจัยหลายฉบับเห็นสอดคล้องต้องกันว่า สมควรจัดให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปดำรงตำแหน่งได้ทั้ง 3 ชั้นศาล ตามความเหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถ และความถนัดที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน นั่นก็คือ การตรวจสำนวนและการเขียนคำพิพากษา

ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงไม่บังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปดำรงตำแหน่งเฉพาะในศาลชั้นต้น และได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้พิพากษาอาวุโสดำรงตำแหน่งได้ทั้ง 3 ชั้นศาล ซึ่งต่อมา มีจำนวนผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเพียงพอที่จะนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจึงได้พิจารณาจัดสรรให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปดำรงตำแหน่งแต่ละชั้นศาลตามความเหมาะสม เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ปัจจุบันมีผู้พิพากษาอาวุโสในศาลชั้นต้นส่วนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะในศาลชั้นต้นเสมือนผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลืออธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบกลั่นกรองสำนวนและร่างคำพิพากษาคดีสำคัญซึ่งศาลชั้นต้นส่งมาให้ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมและเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรงอีกด้วย

สำหรับผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในชั้นศาลอุทธรณ์และชั้นศาลฎีกาจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาและพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคและศาลฎีกา อันเป็นงานที่ถนัดอยู่แล้ว หลายๆ ท่านเป็นกำลังสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นทางกฎหมายในแผนกคดีพิเศษที่ท่านเชี่ยวชาญ ทำให้คดีความที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลสูงจำนวนมากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาสำนวนและเขียนคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาติดต่อกันมาเป็นเวลานาน 15 ถึง 20 ปี และเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งห่างเหินจากการทำหน้าที่สืบพยานให้กลับไปนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงเป็นการใช้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความรู้ความชำนาญ อีกทั้งไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีในศาล

การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอาวุโสในศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดำเนินมาด้วยดี สามารถช่วยเหลืองานคดีที่ค้างอยู่ในศาลสูงได้เป็นจำนวนมาก มิได้มีปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนแต่ประการใด อีกทั้ง ไม่มีข้อมูลหรือรายงานศึกษาวิจัยฉบับใดโต้แย้งว่าโครงสร้างตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหา หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และไม่มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฉบับใดที่ระบุว่าโครงสร้างตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซี่งบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลชั้นต้นที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าโครงสร้างตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ศาลยุติธรรมได้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมมีนโยบายจัดให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีอาวุโสสูงและมีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นเวลายาวนานประมาณ 15 ปี ขึ้นไป กลับออกไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น เพื่อร่วมเป็นองค์คณะกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในหัวเมืองห่างไกล และปัจจุบันได้จัดให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะเหล่านี้ออกปฏิบัติหน้าที่อยู่ในศาลชั้นต้นทั่วประเทศเกือบจะครบทุกองค์คณะอยู่แล้ว อีกทั้ง ปัจจุบันมีผู้พิพากษาอาวุโสทั้งสิ้นเพียง 237 คน แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีจำนวนทั้งสิ้น 3,205 คน ย่อมไม่อาจจัดให้ผู้พิพากษาอาวุโสนั่งพิจารณาคดีร่วมกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้อย่างทั่วถึงครบทุกองค์คณะอยู่แล้ว

การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นเท่านั้น นอกจากจะเป็นการฝืนต่อความรู้สึกและประสงค์ของพิพากษาอาวุโสส่วนใหญ่ที่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสำนวนและเขียนคำพิพากษาตามความชำนาญและความถนัดของตน อันเป็นหน้าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุต้องกลับออกรับราชการนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นซึ่งอาจต้องย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองในท้องที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาปัจจุบันย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและผู้พิพากษาอาวุโส

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันได้มีการเสนอแนวคิดที่จะให้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลอุทธรณ์ และใช้ระบบการขออนุญาตฎีกาซึ่งคดีจะสิ้นสุดที่ชั้นศาลอุทธรณ์ ในศาลชั้นอุทธรณ์จึงมีความจำเป็นต้องใช้บุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์สูง ซึ่งควรต้องมีผู้พิพากษาอาวุโสในชั้นศาลอุทธรณ์มากขึ้นตามภารกิจใหม่ การบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งปฎิบัติหน้าที่อยู่ในศาลชั้นอุทธรณ์ในปัจจุบันไปปฏิบัติหน้าที่ในศาลชั้นต้นทั้งหมด จึงเป็นการลดทอนประสิทธิภาพของศาลชั้นอุทธรณ์และไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปศาลยุติธรรมในชั้นศาลอุทธรณ์

ดังนั้น แนวคิดในการปฏิรูปศาลยุติธรรมเกี่ยวกับโครงสร้างผู้พิพากษาอาวุโสตามมติของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ที่ศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบริหารงานบุคคลในศาลยุติธรรม ทั้งไม่เกิดประโยชน์แก่คู่ความและประชาชนที่มีอรรถคดี แต่จะก่อให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่คล่องตัวในการบริหารงานบุคคลที่อาจจำเป็นต้องใช้บุคลากรให้เหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถและตามความจำเป็นของแต่ละชั้นศาล

ในเมื่อผู้พิพากษาอาวุโสมีความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้ง 3 ชั้นศาล เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้ศาลยุติธรรมเลือกที่จะใช้ให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงกับความรู้ความสามารถและความจำเป็นของแต่ละชั้นศาล ทำไมต้องบังคับให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปอยู่เฉพาะศาลชั้นต้นเท่านั้น

แนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบผู้พิพากษาอาวุโสเช่นนี้หรือที่เรียกกันอย่างโก้หรูว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปศาลยุติธรรม ท่านไม่คิดจะสอบถามศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งจะถูกกฎหมายบังคับดูก่อนหรือว่า การออกกฎหมายในลักษณะที่เป็นบริหารงานบุคคลแทนศาลยุติธรรมเช่นนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่ และท่านจะใจร้ายถึงกับไม่ยอมให้ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในบั้นปลายของชีวิตได้มีความสุขกับการทำงานตามความถนัดและความพึงพอใจเชียวหรือ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น